×

อนุ กมธ.พัฒนาการเมือง สว. เผย ประชาชนเห็นตรงกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเน้นกระจายอำนาจ

โดย THE STANDARD TEAM
20.01.2025
  • LOADING...

วันนี้ (20 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานอนุกรรมาธิการ, นรเศรษฐ์ ปรัชญากร, พรชัย วิทยเลิศพันธุ์, มณีรัฐ เขมะวงค์, กัลยา ใหญ่ประสาน, เทวฤทธิ์ มณีฉาย, วีรยุทธ สร้อยทอง, สุนทร พฤกษพิพัฒน์ และ นันทนา นันทวโรภาส 

 

คณะอนุกรรมาธิการเผยว่า จากการได้ลงพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย เพื่อพบปะภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงแนวทางการออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.

 

จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้การลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยกระบวนการหลายรูปแบบทั้งการเสวนาและการแบ่งกลุ่มระดมความเห็น 

 

เวทีในทุกจังหวัดได้รับเสียงตอบรับและการมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี สำหรับข้อสรุปจากการลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด มี 3 ประการ ดังนี้

 

1. แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกพื้นที่เห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา มีข้อเสนอที่สอดคล้องกันในทุกจังหวัดว่า รัฐธรรมนูญนั้นสัมพันธ์กับปัญหาปากท้อง และเป็นเรื่องแรกที่ต้องแก้ก่อน ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจ และส่วนใหญ่มาจากการรัฐประหาร รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย

 

จึงมีข้อเสนอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด โดยต้องมีบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความเท่าเทียมกัน รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจอย่างมาก เช่น มีข้อเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้จังหวัดปกครองตนเอง 

 

โดยเฉพาะอย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ มีความตื่นตัวและเริ่มรณรงค์แนวคิด ‘เชียงใหม่มหานคร’ ซึ่งสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีข้อเสนอให้รัฐธรรมนูญใหม่มีหลักประกันในการห้าม ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ แต่ให้แก้ไขได้ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ควรมีรายละเอียดมากเกินไป ภาษาควรเข้าใจง่ายและควรแปลเป็นภาษาชนเผ่าเพื่อความหลากหลาย 

 

2. คุณสมบัติและการได้มาของ สสร. ทุกพื้นที่เห็นตรงกันว่า สสร. ต้องมาจากประชาชน แต่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนและที่มา ซึ่งมีการเสนอจากทั้งสัดส่วนอาชีพและผู้เชี่ยวชาญ และสัดส่วนจากการเลือกตั้งคู่ขนานกัน สสร. ต้องมีความโปร่งใส ควรให้ภาคประชาชนตรวจสอบถ่วงดุลได้ ควรมีข้อกำหนดเรื่องช่วงอายุขั้นต่ำและขั้นสูง โดยให้โอกาสคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อายุ 16-25 ปี ทั้งนี้ สสร. ต้องมีความหลากหลาย จากทั้งกลุ่มอาชีพ เพศสภาพ ชาติพันธุ์ และกลุ่มเปราะบาง 

 

ขณะเดียวกัน สสร. ควรมีความเป็นตัวแทนเชิงประเด็นมากกว่าเชิงพื้นที่ สสร. ควรทำงานอย่างน้อย 1 รอบปีเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และมีข้อเสนอให้ สสร. ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อย 5 ปีหลังร่างเสร็จ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

 

3. การบ้านถึงวุฒิสภาจากประชาชนในพื้นที่ ทุกจังหวัดมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นเกี่ยวกับ สว. เช่น เชียงใหม่มีการเสนอเรื่องกฎหมายเชียงใหม่มหานครให้ สว. ช่วยผลักดัน ลำพูนเสนอเรื่องการมีอยู่ของ สว. ว่าควรคงอยู่หรือไม่ โดยส่วนใหญ่เสนอให้คงไว้เช่นเดิม แต่ให้มีทั้งตัวแทนพื้นที่และกลุ่มอาชีพ  

 

พร้อมฝากให้ สว. สนับสนุนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด รวมถึงปัญหาขยะที่อยากให้แก้ไขอย่างเป็นระบบโดยประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ โดยอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ จะนำทุกข้อเสนอจากการลงพื้นที่ไปประมวลเป็นรายงานเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising