×

พลิกโฉมตลาดแรงงาน! 92 ล้านตำแหน่งโดน AI กลืน แต่ 170 ล้านตำแหน่งใหม่กำลังมา คุณพร้อมหรือยัง?

23.01.2025
  • LOADING...

ตลาดแรงงานกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตามรายงานของ World Economic Forum เผยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตลาดแรงงานโลกภายในปี 2025 โดยคาดการณ์ว่าจะมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ทั่วโลกถึง 170 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม จะมีตำแหน่งงานเดิม 92 ล้านตำแหน่งที่จะหายไปเนื่องจากการนำระบบอัตโนมัติมาใช้และความผันผวนทางเศรษฐกิจ

 

เมื่อคำนวณตัวเลขสุทธิแล้ว จะเห็นว่าตลาดแรงงานจะมีการเติบโตสุทธิที่ 78 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 7% ของการจ้างงานทั้งหมด ข้อมูลนี้ได้มาจากการสำรวจบริษัทชั้นนำ 1,000 แห่ง ซึ่งมีพนักงานรวมกว่า 14 ล้านคน ครอบคลุม 22 อุตสาหกรรมจาก 55 ประเทศทั่วโลก

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนหนึ่งเดียวของไทยที่ร่วมศึกษากับ World Economic Forum ชี้ชัดถึง ‘ตัวเร่ง’ 5 ประการที่จะปฏิวัติโลกการทำงาน นำโดยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความต้องการบุคลากรด้านพลังงานสะอาด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร และการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

น่าสนใจว่าการจัดอันดับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลกมีความสอดคล้องกัน โดยประเทศไทยให้คะแนนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงถึง 67.6 คะแนน ตามด้วยการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมที่ 64.9 คะแนน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ 62.3 คะแนน ชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญความท้าทายในระดับที่ใกล้เคียงกับนานาชาติ

 

ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เผยว่า ภายในปี 2573 2 ใน 5 ของทักษะที่มีอยู่จะถูกเปลี่ยนแปลง ข้อมูลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า 10 ทักษะแห่งอนาคตของไทยและระดับโลกมีความแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับ AI และ Big Data เป็นอันดับ 1 ตามด้วยทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์

 

ขณะที่ระดับโลกเน้นที่ AI และ Big Data เช่นกัน แต่ให้ความสำคัญกับเครือข่ายและความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอันดับ 2 และความฉลาดในการใช้เทคโนโลยีเป็นอันดับ 3

 

การศึกษายังเผยให้เห็นภาพชัดเจนของอาชีพที่มาแรงในอนาคต โดย 5 อันดับอาชีพดาวรุ่ง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data, วิศวกรด้าน FinTech, ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 

 

ในทางกลับกัน 5 อาชีพที่มีแนวโน้มหายไปประกอบด้วย พนักงานไปรษณีย์, พนักงานคีย์ข้อมูล, พนักงานธนาคาร, พนักงานแคชเชียร์และพนักงานจำหน่ายตั๋ว, สุดท้ายคือผู้ช่วยด้านงานธุรการและเลขานุการบริหาร

 

ที่น่าจับตามองคือผลการศึกษาพบว่า 50% ของธุรกิจมีแผนที่จะนำ AI มาใช้เพิ่มขึ้น และ 40% ของบริษัทวางแผนที่จะลดจำนวนพนักงานลง สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

 

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ จุฬาฯ วางกลยุทธ์ 5 ประการสำหรับประเทศไทย เริ่มจากการ ‘ยกเครื่อง’ การพัฒนาทักษะแบบองค์รวมที่ไม่จำกัดเพียงทักษะใดทักษะหนึ่ง การสร้างองค์กรที่พร้อมรับอนาคตด้วยระบบพัฒนาทักษะที่ทันสมัย การทดแทนงานซ้ำซากด้วยระบบอัตโนมัติอย่างชาญฉลาด การส่งเสริมบทบาทการทำงานแบบยืดหยุ่นที่พร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และการผสานเทคโนโลยีใหม่เข้ากับการทำงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

ที่น่าสนใจคือความแตกต่างระหว่างทักษะที่ไทยและระดับโลกให้ความสำคัญ โดยไทยเน้นการคิดเชิงวิเคราะห์เป็นอันดับ 2 และการคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับ 3 รวมถึงให้ความสำคัญกับความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม ในอันดับที่ 5 ขณะที่ระดับโลกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 7 สะท้อนให้เห็นว่าไทยยังคงยึดติดกับโครงสร้างการทำงานแบบดั้งเดิมที่เน้นลำดับชั้นการบังคับบัญชา

 

ในทางกลับกัน ระดับโลกให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและความคล่องตัว รวมถึงความอยากรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่า สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและรูปแบบการทำงาน นอกจากนี้ ทักษะด้านความเข้าใจตนเองและการตระหนักรู้ ที่ไทยจัดให้อยู่ในอันดับ 8 กลับไม่ติดอันดับ 10 ทักษะแรกของระดับโลก แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างไทยและนานาชาติ

 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การแข่งกับเครื่องจักรหรือ AI แต่อยู่ที่การผสานจุดแข็งของมนุษย์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน สร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและทักษะมนุษย์ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่ทั้งก้าวหน้าและยั่งยืน

 

ภาพ: Collagery / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising