×

จับสัญญาณ แพทองธารพบสีจิ้นผิง ทักษิณพบอันวาร์ กับบทบาทไทยแก้วิกฤตเมียนมา-สแกมเมอร์

03.02.2025
  • LOADING...
paetongtarn-xi-jinping-meeting

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมเยือนจีนวันพุธนี้ (5 กุมภาพันธ์) และมีกำหนดพบหารือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ณ กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางการจับตาว่าประเด็นการแก้ปัญหาสแกมเมอร์และค้ามนุษย์จะเป็นประเด็นหนึ่งในการหารือ นอกเหนือจากวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน

 

ในขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ออกนอกประเทศไปพบกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยไปในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ

 

ภารกิจของทั้งสองถูกโฟกัสไปที่บทบาทและความพยายามแก้ไขปัญหาสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติอย่างการค้ามนุษย์และขบวนการสแกมเมอร์ หรือการหลอกลวงทางออนไลน์ที่ก่อผลกระทบไปทั่วโลก

 

ไทยอาจเสียโอกาสต่อยอดความร่วมมือกับจีน

 

การเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีรอบนี้ คาดว่าเรื่องสแกมเมอร์อาจเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่หยิบยกขึ้นหารือกับสีจิ้นผิง เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบไม่น้อย และเริ่มแสดงท่าทีออกมาว่าต้องการให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหา หลังมีการส่งหลิวจงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ มาพูดคุยกับทางการไทยและลงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาก่อนหน้านี้

 

ด้าน รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’ ที่นายกฯ แพทองธารจะมีโอกาสได้พบหารือกับสีจิ้นผิง โดยครั้งนี้ถือเป็นวาระสำคัญในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

 

รศ. ดร.ปิติ มองว่า ประเด็นที่ควรพูดคุยอันดับแรกคือเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และการกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) หลังจากนี้ รวมถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ  

 

อย่างไรก็ตาม การพบกันครั้งนี้กลับมีประเด็นปัญหาขบวนการสแกมเมอร์ในเมียนมา โดยเฉพาะที่เมืองเมียวดี ติดชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ของไทย ซึ่งก่อผลกระทบมากมายทั้งต่อคนไทยและคนจีน ซึ่งถูกโฟกัสมากกว่าประเด็นฉลองความสัมพันธ์ทวิภาคีและการต่อยอดความร่วมมือ 

 

รศ. ดร.ปิติ มองว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย และไทยอาจเสียโอกาสที่จะต่อยอดความร่วมมือในด้านต่างๆ กับจีน เช่น เรื่องรถไฟไทย-จีน, เทคโนโลยี AI, การศึกษา, โทรคมนาคม และสิ่งที่เป็นมาตรฐานต่างๆ ของจีน เพราะเวลานี้ต้องหันไปให้ความสำคัญกับเรื่องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และสแกมเมอร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาแทน ซึ่งอาจารย์มองว่าเรื่องนี้ไทยควร ‘ปัดกวาดบ้านของตัวเอง’ โดยจัดการกันเองภายในประเทศ เพราะมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจัดการได้อยู่แล้ว

 

รศ. ดร.ปิติ ชี้ว่า แม้นายกฯ สามารถหารือกับผู้นำจีนในประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งในเมียนมาได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติไม่ควรนำปัญหาของประเทศอื่นไปพูดคุยกับจีนเป็นวาระหลัก

 

นักวิชาการชี้ บทบาททักษิณอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาเมียนมาได้ง่ายๆ

 

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เป็นที่จับตา คือการที่ทักษิณเดินทางไปพบอันวาร์ที่มาเลเซีย โดยที่ประเด็นความขัดแย้งในเมียนมาถือเป็นหนึ่งในหัวข้อการหารือ 

 

ก่อนหน้านี้ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยแสดงความเห็นในบทความที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า การแก้ปัญหาเมียนมามีความจำเป็นต้องอาศัย ‘การทูตแบบไม่เป็นทางการ’ หรือการทูตแทร็ก 2 ซึ่งการตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการนั้น อาจเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผู้นำมาเลเซียในการผลักดันการแก้ปัญหาเมียนมา ซึ่งมีการจับตาว่าทักษิณจะมีบทบาทอย่างไรในการติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย

 

ด้าน รศ. ดร.จุฬณี ตันติกุลานันท์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นอกจากเรื่องการเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์จากการที่ทักษิณเป็นอดีตผู้นำที่มีประสบการณ์แล้ว สิ่งที่อันวาร์ต้องการหลักๆ จากทักษิณคือความเชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา และคอนเน็กชันจากฝ่ายทหารและกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ซึ่งมีประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของเมียนมา

 

อย่างไรก็ตาม การหาทางแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี อาจต้องมีการหารือระหว่างทักษิณและอันวาร์อีกหลายรอบ และไม่น่าจะตกลงอะไรได้ในเร็ววัน สาเหตุหลักเป็นเพราะทักษิณยังเป็นเพียงที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ

 

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเอากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของเมียนมาที่ฝังรากลึกมานาน ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้

 

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.ปิติ ที่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ด้วยบทบาทของทักษิณในตอนนี้ น่าจะยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

 

โดยแม้ว่าทักษิณจะมีความใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมาและพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา แต่เขามีสายสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

 

นอกจากนี้ทักษิณก็ยังไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ ทำให้การมีบทบาทของเขายังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

 

ส่วนในมาเลเซีย แม้อันวาร์จะยอมรับทักษิณ แต่ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ในมาเลเซียก็ไม่ได้ยอมรับและตั้งคำถามต่อความเหมาะสมในการแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากทักษิณยังมีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งเรื่องจุดไฟใต้ เรื่องคดีความ และความเป็นอภิสิทธิ์ชนจากการกลับไทยเพื่อรับโทษแต่ไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว โดยรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการ

 

สำหรับบทบาทการแก้ไขปัญหาเมียนมาของฝ่ายไทยนั้น รศ. ดร.ปิติ เห็นว่ารัฐบาลไทยควรมี ‘ทูตพิเศษ’ (Special Envoy) ด้านเมียนมาโดยตรง

 

ส่วนระดับอาเซียนควรมีคณะทำงานพิเศษเรื่องเมียนมา และเป็นคนที่เปิดกว้างทำงานกับทุกฝ่าย โดยประเด็นเมียนมาควรเป็น Agenda ของอาเซียน และไม่ใช่แค่ประเด็นของประธานอาเซียน ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการผ่านกลไกอาเซียน ที่ใช้ทั้งเวลา เงิน และความรู้

 

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.จุฬณี มองว่าท่าทีของทักษิณนั้นดูมีความจริงจังในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเมียนมามากกว่าชาติอาเซียนอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

อาจารย์มองว่าบทบาทของทักษิณน่าจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดคำถามว่า ‘ทำไมต้องเป็นทักษิณ?’ เช่นเดียวกับที่ชาวมาเลเซียตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้?’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising