ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วยการ ‘เปิดกระโดดลง’ ติดลบไป 38 จุด จากวันก่อนหน้า ก่อนจะร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี ที่ 1,270.87 จุด ส่งผลให้ดัชนีลดลงมาแล้ว 15% ในช่วง 3 เดือนครึ่งที่ผ่านมา
นักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อเนื่อง เดือนมกราคมต่างชาติขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาที่ขายออกไป 1.92 แสนล้านบาท และ 1.47 แสนล้านบาท ตามลำดับ
หลังจากที่ดัชนีร่วงไปติดลบมากสุด 43 จุด ระหว่างวันเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาจนดัชนีค่อยๆ ลดช่วงการติดลบมาเหลือราว 15-16 จุด
สงครามการค้ารอบใหม่
หนึ่งในแรงกดดันสำคัญต่อตลาดหุ้นไทยวันนี้มาจากคำสั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจีนในอัตรา 10% ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้ารอบใหม่
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวเร็วกว่าที่คาด กลายเป็นแรงกดดันต่อตลาดการเงิน โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ ช่วงเช้าวันนี้ (3 กุมภาพันธ์) ปรับลดลงกว่า 500 จุด ขณะที่ตลาดในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ปรับลดลงราว 2-3% ส่วนตลาดหุ้นไทยที่มีความเปราะบางอยู่แล้วก็ถูกกดดันเช่นกัน
ล่าสุดเม็กซิโกและจีนส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ส่วนแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ตอบโต้สหรัฐฯ แล้ว โดยมีมูลค่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 40% ของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
หากพิจารณามูลค่าการค้าของเม็กซิโก แคนาดา และจีน กับสหรัฐฯ ในปี 2566 อยู่ที่ 2.05 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของทั้งหมด อีกทั้งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงสุดกับ 3 ประเทศนี้ ทำให้ถูกตกเป็นเป้าหมายแรกๆ ในการตั้งกำแพงภาษี
Bloomberg ประเมินว่าสงครามการค้ารอบนี้จะส่งผลต่อการค้ามูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 43% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ และเกือบ 5% ของ GDP ของสหรัฐฯ นอกจากนี้การดำเนินการครั้งนี้จะเพิ่มอัตราภาษีเฉลี่ยของสหรัฐฯ จากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 3% เป็น 10.7% ซึ่งจะเป็นการช็อกด้านอุปทานที่สำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
หุ้นไทยยังมีความหวัง?
ทิวา ชินธาดาพงศ์ นักลงทุนมืออาชีพ มองว่าไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างจริง เช่น สังคมสูงอายุ เศรษฐกิจโตต่ำ แต่ไม่ใช่แค่ไทยที่เผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เช่น ยุโรปที่เผชิญกับปัญหานี้รุนแรงกว่า หลายประเทศ GDP โตต่ำกว่า 1%
“เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีกว่าโลก แต่ Performance ของหุ้นไทยลดลงมากกว่าหุ้นโลกค่อนข้างมาก”
สาเหตุสำคัญมาจากสภาพคล่องที่ตึงตัว และการชะลอตัวของสินค้าที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ บ้าน ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยก็ทรงตัวมา 10 ปี
“ในระยะสั้นไม่มีใครรู้ว่าราคาหุ้นจะไปอย่างไรต่อ แต่ด้วยวิกฤตบนตลาดหุ้นไทยตอนนี้ถ้ามองดีๆ จะเจอหุ้นที่น่าสนใจบ้างแล้ว ถ้าเราเลือกถูกจะมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีได้”
ทิวากล่าวต่อว่า ตอนนี้หุ้นไทยเกินกว่าครึ่งตลาดมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี ส่วน P/E ของตลาดที่ดูสูงนั้น หากตัดหุ้นอย่าง DELTA, GULF และ AOT ที่ P/E สูงเกินค่าเฉลี่ยไปมาก จะเห็นว่า P/E ของหุ้นหลายตัวไม่สูงแล้ว
สำหรับการมองหาหุ้นที่น่าสนใจต้องเข้าใจก่อนว่าประชากรโลกต่อจากนี้จะค่อยๆ ลดลง ทำให้ธุรกิจแบบเก่าอาจจะไม่ดีอีกแล้ว สิ่งสำคัญคือการมองให้ออกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าอะไรคือสิ่งที่คนต้องการ โดยหุ้นไทยที่น่าสนใจจะอยู่ใน 4 ส่วนนี้ ได้แก่
- สินค้าและบริการที่คนทั่วไปจะใช้มากขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันถือเป็นยุคทองที่เทคโนโลยีหลายอย่างมาบรรจบกัน
- ได้อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งงบประมาณใหม่ๆ มักจะถูกเทไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยทำให้หลายภาคส่วนและผู้คนต้องเปลี่ยนอุปกรณ์หรือต้องการอุปกรณ์มากขึ้น
- ความสวยความงาม ในอดีตจาก 100 คน อาจมีเพียง 2 คนที่ใช้จ่ายด้านความงาม ปัจจุบันอาจจะ 3-4 คน และในอนาคตอาจเพิ่มไปถึง 10 คน และยิ่งผู้คนมีลูกน้อยลงทำให้การใช้จ่ายกับตัวเองมากขึ้น
- การท่องเที่ยว หากเราเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องยังน่าสนใจในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันราคาจะค่อนข้างแพง
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญในสายตาของทิวาคือนโยบายกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ว่าจะกระทบกับไทยโดยตรงมากน้อยแค่ไหน เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนอีกปัจจัยเสี่ยงคือเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ หากไม่แน่นอนอาจกระทบต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการต่างๆ ที่เคยประกาศไว้
ภาพ: H-AB Photography / Shutterstock