ในวันนี้ (23 มกราคม) ตามรายงานของ IQAir กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ติดท็อป 10 ของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 เข้าขั้นวิกฤต หลายเขตมีสภาพอากาศเข้าโซนอันตรายในการใช้ชีวิต กลายเป็นพื้นสีแดงและสีม่วง
ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีหนทางแก้ปัญหาได้ โดยธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานในปี 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย
ขณะที่รายงานในหัวข้อ How to fight the next threat to our world air pollution ที่เผยแพร่โดย World Economic Forum 2566 ประเมินว่า ประชากรโลกกว่า 80% ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงจากฝุ่น PM2.5 โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 6.1% ของ GDP โลก
แล้วปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ลากมาถึงวันนี้ จะสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน ไปติดตามกัน
คาด กทม.-ปริมณฑล เสียหาย 3-6 พันล้านบาทต่อเดือน
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเมินความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาของฝุ่น PM2.5 เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะอยู่ที่ประมาณ 3-6 พันล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ ความเสียหายดังกล่าวเป็นการประเมินจากค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพ มีการเจ็บป่วยจากการสูดฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเพิ่มเข้ามา
“คนที่เจ็บป่วยจากผลกระทบจาก PM2.5 เดิมอาจจะต้องเตรียมแผนนำเงินไปไว้ใช้ทำเรื่องอื่น แต่พอเจ็บป่วยก็ต้องมีการนำเงินมาใช้รักษาพยาบาล เพื่อใช้รักษาดูแลสุขภาพตัวเอง”
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากปัญหาในเชิงของค่าใช้จ่ายในการป้องกันดูแลสุขภาพตัวเองที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การซื้อหน้ากากอนามัย เครื่องกรองอากาศ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมซึ่งเดิมสามารถทำได้ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้งที่มีผลกระทบ ไม่สามารถออกมาทำได้ตามปกติจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สูง เช่น เดิมต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน แต่หลังจากมีปัญหาฝุ่นจำเป็นต้องปรับตัวมาเป็น Work form Home มีการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี แทนการไปนั่งรับประทานที่ร้านอาหาร
ทั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็อาจได้รับผลกระทบจากค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ภาพ: ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ประจำวันที่ 23 มกราคม 2567
หวั่นวิกฤตฝุ่นพิษลากยาว สร้างความเสียหายกว่าที่คิด
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ากรอบระยะเวลาในการเกิดปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในระดับสูงจะสิ้นสุดเมื่อไร แต่หากดำเนินต่อไปในระยะยาวก็จะทำให้ค่าเสียโอกาสสูงขึ้นด้วย
เกวลินกล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สูงนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และจะกระทบต่อการเดินทางไปท่องเที่ยวในที่สุด
โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงในเขตพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สูง ซึ่งจะอาจได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวตามมาด้วยเช่นกัน รวมทั้งอาจมีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง
อย่างไรก็ดี หากมองสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ในระยะกลางถึงยาวที่มีผลกระทบในเชิงสุขภาพของประชาชน อาจจะสร้างผลกระทบตามมาที่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้สำหรับประชาชนหรือภาคแรงงาน เพราะหากสถานการณ์ปัญหาเกิดขึ้นเรื้อรังและยาวนาน ก็จะเป็นปัญหาที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปในการดูแลรักษาตัวจากการเจ็บป่วย
“ผลกระทบของการที่ประชาชนต้องมีค่ารักษาจากการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM ที่สูงในอีกมุมก็ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประเทศด้วย”
อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีความกังวลไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สูงในระยะถัดไปด้วย
ทั้งนี้ กสิกรไทยประเมินผลกระทบของปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อ CP ของไทย เนื่องจากปัจจุบันการศึกษาหรือประเมินผลผลกระทบจะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดของข้อมูลปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างกัน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในแต่ละบุคคล และในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน
เช่นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ หลายกิจกรรมกลางแจ้งอาจจะมีการงด แต่ในบางอาชีพยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงในบางพื้นที่อาจไม่ได้มีการเตรียมตัวป้องกัน เช่น การซื้อหน้ากากอนามัยมาป้องกันฝุ่นใช้เหมือนในเขตกรุงเทพฯ
ขณะที่ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในมุมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 สูง ในอีกด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเลือกเดินทางไปในเขตพื้นที่อื่นของประเทศไทยที่ไม่มีปัญหาค่าฝุ่น ซึ่งปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวยังสามารถจัดเก็บได้ค่อนข้างยาก
ผลวิจัยชี้ ฝุ่นพิษทำเศรษฐกิจไทยเสียหาย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
ก่อนหน้าช่วงนี้ช่วงปี 2566 เว็บไซต์ Thailandcan เผยแพร่บทความอ้างอิงข้อมูลของ OECD สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี คือมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยปล่อยให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้ออย่างนี้ทุกปี อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งความเสียหายนี้ยังไม่ได้คำนวณผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ซึ่งจะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นอีกมากในระยะยาว สำหรับการสูญเสียทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะเชื่อว่าจะมาจากการลดลงของรายได้ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้ง และโครงการก่อสร้างต่างๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ และค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพจะพุ่งสูงขึ้นแทน
ทั้งนี้ ย้อนดูงบประมาณรายจ่ายของประเทศในปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.4% ของเงินงบประมาณทั้งหมด เทียบกับงบด้านเศรษฐกิจที่สูงถึง 6.78 แสนล้านบาท ความแตกต่างของตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญนัก ทั้งที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็อยู่ในวาระแห่งชาติ และอากาศสะอาดก็น่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับ คงต้องจับตากันต่อไปว่าเมื่อประเทศเราตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ทุกภาคส่วนจะเดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้กันอย่างไร ก่อนที่มันจะกลายเป็นโรคเรื้อรังกัดกินเศรษฐกิจชาติไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และทุกคนในสังคมอาจต้อง ‘สำลักฝุ่น’ นี้จนฟื้นตัวไม่ขึ้นอีกนาน
ถอดบทเรียนจากสิงคโปร์-อินโดนีเซีย
ด้าน จักรี พิศาลพฤกษ์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)ระบุว่า สิงคโปร์เคยประสบปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ระดับ PM2.5 เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 471 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2013 ซึ่งเกินระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าปลอดภัย เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินหลากหลาย โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
– ออกกฎหมายควบคุมมลพิษข้ามพรมแดน สิงคโปร์ออกกฎหมาย Transboundary Haze Pollution เรียกเก็บค่าปรับ 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน (สูงสุด 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) หากพบว่าบริษัทต่างชาติมีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในประเทศ ตั้งแต่ปี 2014
– ความร่วมมือระดับภูมิภาค ผ่าน ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย
– การสนับสนุนทางเทคนิคและความช่วยเหลือด้านทรัพยากร แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการจัดการไฟป่า การแบ่งปันเทคโนโลยีที่ช่วยลดการเผาป่า และการสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเคยส่งทีมผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ดับเพลิง และเครื่องบิน C-130 เพื่อช่วยอินโดนีเซียควบคุมไฟป่าในพื้นที่เสี่ยง
สำหรับประเทศไทยก็เผชิญปัญหาในทำนองเดียวกัน คือได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนอกเหนือจากความพยายามร่างกฎหมายภายในประเทศ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด แล้ว ยังมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศได้แก่ ‘ยุทธศาสตร์ท้องฟ้าใส’ (Clear Sky Strategy) 2567-2573 ระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อตั้งเป้าหมายลด PM2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรม การขนส่ง การเกษตร และไฟป่า เป็นสำคัญ
โดยมีการวางแผนการจัดการมลพิษตามฤดูกาลที่จะมาช่วยลดผลกระทบจาก PM2.5 ข้ามแดนได้