×

แผ่นดินไหวที่ลึกที่สุดเท่าที่เคยมีมา เกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร นักวิทยาศาสตร์มีคำตอบแล้ว

โดย Mr.Vop
02.02.2025
  • LOADING...
deepest-earthquake-recorded

แผ่นดิน​ไหวเป็นสิ่งที่เกิดมาตั้งแต่ผิวโลกเริ่มเย็นตัวลงเป็นของแข็งหลังก่อตัวขึ้นเป็นดาวเคราะห์ แต่มนุษย์​ยังมีความเข้าใจปรากฏ​การณ์​นี้น้อยมาก แม้จะมีบันทึกว่ามนุษย์​สนใจศึกษาปรากฏการณ์​ธรรมชาติ​นี้มาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราชก็ตาม แต่กว่าจะเริ่มเข้าใจสาเหตุ​ที่มา ลักษณะ​การเกิด รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยวิทยาการใน​ศตวรรษ​ที่ 20 เข้ามาช่วยในการศึกษา​ค้นคว้า ​จึงทำให้เดินหน้า​ต่อไปได้

 

สาเหตุที่ความเข้าใจ​เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของแผ่นดินไหวดำเนินไปได้ค่อนข้างช้า ก็เพราะแผ่นดินไหวนั้น​เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบริเวณ​หนึ่งของโลกที่สำรวจได้ยากเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือใต้ผิวโลกที่มีความลึกลงไปจากเริ่มต้นกิโลเมตร​แรกลงไปจนถึงหลักหลายร้อยกิโลเมตรด้านล่าง

 

ภาพแสดงคลื่น P (ปฐมภูมิ) และ S (ทุติยภูมิ)

ภาพแสดงคลื่น P (ปฐมภูมิ) และ S (ทุติยภูมิ) ของแผ่นดินไหวที่เดินทางผ่านส่วนต่างๆ ในโลก แล้วปรากฏขึ้นมาที่เครื่องวัดตามสถานีต่างๆ ที่ทำให้เราทราบความเร็วและทิศทาง จนเข้าใจโครงสร้างต่างๆ ภายในโลก

 

ความลึกนี้เองคืออุปสรรค​สำคัญ เพราะเมื่อไม่อาจขุดเจาะลงไปสำรวจได้ด้วยตาตัวเอง (หลุมลึกที่สุดที่ขุดได้คือเพียง 12 กิโลเมตร)​ มนุษย์​ก็จำเป็นต้องอาศัยทางอื่น นั่นคือใช้การสังเกตทิศทาง​และความเร็ว​ของคลื่นที่เกิดจาก​แผ่นดินไหว คลื่นนี้จะ​สะท้อนหักเหไปมาผ่านชั้นต่างๆ ที่เรียงตัวลงไปสู่ใจกลางโลก จนเราสามารถเข้าใจโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์​ดวงนี้ได้มากขึ้น​ 

 

สิ่งนี้กลายมาเป็นรากฐานของวิชาการด้านวิทยาแผ่นดินไหว หรือ Seismology ที่แยกต่างหากออกไปจากธรณีวิทยา นักแผ่นดินไหววิทยาจะอาศัยการอ่านค่าและการสังเกตคลื่นแผ่นดินไหวเป็นหลักในรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่างๆ ประจำวัน ตลอดจนใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานการค้นพบต่างๆ ออกมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ทราบกัน 

 

เราจะสนใจค่าความลึกของแผ่นดินไหวไปทำไมกัน

 

ปกติแล้วเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ตัวเลขแรกๆ ที่เราซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปสนใจ นอกจากเวลาที่เกิดก็คือขนาดและพิกัดของแผ่นดินไหว เพราะขนาดแผ่นดินไหวที่ใหญ่และพิกัดที่ใกล้เรา หมายถึงแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อเรามากขึ้น แต่ยังมีตัวเลขสำคัญอีกตัวนั่นคือความลึก

 

ค่าความลึกเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะแผ่นดินไหวนั้นยิ่งเกิดลึก แรงสั่นสะเทือนก็จะลดน้อยลง ยิ่งถ้าแผ่นดินไหวครั้งนั้นๆ เกิดลึกกว่า 300 กิโลเมตรลงไปแล้ว แรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อเราจะค่อนข้างน้อยจนไม่น่าเป็นห่วง แม้จะเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็ตาม

 

แต่สำหรับนักแผ่นดินไหววิทยา ความลึกของแผ่นดินไหวยังสำคัญกว่านั้นในแง่ของการค้นคว้า เพื่อให้เข้าใจการพาความร้อนและการปลดปล่อยพลังงานใต้พิภพ การเปลี่ยนเฟสของแร่ที่เป็นเนื้อโลก ไปจนถึงการค้นคว้าหาสาเหตุของแผ่นดินไหวเพิ่มเติมไปจากที่เคยรู้จัก เพราะพฤติกรรมของแผ่นดินไหวโดยทั่วไปที่เกิดบริเวณเปลือกโลกด้านบน จะเกิดขึ้นเพราะการเคลื่อนที่หรือการมุดตัวของเปลือกโลก แต่สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดในบริเวณที่ลึกลงไปถึงเนื้อโลก สาเหตุจะมาจากสิ่งอื่นที่แตกต่างออกไป

 

แกนโลก

 

แล้วสถิติความลึกที่น่าสนใจคือที่ไหน เท่าไร และเมื่อไร

 

โดยทั่วไปบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดคือบริเวณเปลือกโลก แผ่นดินไหวขนาดเล็กขนาด 2.0-2.9 จะเกิดขึ้นบ่อยมากคือปีละนับล้านครั้งทั่วโลก จำนวนครั้งของแผ่นดินไหวจะยิ่งลดลงเมื่อแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ขนาด 4.0-4.9 เกิดราวปีละ 10,000 ครั้ง, ขนาด 5.0-5.9 เกิดราว 1,000-1,500 ครั้ง หรือแผ่นดินไหวที่มีขนาด 7.0-7.9 จะมีจำนวนราวๆ 10-20 ครั้งต่อปีทั่วโลก

 

นอกจากเรื่องของขนาดแล้ว ที่บริเวณที่ลึกลงไปจากเปลือกโลก จำนวนครั้งในการเกิดแผ่นดินไหวจะยิ่งลดน้อยลง โดยตลอด 100 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.0 ที่เกิดที่ระดับความลึกเกินกว่า 300 กิโลเมตรเพียง 89 ครั้งเท่านั้น

 

สถิติที่น่าสนใจคือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2015 เป็นแผ่นดินไหวขนาด Mw 7.9 บริเวณ​หมู่เกาะ​โองาซาวาระ ห่างจากกรุงโตเกียวลงไปทางใต้ราว 1,000 กิโลเมตร นอกชายฝั่งญี่ปุ่น แผ่นดินไหว​นี้เกิดที่ระดับความลึก 680 กิโลเมตรในเขตมุดตัวอิซุ-โบนิน

 

แผ่นดินไหวครั้งดังกล่าวนี้ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า ‘2015 M7.9 โบนิน’ กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เนื่องจากในอดีตนักแผ่นดินไหววิทยายังไม่เคยพบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเนื้อโลกส่วนล่าง หรือ Lower Mantle เกินระดับความลึก 750 กิโลเมตร​​มาก่อนเลย เนื่องจากเป็นส่วนที่ประกอบด้วยเนื้อแร่โอลิวีนที่มีความนุ่มจากอุณหภูมิและแรงกดดันสูง (สีเขียวในภาพด้านบน) จนกระทั่งมีงานวิจัยของทีมงาน ผศ.อีริก ไคเซอร์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 อ้างว่าพบอาฟเตอร์ช็อกจากแผ่นดินไหว 2015 M7.9 โบนิน เกิดลึกลงไปถึงเนื้อโลกส่วนล่างที่ค่าความลึก 751 กิโลเมตร เท่ากับว่าทีมงานของ ผศ.ไคเซอร์ พบแผ่นดินไหว​ในเนื้อโลกส่วนล่าง​เป็น​ครั้งแรก

 

ประเด็นก็คือ​ มีงานวิจัย​ล่าสุดซึ่งตีพิมพ์​เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่​ผ่าน​มา โดย จางห่าว จากภาควิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ที่มีความเห็นแย้งงานค้นพบของ ผศ.ไคเซอร์ โดยจางห่าวใช้เทคนิค Backprojection ซึ่งทำได้โดยใช้คลื่นแผ่นดินไหว​ทั้งคลื่น P (ปฐมภูมิ) และ S (ทุติยภูมิ) ที่ได้จากเครือข่าย Hi-net ของญี่ปุ่น คำนวณย้อนกลับไปหาตำแหน่ง​จริงของแหล่งกำเนิด​คลื่น ​โดยกำหนดค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณจริงกับสัญญาณรบกวน หรือ SNR ≥ 5 จนพบอาฟเตอร์ช็อกของแผ่นดินไหว​ M7.9 โบนิน จำนวน 14 ครั้งที่เกิดในรัศมี​ 150 กิโลเมตร​จากจุดโฟกัส​ของ​แผ่นดินไหวหลัก 

 

อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดในสัปดาห์แรกเรียงตัวตามระนาบการแตกตัวหลัก แสดงการกระจายความเครียดในแนวลงลึก (Down Dip) อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดในสัปดาห์ถัดไปกระจายตัวกว้างขึ้นรอบพื้นที่แตกตัวหลัก ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดหรือการแพร่ของของไหล แต่ทั้งหมดทั้งมวลจางห่าวพบอาฟเตอร์ช็อกที่ออกนอกกลุ่มลึกลงไปด้านล่างน้อยมาก ครั้งที่ลึกที่สุดเกิดที่ความลึก 707 กิโลเมตร​ ไม่ใช่ 751 กิโลเมตร​ตามงานวิจัย​ของ ผศ.ไคเซอร์

 

งานวิจัย​ของจางห่าวจึงถือเป็นการหักล้างการค้นพบของ ผศ.อีริก ไคเซอร์ ก่อนหน้านี้ และสถิติแผ่นดินไหว​ที่ลึกที่สุดในโลกก็จะย้อนกลับไปที่สถิติเดิมนั่นคือที่ความลึก 735.8 กิโลเมตรในเหตุการณ์​แผ่นดินไหว​ขนาด mb 4.2 บริเวณ​หมู่เกาะ​วานูอาตู​เมื่อเดือนเมษา​ยน ปี 2004 ซึ่งบันทึกเอาไว้โดย USGS 

ทีมงานของจางห่าวตีพิมพ์งานวิจัย​ใน​วารสาร https://phys.org/news/2025-01-aftershock-analysis-world-deepest-earthquake.html#google_vignette

 

ภาพ: Andrey VP via Shutterstock

 

อ้างอิง: 

FYI
  • แผ่นดินไหวในระดับลึกกว่า 400 กิโลเมตร จะเกิดจากคนละสาเหตุกับแผ่นดินไหวบริเวณเปลือกโลก แผ่นดินไหวระดับลึกจะเกี่ยวเนื่องกับแร่โอลิวีนสีเขียวเป็นมันเงาที่เป็นส่วนประกอบ​หลัก​ของเนื้อโลก 
  • แร่นี้เมื่อโดนแรงกดดันถึงจุดหนึ่งจะทำให้อะตอมจัดเรียงขึ้นใหม่เป็นโครงสร้างแร่สีน้ำเงินที่เรียกว่า ‘วาดส์ลีไยต์’ ในระดับความลึกลงไปอีก 100 กิโลเมตร​ ความกดดันจะทำให้อะตอมแร่วาดส์ลีไยต์จัดเรียงใหม่อีกครั้งเป็น ‘ริงวูดไดต์’ ในที่สุด
  • เมื่อลึกลงไปในเนื้อโลกราว 680 กิโลเมตร​ ริงวูดไดต์จะแตกตัวเป็นแร่ธาตุ 2 ชนิด ได้แก่ บริดจ์มาไนต์และเพอริคลาส แน่นอนว่านักธรณีวิทยาไม่สามารถสำรวจโลกได้ไกลขนาดนั้นโดยตรง แต่พวกเขาสามารถใช้อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างแรงกดดันที่รุนแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่พื้นผิวได้
  • เนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนที่ต่างกันไปตามเฟสแร่ต่างๆ นักธรณีฟิสิกส์จึงสามารถเห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ โดยการดูการสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 
  • แร่โอลิวีนสามารถข้ามเฟสของวาดส์ลีไยต์ไปเป็นริงวูดไดต์โดยตรง และเมื่อเกิดการข้ามเฟสแบบนี้ขึ้นมาภายใต้แรงกดดันที่สูงเพียงพอ ตัวแร่ก็อาจปริแตกได้ แทนที่จะเกิดการโค้งงอ
  • การปริแตกของแร่เป็นที่มาของแผ่นดินไหว
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising