วันนี้ (23 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมพิจารณาศึกษาและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน การใช้บัญชีม้า และการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดนแม่สาย
รังสิมันต์เผยว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุม โดยได้รับแจ้งด้วยวาจาว่าเป็นการมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าร่วมประชุม และทางกระทรวงไม่ได้ส่งตัวแทน เนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างติดตามไปที่กระทรวงว่าติดภารกิจอะไร เพราะไม่มีใครเป็นตัวแทนกระทรวงมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญคือมีการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านนอกประเทศประมาณ 17 จุด หลายจุดอยู่ที่เมียนมา และอาจสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการยาเสพติดหรือไม่ โดย 2 จุดสำคัญที่มีการพิจารณาและให้น้ำหนักอยู่ในพื้นที่ทางแม่สอด ขายไฟไปยังเมียวดี และพื้นที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปยังท่าขี้เหล็ก ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดที่มีการจับกุมและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของกระบวนการยุติธรรม
รังสิมันต์กล่าวว่า จุดแรกฝั่งแม่สอด เราได้ข้อมูลสำคัญว่าบริษัทคู่สัญญากับ กฟภ. คือ บริษัท SMTY โดย พ.ต. ติ่ง วิน เป็นระดับแกนนำของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) หรือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (KNA) และเข้าใจว่า พ.ท. หม่อง ชิต ตู่ เป็นแกนนำคนสำคัญ ซึ่งกองกำลังกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่าพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเมียวดี
รังสิมันต์ชี้ให้เห็นข้อต่อสำคัญว่า บริษัท SMTY มีความเกี่ยวโยงกับกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่เมียวดี ดังนั้นแทบไม่ต่างกับการที่ กฟภ. ทำสัญญาขายไฟให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยตรง และจุดที่สองคือทางแม่สายผ่านไปยังท่าขี้เหล็ก วันนี้มีการเปลี่ยนคู่สัญญา ปรากฏว่ามีบริษัทใหม่เข้ามาทำหน้าที่ คือ แอสตร้า อิเล็กทริค จดทะเบียนในปี 2566 แต่มีความน่าสงสัย เพราะทุนจดทะเบียนมีแค่ 1 ล้านบาท และคีย์แมนของบริษัทนี้เป็นสุภาพสตรี อายุค่อนข้างน้อย ไม่แน่ใจว่ามีเบื้องหลังหรือประสบการณ์อย่างไรในการเข้ามาทำสัญญากับการไฟฟ้า เบื้องต้นยังไม่มีการเซ็นสัญญา แต่การไฟฟ้าได้ตอบคำถามกับคณะกรรมาธิการว่ามีการคัดเลือกคุณสมบัติอย่างไร
ทาง กฟภ. ชี้แจงว่า ทางการไฟฟ้าท่าขี้เหล็กเสนอมา จึงได้นำมาพิจารณาเบื้องต้น พบว่าดูค่อนข้างแปลกประหลาดว่าทำไม กฟภ. ต้องไปยอมรับตามที่ทางท่าขี้เหล็กเสนอมา แทนที่จะใช้อำนาจของเราตรวจสอบก่อน ซึ่งตามหลัก KYC ควรจะต้องดูเบื้องหลังของคู่สัญญาที่มาทำสัญญาขายไฟฟ้าด้วย จึงต้องสงสัยว่ามีการขายไฟฟ้าให้กับนอมินีของกลุ่มที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการพยายามถามหลายครั้ง แต่ กฟภ. ก็ไม่ได้มีข้อมูลชี้แจงว่าจะตัดไฟเลย เท่าที่ทราบจะมีการประชุมในวันที่ 29 มกราคมนี้ โดยมี 3 แนวทาง คือ
- กฟภ. อาจคงสภาพการขายไฟแบบนี้ต่อไป โดยไม่ได้สนใจว่าไฟนี้จะตกไปอยู่ในมือของใครบ้าง
- ต่อขยายสัญญาบางส่วน (ปัจจุบันสัญญาสัมปทานของ SMTY กำลังจะหมดลง)
- การตัดไฟ ทำให้ไฟฟ้าไม่ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมืออาชญากรข้ามชาติ
ซึ่ง 3 แนวทางนี้เป็นไปได้หมด กฟภ. ไม่สามารถให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการได้ว่าผลที่ออกมาจากจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอการประชุมบอร์ด และคนที่มีอำนาจตัดสินใจในบอร์ดก็ไม่ได้มาประชุมด้วยในวันนี้ ทำให้ไม่สามารถทราบได้
รังสิมันต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กฟภ. พยายามบอกว่าไม่มีศักยภาพดูเรื่องความมั่นคง เพราะดูแค่เรื่องไฟ ไม่รู้ว่าไฟของเขาจะตกไปในมืออาชญากรหรือไม่ ก็จำเป็นต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นคนช่วยชี้แนะ ดังนั้นทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงแจ้งด้วยวาจากับ กฟภ. ว่าจะขอเข้าประชุมด้วย เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ค่อนข้างกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งคณะกรรมาธิการก็จะทำหนังสือสนับสนุน สมช. ไปยัง กฟภ. ด้วย
ทั้งนี้ กฟภ. ไม่อยากตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ขอรอฟังความเห็นจากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทำให้ไม่สามารถตัดไฟก่อนได้ แต่คณะกรรมาธิการก็อยากให้ กฟภ. รับฟังข่าวสารที่เมียนมาแถลงว่า ที่สแกมเมอร์ตั้งกันอยู่ได้เกิดจากการที่ประเทศไทยขายไฟให้ กฟภ. ต้องนำข้อมูลส่วนนี้ไปพิจารณาด้วย และคาดหวังว่าวันที่ 29 มกราคมจะมีข่าวดีในเรื่องนี้และนำไปสู่การตัดไฟ เพื่อทำให้ขบวนการอาชญากรข้ามชาติอ่อนแอกว่าเดิม