×

โอสถสภากางแผนธุรกิจรับมือความเสี่ยง Geopolitics และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เน้นสร้าง Core Business ให้เข้มแข็ง พร้อม M&A เร่งการเติบโต

04.02.2025
  • LOADING...
วรรณิภา ภักดีบุตร CEO โอสถสภา

หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่ 2 ก็ประกาศหลายนโยบาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าที่กำลังสร้างความผันผวน และหลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจของไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ

 

วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.โอสถสภา หรือ OSP เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2568 ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ คือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ทุกประเทศทั่วโลก ทั้งสถานการณ์สงครามที่มีความขัดแย้งสู้รบ รวมทั้งสงครามการค้าจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษี (Tariff) ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำธุรกิจ 

 

ขณะที่สถานการณ์ต้นทุนการผลิตของบริษัทฯ เช่น ราคาแก้ว ไฟฟ้า และน้ำตาล ที่เคยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไปในระดับที่สูงมากในช่วงปี 2564-2565 ในช่วงที่มีสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีความรุนแรง แต่ปัจจุบันต้นทุนเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงไปค่อนข้างมากจากช่วงเวลาดังกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นผลกระทบจาก Geopolitics ต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจยังเป็นปัจจัยที่คาดเดาสถานการณ์ได้ยาก ดังนั้นกลยุทธ์ธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือการเตรียมความพร้อม เน้นกลยุทธ์การสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจหลัก (Core Business) อีกทั้งไม่ทำธุรกิจกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-core Business) ซึ่งในปี 2567 มีการขายออก (Divest) ในธุรกิจกลุ่ม Non-core Business ออกมา เพื่อสามารถกลับมาโฟกัสสร้างการเติบโตในกลุ่ม Core Business

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมในการกระจายความเสี่ยง โดยการจัดหาของแหล่งวัตถุดิบสำรองไว้ในกรณีที่มีเหตุการณ์สงครามเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตและธุรกิจของบริษัทฯ

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพกับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องเริ่มออกกฎเกณฑ์มาควบคุม

 

รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่อาจชะลอตัว และมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งภาคการท่องเที่ยวและแนวโน้มการส่งออก

 

สำหรับปัจจุบันธุรกิจของบริษัทฯ พึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลักอยู่ที่ประมาณ 75% และอีกประมาณ 25% เป็นรายได้ที่มาจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งหลักๆ อยู่ในกลุ่มอาเซียน ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบประเด็นนโยบายการตั้งกำแพงภาษี

 

วรรณิภา ภักดีบุตร CEO โอสถสภา

วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอสถสภา หรือ OSP

 

ชูกลยุทธ์ M&A เร่งการเติบโต ดันรายได้ปี 2571 เข้าเป้า 4 หมื่นล้านบาท

 

วรรณิภากล่าวต่อว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ในปี 2571 ไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยประเมินอัตราการเติบโตของรายได้ในช่วงปี 2568-2571 จะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% ต่อปี โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจหลักทุกกลุ่ม รวมถึงโอกาสในการเข้าซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่จะใช้ในการสร้างการเติบโตของบริษัทฯ 

 

โดยเน้น M&A ในประเทศของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับ Core Business ของบริษัทฯ ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (Beverage Segment) กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Segment) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาดีล ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลของดีล รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการปิดดีลลงทุนได้ เพราะขึ้นอยู่กับผลการเจรจา โดยดีล M&A ของบริษัทฯ ที่จะลงทุนจะเป็นดีลที่มีขนาดใหญ่พอสมควร (Sizeable) 

 

ขณะแผนธุรกิจในปี 2568 จะเน้นให้ความสำคัญกับ Core Business ได้แก่ 

 

กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (Beverage Segment)

 

กลุ่มที่ 2 ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Segment) และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีกลยุทธ์สร้างความหลากหลายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Brand Portfolio) 

 

โดยประเมินว่าธุรกิจของบริษัทฯ ทุก Segment ยังมีโอกาสเติบโตได้ สามารถสนับสนุนการเติบโตของรายได้ให้เป็นไปตามแผนที่บริษัทฯ วางไว้ อีกทั้งมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ในปีนี้ด้วยการใช้ Innovation ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกๆ กลุ่ม

 

โดยในกลุ่ม Energy Drink จะใช้กลยุทธ์สร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ หลากหลายราคา ตอบโจทย์ความต้องการพลังงานที่แตกต่างกัน ขณะที่เครื่องดื่ม Functional Drink จะใช้นวัตกรรมขยายพอร์ต เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่และเทรนด์สุขภาพ โดยในปีนี้มีแผนจะออกเครื่องดื่มใหม่อีกจำนวนมาก

 

ออกแคมเปญฉลอง 40 ปี M-150 ขาย 10 บาท หวังปั๊มมาร์เก็ตแชร์

 

ในปีนี้บริษัทฯ ออกแคมเปญเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี เครื่องดื่ม M-150 โดยเตรียมออก M-150 ฝาเหลืองลิมิเต็ดเอดิชันในราคา 10 บาทต่อขวด โดยจะจำหน่ายเฉพาะช่องทางจำหน่ายตลาดดั้งเดิม (Traditional Trade) เท่านั้น เบื้องต้นจะวางจำหน่ายเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ไตรมาส ส่วนเครื่องดื่ม M-150 ฝาสีทองที่ราคา 12 บาทต่อขวด มีแพ็กเกจจิ้งกับสูตรแตกต่างกับฝาสีเหลือง

 

ทั้งนี้ สำหรับแคมเปญ M-150 ฝาเหลืองลิมิเต็ดเอดิชันในราคา 10 บาทต่อขวดนั้น ถือเป็นการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดปกติเพื่อใช้ฟื้นมาร์เก็ตแชร์ (Regain Market Share) รวมทั้งขยายฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้เข้ามาทดลองดื่ม M-150 เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีโอกาสต่อยอดดึงให้เข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าที่บริโภคเครื่องดื่ม M-150 ฝาสีทองที่ราคา 12 บาทต่อขวดในอนาคต

 

โดยการออกแคมเปญดังกล่าวนี้จะดำเนินควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมการตลาดต่างๆ ตั้งเป้าเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของ M-150 เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ในปี 2568 จากปี 2567 ที่มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 32% โดยมาร์เก็ตแชร์ดังกล่าวลดลงจากระดับประมาณ 35% หลังในปี 2565 บริษัทฯ มีการขึ้นราคา M-150 เป็น 12 บาทต่อขวด

 

“แม้จะออกแคมเปญนี้ก็ยังรักษามาร์จิ้นไว้ได้ เพราะกระบวนการผลิตบริษัทฯ ทำทุกอย่างเอง มีการผลิตสินค้าเอง ผลิตขวดเอง ทำสลากเอง ซึ่งทำให้เรามีความพร้อมในการหดหรือขยายได้ โดยในอดีตเราก็เคยขาย M-150 ราคา 10 บาทมาก่อน ถ้าเราจะเล่นในตลาดนี้เราจะต้องแข็งแรงทั้งใน Segment และราคา 10 บาทกับราคา 12 บาท โดยการทำแคมเปญ 10 บาทนี้บริษัทฯ ก็จะใช้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะจะมีการลดและการทำราคาโปรโมชันในส่วนอื่นๆ ลงแทน” วรรณิภากล่าว

 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (Beverage Segment) ปัจจุบันเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 80% กับอีกสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้มาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ 2 คือของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Segment) และกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมาอย่างยาวนาน ขณะที่เครื่องดื่ม M-150 ฝาเหลืองมีสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดขายรวมทั้งกลุ่ม OSP

 

กลุ่มผลิตภัณฑ์ในเครือโอสถสภา

 

เสริมทัพผู้บริหาร โฟกัสสร้างการมุ่งการเติบโต

 

นอกจากนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีโครงสร้างและกระบวนการทำงานเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต เสริมทีมผู้บริหารด้านธุรกิจเครื่องดื่มโดยเฉพาะ โดยเปลี่ยนจากการบริหารแบบ Functional Structure สู่ Category Structure อย่างชัดเจน เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มความคล่องตัว โดยมีซีอีโอควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเครื่องดื่มในประเทศ (Group Chief Domestic Beverage Officer) เพื่อกำหนดทิศทางและวางกลยุทธ์ธุรกิจเครื่องดื่ม 

 

อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งผู้บริหารในตำแหน่ง C Level อีก 2 ตำแหน่ง คือ Chief Marketing & Innovation Officer นำทีมการวิจัยการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์, Chief Consumer & Category Officer ดูแลการตลาดและ Trade Marketing และ Chief Customer & Channel Officer พัฒนาและขยายศักยภาพช่องทางการจัดจำหน่าย อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาบริหารจัดการข้อมูลและกระบวนการทำงาน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ราคาหุ้นของ OSP ที่ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 วันทำการในมุมมองผู้บริหารประเมินว่ามาจากสาเหตุใด วรรณิภาระบุว่า คาดว่านักลงทุนน่าจะมีความกังวลในกรณีที่บริษัทฯ ประกาศออกแคมเปญเครื่องดื่ม M-150 เตรียมออก M-150 ฝาเหลืองลิมิเต็ดเอดิชันในราคา 10 บาทต่อขวด ซึ่งจะมีผลกระทบให้การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การจัดแคมเปญนี้ของบริษัทฯ มีการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้วว่าจะไม่ผลกระทบให้ขาดทุน อีกทั้งยังยืนยันว่าเป็นการทำโปรโมชันและเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจปกติ 

 

อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงทำโปรโมชันในกลุ่ม Personal Care Segment อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นธรรมชาติและปกติของธุรกิจกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในช่องทางขาย e-Commerce อีกทั้งในปี 2567 ยังได้ดึง ‘น้องหมีเนย Butterbear’ อินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นพรีเซนเตอร์ใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์คาลพิส แลคโตะ และเบบี้มายด์ รวมถึงออกโปรโมชันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะมีการทำต่อเนื่องในปีนี้ เพราะยังมีกระแสตอบรับที่ดีต่อเนื่อง

 

ยืนยันผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่มีจำนำหุ้น

 

ด้าน รติพร ราษฎร์เจริญ Group Chief Financial Officer บมจ.โอสถสภา หรือ OSP กล่าวว่า จากการตรวจสอบสาเหตุราคาหุ้น OSP ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ไม่มีการทำธุรกรรมโดยการนำหุ้น OSP ไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น รวมทั้งไม่มีปัญหาประเด็น Forced Sell หุ้น และยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีการทำธุรกรรมจำนำหุ้น พร้อมยืนยันว่าทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ลงทุนกับผู้บริหารนั้นบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างถูกต้อง

 

รติพร ราษฎร์เจริญ Group Chief Financial Officer บมจ.โอสถสภา หรือ OSP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising