เกมจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะที่สวยงามที่สุดเท่าที่เหล่า Gooners จะจินตนาการได้ แต่ความงดงามนั้นไม่ได้จบลงที่ชัยชนะเหนือคู่ปรับอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยสกอร์ขาดลอยถึง 5-1 เท่านั้น
หลังเสียงนกหวีดสุดท้ายจากผู้ตัดสินดังขึ้น เสียงเพลงหนึ่งก็ดังก้องขึ้นมา
North London forever
Whatever the weather
These streets are our own
สำหรับคนที่อาจสงสัยว่านี่คือเพลงอะไร? มาทำความรู้จักบทเพลงนี้เพิ่มเติมอีกสักนิด
https://www.youtube.com/watch?v=QCPQpq83MKc&t=304s
ความจริงบทเพลงประจำทีมนั้นไม่ได้เป็นของแปลกใหม่สำหรับเกมฟุตบอลแต่อย่างใด เพราะมีหลายสโมสรที่แฟนบอลจะร่วมกันร้องเพลงไปด้วยกัน
ยกตัวอย่างที่ชัดๆ ในฟุตบอลอังกฤษก็อย่างเพลง Forever Blowing Bubbles ที่เป็นเพลงประจำสโมสรของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด (พร้อมกับการเป่าฟองสบู่เต็มสนาม), Wise Men Say เพลงฮิตตลอดกาลที่แฟนบอลซันเดอร์แลนด์หยิบยกมาใช้เป็นเพลงประจำสโมสร หรือ Blue Moon ที่เป็นเพลงของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
และบทเพลงอันโด่งดังที่ทุกคนรู้จักกันดีคือ You’ll Never Walk Alone ผลงานของ Gerry and the Pacemakers ที่เป็นทั้งเพลงประจำสโมสรและเป็นสโลแกนของทีมลิเวอร์พูลด้วย
เพลงประจำทีมแบบนี้จะเรียกว่าเป็น ‘Anthem’ หรือเป็นเหมือนเพลงชาติของสโมสร ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเพลงเชียร์อื่นๆ (Chant) ที่มีทั้งเพลงที่ร้องปลุกใจทีม หรือเพลงที่ร้องเพื่อเชิดชูนักเตะฮีโร่ผู้เป็นขวัญใจของพวกเขา โดยส่วนใหญ่จะร้องกันในช่วงก่อนที่ทีมจะลงสนามเพื่อส่งมอบกำลังใจให้กับนักฟุตบอลที่กำลังจะลงไปทำหน้าที่สู้แทนทุกคน
บรรยากาศในช่วงเวลานั้นไม่ต่างอะไรกับ Magic Moment เวลาต้องมนตร์ที่ทุกคนจะร้อยหัวใจออกมาเป็นท่วงทำนองและเนื้อร้องเดียวกัน
แต่ก็ไม่ใช่ทุกทีมจะมีเพลงประจำสโมสรแบบนี้
หนึ่งในนั้นก็คือทีม ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล ที่แม้จะเป็นหนึ่งในสโมสรเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ยาวนาน แต่เรื่องน่าแปลกใจคือพวกเขาไม่เคยมีเพลงที่จะเรียกได้ว่าเป็นบทเพลงประจำสโมสรที่ทุกคนจะร้องไปด้วยกันเหมือนชาวบ้านเขา
จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง
ในช่วงปีทศวรรษที่ 1960-1970 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการฟุตบอลอังกฤษมีความตื่นตัวในเรื่องของการนำบทเพลงมาร้องเป็นเพลงประจำสโมสร (ลิเวอร์พูลกับเพลง You’ll Never Walk Alone ก็โคจรมาพบกันในยุคนี้) อาร์เซนอลก็มีซิงเกิลกับเขาเหมือนกัน
แต่เพลง Good Old Arsenal ผลงานของ จิมมี ฮิลล์ ซึ่งถูกปล่อยในเดือนพฤษภาคม 1971 ไม่ได้รับความนิยมจากแฟนบอลชาว Gooners มากนักในตอนแรก ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็ไม่เพราะน่ะ เพียงแต่ในเวลาต่อมากลับเป็นที่ยอมรับของแฟนบอลรุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยกันร้องจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำสโมสรเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้รับการจดจำในวงกว้างขนาดนั้น
มาในปี 2000 อาร์เซนอลออกซิงเกิลใหม่เอง โดยเพลงเอกคือ Arsenal Number One ซึ่งเป็นผลงานการแต่งเพลงร่วมกันของ เจฟฟ์ มอร์โรว์ กับ เดวิด ดีน อดีตผู้บริหารคนสำคัญของสโมสรที่ช่วยเขียนเนื้อร้อง นอกจากนี้ในซิงเกิลนี้ยังมีเพลง Our Goal ที่ได้ ฟาเบียน ไรต์ ศิลปินชื่อดังของชาวอังกฤษ มาร่วมร้องเพลงกับ เอียน ไรต์ ตำนานหัวหอกขวัญใจชาว N5 ตลอดกาล
แต่ก็เหมือนเดิม เพลงไม่ได้ฮิตอะไร
ในช่วงปี 2006 ที่สโมสรย้ายสนามแข่งจากไฮบิวรีมาสู่เอมิเรตส์สเตเดียม ก็มีความพยายามจะดันเพลงใหม่ The Wonder of You ซึ่งเป็นผลงานเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ ตำนานอมตะของวงการเพลง มาเป็นเพลงประจำสโมสร แต่เรื่องก็จบแบบเดิม
อย่างไรก็ดี ชาว Gooners ได้ค้นพบเพลงที่เพราะและเหมาะสำหรับการร้องสร้างบรรยากาศในสนามจนได้
และทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
https://x.com/primevideosport/status/1760640335238029646?s=46
กำเนิด The Angel (NLD Forever)
เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นในปี 2022 ด้วยความไม่ได้ตั้งใจของใครเลย แต่เกิดจากโชคชะตาล้วนๆ
เมื่อเผอิญมีแฟนบอลอาร์เซนอลได้ฟังเพลง The Angel ซึ่งเป็นผลงานของ หลุยส์ ดันฟอร์ด ศิลปินท้องถิ่นที่เป็นชาวลอนดอนเหนือโดยกำเนิดเข้า
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการอัดคลิปร้องเพลงขำๆ ของดันฟอร์ด ที่ร้องเพลงในผับย่านอิสลิงตัน แต่ท่วงทำนองของเพลงนั้นไพเราะเสนาะหู และเนื้อเพลงนั้นจับใจจนเพื่อนที่เป็นคนอัดคลิปเอาไว้เกิดไอเดียว่า “เพลงนี้มันน่าจะเป็นเพลงประจำทีมของเรานะ”
คลิปนั้นกลายเป็นไวรัล และเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงที่ถูกพูดถึงกันปากต่อปากในหมู่ชาว Gooners จนเอามาร้องกันเองในสนาม และเกิดความพยายามโปรโมตให้เพลงนี้ดังขึ้นมาให้ได้
เรื่องรู้ไปถึงหูของ มิเกล อาร์เตตา บอสใหญ่ของทีมที่กำลังสร้างทีมใหม่ขึ้นมา และคิดถึงการมีเพลงประจำสโมสรที่จะช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เกิดขึ้นก่อนการแข่งขันได้
อาร์เตตามองหาเพลงที่ว่านี้อยู่นานจนได้ฟัง The Angel และรู้สึกชอบอย่างมาก ถึงขั้นเอาเพลงนี้มาเปิดให้ลูกทีมฟังในระหว่างการประชุมทีม เพราะอยากจะรู้ความเห็นจากทีมว่าชอบเพลงนี้เหมือนกับเขาบ้างหรือเปล่า
ตามเรื่องราวที่เปิดเผยในสารคดี All or Nothing ที่เปิดเผยเบื้องลึกของอาร์เซนอลในช่วงฤดูกาล 2021/22 ในระหว่างโค้งสุดท้ายของฤดูกาลที่ทีมเหลือเกมในบ้านอีกแค่ 2 นัด อาร์เตตาคิดว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดตัวเพลงนี้
“ผมตามหาเพลงเพลงหนึ่งมาหลายเดือนแล้ว เพลงประจำทีมที่จะเปิดในช่วงก่อนคิกออฟ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ และเป็นเพลงที่มี DNA ของสโมสรอยู่ในนั้น”
อาร์เตตาบอกลูกทีมทุกคนต่อว่า “เพลงนี้เป็นของ หลุยส์ ดันฟอร์ด เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับถนนหนทางในลอนดอนเหนือ
“เขาเป็นคนท้องถิ่นที่นี่ เป็นแฟนตัวยงของอาร์เซนอล และเพลงนี้ก็เหมือนเกิดมาเพื่อเรา มาในช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมทุกอย่างในความเห็นของผม ในช่วงที่จะเป็นก้าวต่อไปของเอมิเรตส์ เพราะผมอยากให้เราได้ลงเล่นในบรรยากาศที่มหัศจรรย์”
จากนั้นอาร์เตตาก็ถามทุกคนว่า ชอบเพลงนี้ไหม คิดอย่างไรถ้าเราจะเปิดเพลงนี้ให้ร้องไปด้วยกันก่อนเกม?
คำตอบไม่ต้องเดากันให้ยาก เพราะเพลงนี้ถูกเปิดและร้องด้วยกันโดยเหล่า Gooners ในวันที่อาร์เซนอลพบกับลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งดันฟอร์ดได้รับเชิญมาเป็นแขกในวันแสนพิเศษนี้ด้วย หลังจากที่อาร์เตตาได้เชิญมาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมและพบกับเหล่านักเตะในทีมก่อนหน้าเกมการแข่งขัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเพลง The Angel หรือที่เรียกติดปากกันไปแล้วว่าเพลง North London Forever ก็กลายเป็นเพลงที่แฟนอาร์เซนอลทุกคนจะร้องด้วยกันก่อนเกมจนเป็นธรรมเนียม
แม้ว่าในความจริงแล้วเพลงจะไม่ได้พูดอะไรถึงทีมเลยก็ตาม เพราะดันฟอร์ดตั้งใจจะพูดถึงย่านไฮบิวรี ที่ตั้งของสนามเก่า โดยคำว่า Stadium ที่ปรากฏในเนื้อท่อนแรกหมายถึงสนามเดิมที่อยู่ในย่านชุมชนที่เขาเติบโตขึ้นมาแค่นั้น
เพียงแต่แฟนอาร์เซนอลเลือกที่จะรักเพลงนี้ไปแล้ว และมันก็กลายเป็นเพลงประจำสโมสรไปเรียบร้อย โดยที่เพลงนี้จะเพราะเป็นพิเศษในเกมสำคัญๆ เช่น เกมนอร์ทลอนดอนดาร์บี้กับท็อตแนม ฮอตสเปอร์
หรือเกมเมื่อคืนที่พวกเขาถล่มทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้อย่างราบคาบ และส่งคำเตือนถึงลิเวอร์พูลว่าการลุ้นแชมป์ที่แท้จริงกำลังจะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้
North London forever
Whatever the weather
These streets are our own
And my heart will leave you never
My blood will forever
Run through the stone
อ้างอิง: