มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยเปิดเผยถึงบทบาทสำคัญของไทยบนเวที World Economic Forum 2025 พร้อมเล่าถึงความสำเร็จในการนำเสนอศักยภาพของประเทศ ทั้งในด้านโลจิสติกส์ ซอฟต์พาวเวอร์ และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงกลยุทธ์เชิงรุกของไทยในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์และภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อน
ไทยจะวางตัวเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและสร้างโอกาสจากความร่วมมือระดับโลกได้อย่างไร
ไทยได้อะไรจากการประชุม WEF 2025 จะทำให้ไทยกลับมาอยู่บนจอเรดาร์โลกหรือไม่
การที่ไทยจะกลับมาอยู่ในจอเรดาร์โลกได้ สำคัญที่สุดคืออยู่ที่ตัวเรา ผมเชื่อว่าโดยศักยภาพของประเทศไทย เรามีบทบาทสำคัญอยู่แล้วและเราไม่ได้ลดบทบาทความสำคัญของตัวเองลงเลย เพียงแต่ว่าบางครั้งมันเป็นธรรมชาติของการพัฒนา ก็อาจมีการติดขัดบ้าง แต่โดยพื้นฐานหรือเบื้องลึกแล้วประเทศไทยมีความสำคัญ และทุกชาติก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรา
การที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มา WEF ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกของท่านเหมือนกัน รวมถึงเป็นครั้งแรกของผม สิ่งสำคัญที่สุดที่เรามองเห็นบนเวทีนี้คือ PPP หรือ Public-Private Partnerships ทุกคนคงได้เห็นภาพความพยายามของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำและผู้นำระดับโลก ซึ่งรวมตัวกันเพื่อเซ็ตทิศทางของสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอดปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเศรษฐกิจ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม อันนี้ชัดเจนว่ามันเป็น PPP หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่จะทำร่วมกัน
สำหรับคำถามที่ว่า เราจะเซ็ตโทนกันอย่างไร หลังจากที่มีการประชุมกัน ธีมของปีนี้จะเป็นความร่วมมือและ AI เป็นหลัก แต่ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอะไรก็ตาม มันจะมีสองด้านเสมอคือทั้งแง่ลบและบวก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำคือการหาคำตอบว่า เราจะสามารถมามีความร่วมมือกันอย่างไร เพื่อให้ AI สร้างผลประโยชน์ในเชิงบวกให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และสังคม
ถ้าเรามาดูเรื่องของ Value Chain ก็จะมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
การที่นายกฯ ตลอดจนตัวผม ร่วมด้วยรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง ก็จะได้เข้ามาเซ็ตโทนร่วมกันว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนบน Value Chain จะออกมาในทิศทางใดบ้าง เช่น ต้นน้ำก็อาจเป็นการทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
สำหรับกลางน้ำ ประเทศไทยชัดเจนอยู่แล้วว่าเราเป็นศูนย์กลางการผลิตในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านการเกษตร แต่ในแง่อุตสาหกรรมเราก็เป็นฮับในการผลิตรถยนต์ด้วย
ส่วนปลายน้ำก็คือการที่เรามี Market Network หรือมีเครือข่ายที่เข้าถึงสังคม ทั้งหมดก็เพื่อตอบโจทย์ว่าการทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกันนำมาสู่การสร้างผลิตภาพและสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน
โดยนายกฯ พูดชัดเจนว่า รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการสร้างผลิตภาพ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนภาคเอกชนและนำไปสู่การสร้างผลผลิตได้ รัฐบาลไทยก็พร้อมทำทุกอย่าง
นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมการประชุม WEF แล้ว นายกฯ ยังมีโอกาสร่วมประชุมทวิภาคีแบบตัวต่อตัวกับผู้นำหลายๆ ประเทศ และทุกประเทศก็เห็นพ้องกับนายกฯ ว่า ในท้ายที่สุดแล้วภาครัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่สร้างอุปสรรคขัดขวางให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตหรือก็คือภาคเอกชน
กลับมาที่คำถามคือ เราได้อะไรจากการประชุม WEF สิ่งแรกคือการได้แสดงศักยภาพของประเทศไทย ในเรื่องของโลจิสติกส์ นายกฯ ได้พบกับผู้บริหารของบริษัท DP World ทุกท่านคงทราบว่า DP World เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์
สิ่งที่นายกฯ ได้พูดคุยกับผู้บริหารของ DP World ก็คือการแสดงให้เห็นศักยภาพประเทศไทยในฐานะที่เป็นทำเลที่ตั้งสำคัญ (Strategic Location) เราเป็นสมาชิกของอาเซียนและอาเซียนพลัส เพราะฉะนั้นเรามี Connectivity ที่มั่นคงและเข้มแข็งกับอาเซียนและอาเซียนพลัส (+ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นตลาดที่มีคนมากกว่า 2 พันล้านคน
ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศของอาเซียนที่เป็นสมาชิกของ BIMSTEC โดยเรากับอินเดียเป็นประเทศที่มีบทบาทนำใน BIMSTEC ชัดเจน หรือตลาดที่มีคนอีกกว่า 2 พันล้านคน ซึ่งนายกฯ ได้อธิบายให้ผู้บริหารของ DP World เห็นศักยภาพตรงนี้
ถัดไปก็คือเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งทุกท่านก็คงทราบว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นแบรนดิ้งที่สำคัญของนายกฯ และท่านก็สามารถที่จะแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย โดยมี 2 กิจกรรมที่นายกฯ เข้าไปร่วมในกรอบของ WEF ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์
อันแรกเลยก็คือการที่ท่านไปเป็น Keynote Speaker ในเรื่องของ Betazone ซึ่งเขาเซ็ตธีมว่า Not Losing Sight of Soft Power ความหมายก็คืออย่ามองข้ามศักยภาพของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำศักยภาพประเทศไทยในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ 13 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการโรงแรม, การท่องเที่ยว, กีฬา, ภาพยนตร์, อาหาร, แฟชั่น และอื่นๆ ในการปราศรัยวันนั้นมีผู้ฟังหลายร้อยคน รวมทั้งมีผู้ติดตามทางออนไลน์ด้วย ซึ่งผู้ชมให้ความสนใจอย่างมาก
นายกฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเรามีความพยายามที่จะผลักดันในตรงนี้ พลังของซอฟต์พาวเวอร์จะช่วยเสริมสร้างพลังของประเทศ รวมทั้งความร่วมมือของประเทศต่างๆ เข้ามาด้วยกัน
จุดสำคัญที่สุดที่ผมอยากไฮไลต์คือ นายกฯ สามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมทั้งที่อยู่ในงานและที่ติดตามกันอยู่ทางออนไลน์ได้มองเห็นถึงศักยภาพของซอฟต์พาวเวอร์ และหลังจากจบปราศรัย ผู้ฟังหลายท่านได้เข้ามาพูดคุยกับนายกฯ ว่าเขาอยากที่จะมีคอนเน็กชันกับประเทศไทย ในเรื่องของการร่วมกันพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเขาเห็นแล้วว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบที่สำคัญ
กิจกรรมที่สองที่เกี่ยวข้องเรื่องกับซอฟต์พาวเวอร์ก็คือ Thai Reception ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ลิ้มรสอาหารไทยที่ทุกคนโปรดปรานอยู่แล้ว ก็เลยเป็นจุดสนใจที่สำคัญ ต้องขอบคุณทีมงาน เชฟทุกคนที่มีส่วนร่วม รวมถึงสปอนเซอร์หลักของเรา ไม่ว่าจะเป็น ปตท., CP, ThaiBev และอีกหลายองค์กร ที่เข้ามาสนับสนุน ผู้ที่เข้ามาร่วมใน Thai Reception ได้มีโอกาสพูดคุยกับเชฟ ซึ่งสร้างแรงผลักดันให้คนเห็นคุณค่าของอาหารไทยนอกเหนือไปจากรสชาติ ความละเมียดละไมของการปรุง การเลือกสรรวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์กับร่างกาย และนั่นก็คือศักยภาพพลังของซอฟต์พาวเวอร์ที่ทุกคนได้เห็น
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาแชร์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ คือเรื่องความตั้งใจของ WEF ที่อยากจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์ C4IR (Centre for the Fourth Industrial Revolution) ซึ่ง WEF มองเห็นศักยภาพของไทยในเรื่องของการเกษตร อย่างที่ผมเรียนว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่นายกฯ พยายามผลักดันให้ทุกประเทศได้เห็นศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของอาหาร ทำให้ WEF เห็นคุณค่าของประเทศไทย เห็นบทบาทสำคัญของประเทศไทยในการที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ C4IR เน้นไปทางด้านการเกษตรและอาหาร โดยมีเป้าหมายสำคัญคือสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ถือเป็นบทบาทที่ชัดเจนของประเทศไทยที่ทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้ง WEF ได้เห็นว่าเราสามารถการันตีความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกได้
มีอีก 2-3 ประเด็นที่ผมอยากไฮไลต์ ในช่วงที่นายกฯ เป็นประธานในการพูดคุยกับ WEF ในเรื่องของ Country Strategy Dialogues ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ผมอยากไฮไลต์ก็คือโลจิสติกส์ หลังจากที่นายกฯ นำเอาศักยภาพของประเทศไทยทางด้านการเป็นยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียไปพูดคุย ทำให้ทุกประเทศและทุกภาคส่วนหลายๆ บริษัทได้เห็นศักยภาพตรงนี้ จึงมีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่ประเทศไทยจะเป็นฮับทางด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างชัดเจน
ในเรื่องของท่องเที่ยวก็มีนักธุรกิจท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวทางเรือ (Cruise Tourism) ซึ่งขอเรียนว่านายกฯ ได้พูดกับผู้นำหลายคนว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มโครงการ 6 Countries, 1 Destination เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวทางเรือยกขึ้นพูด ทำให้ได้เห็นภาพชัดเจนแล้วว่าเราคือผู้นำในเรื่องของท่องเที่ยว ทุกคนตอบได้เลยว่ารายได้ทางด้านการท่องเที่ยวต่อ GDP ของเราคือ 20% เรามีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนในปีนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าเราเป็นผู้นำในเรื่องของด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับศักยภาพในการเป็น Strategic Location ของประเทศไทย เรามีบทบาทนำในเรื่องท่องเที่ยวได้
ความสำเร็จของการเดินทางมาครั้งนี้ยังมีอีก 2 ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ อันที่หนึ่งเด่นชัดเลยคือเรามีการลงนามความตกลงระหว่างประเทศไทยกับ EFTA ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์ เป็นกรอบความร่วมมือการค้าเสรีที่ประเทศไทยมีกับประเทศในยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้า การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศใน EFTA
นอกจากนั้น นายกฯ ก็มีโอกาสพูดคุยระดับทวิภาคีกับนายกฯ อาร์เมเนีย ซึ่งท่านได้ผลักดันการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกรอบของ EAEU ก็คือสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย, คาซัคสถาน, อาร์เมเนีย, เบลารุส และคีร์กีซสถาน ตรงนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งความตกลงที่เราต้องการผลักดัน แต่ต้องเจรจาในรายละเอียดกันต่อไป
อาจพูดได้เลยว่าประเทศไทยตอนนี้อยู่ในเรดาร์โลก แต่เช่นนั้นก็คงจะต้องมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่หลายประเทศกังวล ประเทศไทยก็อยู่ติดในความเสี่ยงนั้น เพราะเราก็ค้าขายกับโลก อยากทราบว่ามีแผนรับมือตรงนี้อย่างไร
จริงๆ แล้ว อย่างที่ผมเคยเรียนให้ทุกท่านทราบว่าเป้าหมายหรือนโยบายการต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่างประเทศเชิงรุก เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เพราะฉะนั้นผมได้พูดกับทุกๆ ประเทศและในทุกๆ โอกาส ผมพูดชัดเจนว่า กรอบต่างๆ หรือ Regional Grouping ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น BRICS, OECD, อาเซียน, อาเซียนพลัส ผมบอกทุกกลุ่มอย่างชัดเจนว่า ผมไม่ได้มอง Regional Grouping เป็น Political Bloc แต่มองว่าเป็นโอกาสที่จะมีความร่วมมือในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน
ผมค่อนข้างมองไปในเรื่องของ Geoeconomics มากกว่าที่จะไปสร้างอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือในการพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้าเราเอา Geopolitics มาตั้งก็อาจไปไม่ถึงไหน แต่ผมบอกเลยว่าเราไม่ได้มองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็น Political Bloc แต่มองว่าเป็นโอกาสทางความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน
ส่วนเรื่อง Geopolitics ในทุกปีก็จะมีการประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ท่านไปว่ากันเลย แล้วประเทศไทยก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องของ Geopolitics แต่ขอให้ละไว้หน่อยว่า การรวมกลุ่มกันในเรื่องของอนุภูมิภาคทั้งหลาย รวมทั้งภูมิภาคต่างๆ ขอให้เน้นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างทางธุรกิจและสังคมร่วมกัน
เราจะวางตัวให้สามารถเป็นมิตรกับทุกคนท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างไร
เอา Political Issues ออกไป แต่ละคนมีพื้นฐานเรื่องราวของประเทศแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น เมียนมา ถ้าคุณพยายามจะแก้ปัญหาในเมียนมา แต่คุณไม่ฟังคนที่อยู่ในประเทศเขา ก็ไม่ได้ ผมพูดเสมอเรื่องของเมียนมา ไม่มีใครไปช่วยแก้ปัญหาของเขาได้ยกเว้นตัวเขาเอง
สำหรับเรา เรามีหน้าที่สนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สนับสนุนด้วยอาวุธ ประเทศไทยไม่เคยสนับสนุนเรื่องอาวุธกับประเทศใดทั้งสิ้น อันนี้ขอให้เข้าใจชัดเจน รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนให้มีการก่อกวนความวุ่นวายหรือสร้างความขัดแย้ง แต่เราพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกประเทศแก้ปัญหาได้บนพื้นฐานของความร่วมมือ
ประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายคนอาจมองว่าเราถูกบีบให้เลือกข้าง
อย่างที่ผมเรียนว่า ในที่สุดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เรามีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าเราจะมีศักยภาพในการหาจุดแข็งของเรา เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่านี่คือโอกาสที่เขาจะมีความร่วมมือกับเรา ไม่ใช่เพียงแค่มาขอให้เราเลือกข้าง
ผมมองว่าความร่วมมือในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ พัฒนาระบบของการทำธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างของสังคม เพื่อสอดรับกับสิ่งที่โลกกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น AI, บล็อกเชน และอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับทุกประเทศมีความร่วมมือกัน ตรงนั้นผมว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญมากกว่า
แล้วสิ่งที่นายกฯ นำมาไฮไลต์ที่ WEF ครั้งนี้ ก็คือศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์ ซอฟต์พาวเวอร์ ความมั่นคงทางอาหาร เพราะฉะนั้นหลายคนก็ต้องมองว่านี่คือศักยภาพของประเทศไทย และนี่คือบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในประชาคมโลก