โดยปกติแล้วเวลาเครื่องบินบินบนอากาศนั้นไม่ได้หมายความว่าจะบินได้ตามใจ ก็เหมือนกับรถยนต์ เครื่องบินต้องบินตาม ‘เลน’ ซึ่งถูกกำหนดเอาไว้ทั้งทิศทางและความสูง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
แต่จากอุบัติเหตุที่เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky UH-60 Black Hawk ของกองทัพบกสหรัฐฯ ชนเข้ากับเครื่องบินโดยสาร Bombardier CRJ-700 เที่ยวบินที่ AA5342 ของสายการบิน PSA Airlines (สายการบินลูกของ American Airlines) เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมานั้น มีสมมติฐานที่ค่อนข้างน่าสนใจว่าต้องมีใครสักคนอาจขับเครื่องบิน ‘ผิดเลน’
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บริเวณท่าอากาศยาน Ronald Reagan Washington National Airport ที่ถือเป็นน่านฟ้าที่บินยากและอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เพราะมีเขตห้ามบินขนาบข้างสองเขตจากการที่มีอาคารสำคัญของรัฐบาลอยู่ในบริเวณนั้น อาทิ เพนตากอน นอกจากนั้นยังมีจุดตัดระหว่างเส้นทางการบินของอากาศยานพลเรือนและอากาศยานของรัฐ
เรื่องทุกอย่างยุ่งยากขึ้นเมื่อมีรายงานว่า สนามบินแห่งนี้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่เพียงพอมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในคืนที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเพียงคนเดียวที่คอยดูแลการขึ้นลงและการเดินทางของอากาศยานในบริเวณนั้น ซึ่งโดยปกติต้องใช้คนสองคน
มีรายงานว่า โดยปกติแล้วในบริเวณของท่าอากาศยาน Ronald Reagan Washington National Airport นั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศจะกำหนดให้เฮลิคอปเตอร์บินที่ความสูงไม่เกิน 200 ฟุต แต่ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ในวันนั้น Sikorsky UH-60 Black Hawk บินที่ความสูงราว 325 ฟุต ซึ่งในทางกลับกัน เครื่องบิน Bombardier CRJ-700 ของ PSA Airlines ก็บินที่ความสูงซึ่งสูงกว่า 300 ฟุตเช่นกัน
ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุเพียง 30 วินาที เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศได้ขอให้ Sikorsky UH-60 Black Hawk ลำดังกล่าวสังเกตด้วยสายตาว่ามีเครื่องบินของสายการบินอยู่หรือไม่ ซึ่งนักบินของเฮลิคอปเตอร์ Sikorsky UH-60 Black Hawk ยืนยันว่าเห็น แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า Sikorsky UH-60 Black Hawk เห็นเครื่องบินของเที่ยวบิน AA5342 หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม นักบินของ Sikorsky UH-60 Black Hawk ขอจัดระยะห่างด้วยสายตา (Visual Separation) หรือการใช้สายตากะระยะเครื่องบินลำอื่นและพยายามบังคับเครื่องบินให้อยู่ห่างกันด้วยตัวเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศอนุญาต และหลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศก็บอกให้ Sikorsky UH-60 Black Hawk บินผ่านเที่ยวบิน AA5342 ทางด้านหลัง แต่หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีอากาศยานทั้งสองลำก็ชนเข้าด้วยกัน
ดังนั้นดูเหมือนว่าความสูงจะเป็นปัญหาสำคัญ แม้ว่าในตอนนี้จะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าความสูงของอากาศยานทั้งสองลำจะต้องถูกนำมาวิเคราะห์ โดยโชคดีที่ว่าอากาศยานทั้งสองลำนั้นมีกล่องดำบันทึกข้อมูลการบิน และกล่องดำของทั้งสองลำถูกเก็บกู้ขึ้นมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากผลการวิเคราะห์และสอบสวนออกมาว่าอากาศยานลำใดลำหนึ่งนั้นบินสูงเกินไปจนชนเข้ากับอากาศยานอีกลำ ก็อาจไม่ใช่ข้อสรุปสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุเสียทีเดียว เพราะการบินสูงผิดปกติอาจเป็นเพียงห่วงโซ่สุดท้ายของเหตุการณ์เท่านั้น การที่เราสรุปว่ามีใครสักคนบินสูงเกินไป ก็จะเป็นการสรุปหลายเหตุของสาเหตุทั้งหมด และจะทำให้เราพลาดที่จะคลำทางย้อนกลับไปถึงสาเหตุแท้จริงที่ว่าทำไมอากาศยานลำใดลำหนึ่งถึงบินสูงเกินไป
ซึ่งมันอาจจะเป็นไปได้ทั้งการออกแบบเส้นทางการบินที่ไม่ดีและอันตรายเกินไป การขาดการฝึกและกระบวนการในการตรวจสอบความสูงของอากาศยานเมื่อผ่านจุดตัดที่อันตราย การไม่ได้มีขั้นตอนในการให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศตรวจสอบความสูงของอากาศยานในบริเวณนั้น หรือมีขั้นตอนนั้นแล้ว แต่มีปัญหาหรืออุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้เป็นอย่างดี ซึ่งพอถอยกลับมาจะพบว่าอาจต้องมีการแก้ไขหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเส้นทางการบินใหม่ การปรับกระบวนการฝึกนักบิน หรือการปรับขั้นตอนหรือจำนวนเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศในบริเวณนั้น ฯลฯ
ดังนั้นนี่จะเป็นโจทย์ของคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ หรือ NTSB (National Transportation Safety Board), องค์การการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ FAA (Federal Aviation Administration), กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าของอากาศยานและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานที่จะต้องสอบสวน เพื่อวิเคราะห์จากเหตุการณ์ว่าใครบินที่ความสูงที่ไม่ถูกต้อง ให้ออกมาเป็นรายงานที่ระบุทางแก้ปัญหาที่ปลายห่วงโซ่ของเหตุการณ์นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ภาพ: Carlos Barria / Reuters