วันนี้ (25 มกราคม) คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน ออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบกิจการอนุญาตให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ณ หน่วยเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด เพื่อให้นายจ้างอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิ โดยกำหนดให้ลูกจ้างสามารถหยุดงานหรือปรับเวลาทำงานเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามกฎหมายเลือกตั้ง
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน (วันที่ 25-31 มกราคม 2568) และหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน (วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2568) ตามแบบฟอร์มแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น (ส.ถ./ผ.ถ. 1/8) หรือทำเป็นหนังสือซึ่งอย่างน้อยต้องระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านให้ชัดเจน พร้อมทั้งแจ้งเหตุอันสมควร
โดยผ่านช่องทาง ดังนี้
- ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยตนเอง
- ทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน
- จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
- แจ้งเหตุผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือแอปพลิเคชัน SMART VOTE
- แจ้งเหตุผ่านเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงานนอกพื้นที่ทะเบียนบ้านของตนสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยสะดวก และเพื่อให้การออกเสียงลงคะแนนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 117 ที่กำหนดบทลงโทษผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง หากขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบอื่นด้วย หากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจเข้าข่ายกระทำความผิดและมีโทษทางกฎหมายนี้เช่นกัน
คารมกล่าวต่อว่า การใช้กฎหมายบังคับนายจ้างให้หยุดงานไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบต่อระบบการผลิตและการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง ดังนั้นการจัดสรรเวลาให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละสถานประกอบการ โดยขอให้นายจ้างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และย้ำว่ากฎหมายมีบทลงโทษสำหรับนายจ้างที่ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่, สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546