วันนี้ (24 มกราคม) ที่กระทรวงกลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีสื่อมวลชนเมียนมาเผยว่าประเทศไทยเป็นผู้ขายไฟฟ้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการพนันออนไลน์
ภูมิธรรมระบุว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สร้างปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์และอยู่ในฝั่งเมียนมา ซึ่งมีการประสานงานกันให้ช่วยแก้ไข แต่เมียนมาบอกว่าเป็นพื้นที่ซึ่งยากจะเข้าไปเพราะมีกำลังของชนกลุ่มน้อย อีกทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ดำเนินการบนพื้นฐานการจ่ายไฟข้ามแดน ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติปกติ แต่เมื่อเกิดเรื่องได้ตรวจสอบจุดที่ดำเนินการ 4 แห่ง ได้แก่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2, ชายแดนเมืองเมียวดี, อำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด
สำหรับเมียวดีกับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ตรวจสอบแล้วเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้งานจริง ไม่มีการปิดกั้นอะไร จึงปล่อยให้ดำเนินการได้ ส่วนที่มีปัญหาคืออำเภอแม่ระมาดกับอำเภอแม่สอดที่เป็นแหล่งที่มีการพนันออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งดำเนินการตัดไฟไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2567 จากนั้นได้ตรวจสอบและประสานงานอย่างเต็มที่ โดยมีหลายเรื่องที่ผิดกฎหมาย จึงได้รื้อเสาสัญญาณหรือฐานส่งสัญญาณ
ทั้งนี้ ได้ประสานกับคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัทโอเปอเรเตอร์ ดำเนินการเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งวันนี้คุยกันแล้วและคิดว่าจะมีการดำเนินการเร็วๆ นี้
“ไฟตัดแล้ว ซึ่งไฟทำสัญญาปีต่อปี ก็ว่ากันเป็นส่วนๆ ส่วนที่มีปัญหาเราจัดการแล้ว จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว เป็นเรื่องที่เมียนมาและจีนต้องช่วยกัน ซึ่งจีนประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่าจะดำเนินการเต็มที่ และไทยก็ประกาศชัดเจนว่าจะดำเนินการเต็มที่เช่นกัน เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่มีปัญหาและถูกกล่าวหาคือเรื่องไฟกับการเป็นทางผ่าน จริงๆ เวลาตรวจสอบคนงานที่เข้าไปทำงานที่ชเวโก๊กโก่หรือฝั่งเมียนมาไม่ได้มาจากไทยที่เดียว เพราะบางคนก็ผ่านมาทางสุวรรณภูมิ ซึ่งมีกล้องจับตาดู เข้ามาโดยปกติ ไม่ผิดกฎหมาย และมาท่องเที่ยว”
ภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณีชาวอินโดนีเซีย 32 คนที่ลักลอบข้ามแดนมายังไทยว่าเดินทางผ่านสุวรรณภูมิ 12 คน และไปปรากฏที่ด่านตามรายงาน 8 คน แต่อีก 4 คนไม่ทราบไปไหน ส่วนอีก 20 คนยังไม่มีที่มา ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่
นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินจากยุโรปและแอฟริกาบินเข้าเมียนมาโดยตรงผ่านย่างกุ้ง อีกส่วนมาจากจีนเข้าเมียวดีโดยตรง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่อีกหลายส่วนต้องว่ากัน แต่เท่าที่สอบสวนเป็นการเข้าไปโดยสมัครใจ เพราะคิดว่าเป็นงานที่มีค่าแรงสูง แต่พอทำงานแล้วไม่ได้ตามที่ต้องการหรือผิดความคาดหมาย ก็มีจำนวนหนึ่งที่ทนไม่ได้และพยายามหนีออกมาอย่างที่เป็นข่าว 32 ชาวอินโดนีเซียหนีเข้ามา ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจราชมนูไปพบและนำตัวมาดำเนินการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
“เรื่องไฟฟ้ากำลังดำเนินการอยู่และทำไปบ้างแล้ว จริงๆ ถ้าจะบอกว่ามาจากไทยทั้งหมดคงไม่ใช่” ภูมิธรรมกล่าว
ส่วนวานนี้ที่ กฟภ. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยพูดในลักษณะว่ามีหน้าที่จ่ายไฟแต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องผลกระทบความมั่นคง ซึ่งในวันที่ 29 มกราคมนี้ กฟภ. จะมีการประชุม และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ขอเข้าร่วมประชุมด้วย ภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นไปตามนั้น ถ้าบอกว่าไม่เข้าใจเรื่องความมั่นคง ฝ่ายความมั่นคงก็จะเข้าไปทำความเข้าใจ
สำหรับเรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแล กฟภ. หรือไม่นั้น ภูมิธรรมกล่าวว่า การประสานงานคงมีอยู่แล้ว แต่ต้องดูรายละเอียดว่าที่เขาแถลงเป็นอย่างไร ก็มีการประสานระหว่างหน่วยงานอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องระดับนโยบาย อนุทินก็อยู่ในที่ประชุม สมช. อยู่แล้ว ก็รับรู้ร่วมกัน และต้องไปดำเนินการ
“ฝ่ายปฏิบัติการอาจจะอ้างได้ แต่จริงๆ ก็ไม่ควรอ้าง แต่ควรรับรู้ได้ด้วยวิญญูชนว่าไม่ควรอ้างแบบนี้ แต่ถ้าคุณขายไฟแล้วพบว่ามีปัญหา คุณก็ควรต้องจัดการเท่านั้นเอง ไม่ใช่ปฏิเสธว่ามีอำนาจส่งไฟ ขายไฟ คุณอาจไม่รู้เรื่องรายละเอียดตรงนี้ ก็ไม่ว่ากัน ความไม่ครบถ้วนตรงนี้อาจต้องคุยกัน เรื่องนี้ต้องประสานงาน ต้องดำเนินการ อย่างเดือนมิถุนายนปีที่แล้วมีการดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง เพราะเป็นที่ชัดเจน” ภูมิธรรมกล่าว