ในบทสนทนาลูกหนังข้างสนามหลากหลายเรื่องราวระหว่างที่ทีมออกมาพักชั่วคราว (เพิ่งแพ้และรอต่อคิวลงไปใหม่…) ผมเปิดประเด็นคำถามกับรุ่นน้องที่ทำหน้าที่ดูแลนักฟุตบอลระดับอาชีพจนถึงนักเตะทีมชาติไทยมาหลายคนในเรื่องที่สงสัยมาสักพักแต่หาคนคุยด้วยไม่ได้
“ตัวลูกครึ่งโอนกันมาเต็มแบบนี้ จะเป็นผลดีกับวงการฟุตบอลไทยไหม?”
ผมตั้งคำถามนี้หลังจากเห็นกระแสของการดึงนักฟุตบอลลูกครึ่งมาเล่นให้ทีมชาติไทยเยอะจนชวนให้คิดถึงสมัยสัก 30 ปีก่อนที่วงการบันเทิงไทยเต็มไปด้วยดาราลูกครึ่งที่มีเชื้อสายตะวันตกได้รับบทพระเอก-นางเอกกันเต็มไปหมดจนเหมือนเป็น Privillege ที่เหนือกว่านักแสดงเชื้อสายไทยแท้
“แล้วพี่คิดแบบไหน?” ยังไม่ทันได้คำตอบ ผมกลับโดนยิงคำถามกลับแทน และเป็นคำถามที่ดีเหมือนกัน
นั่นสิ
คำตอบแรกที่ผมบอกไปตามประสานักเขียนที่ตอนนี้เคราเริ่มถูกปกคลุมด้วยสีขาวเกือบทั้งหมด “พี่ไม่ค่อยชอบ”
ความไม่ชอบใจนั้นเพราะมองว่านักเตะเหล่านี้ถูกโน้มน้าวให้เล่นทีมชาติไทยผ่านเส้นทางลัดที่ถูกอำนวยความสะดวกให้อย่างดี มีคนโบกไฟบอกทางคอยดูให้เดินทางอย่างสะดวกและใช้เวลาน้อยกว่ามาก ในขณะที่นักเตะอีกจำนวนมากพยายามแทบตายบางคนไม่เคยได้โอกาสแบบนี้เลย
แม้จะเรียนรู้จากชีวิตของตัวเองว่าความพยายามนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่วาสนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ตาม
“พี่ว่าพวกเขาถูกปฏิบัติอย่างพิเศษ เห็นใจนักเตะไทยที่เขาไม่ได้รับการปฏิบัติแบบนี้” แต่ก็ปิดท้ายว่าเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลระดับอาเซียนที่หลายชาติใช้วิธีการแปลงสัญชาติของนักฟุตบอล (Naturalization)
อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และเวียดนาม คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเรื่องนี้จะหยุด
ที่สำคัญคือมันพอมองเห็นได้เลยว่า ‘ระดับ’ ของทีมเหล่านี้ถูกดันให้สูงขึ้นมาในระยะเวลาอันสั้นหลังมีนักเตะแปลงสัญชาติเหล่านี้
ถ้าผมเป็นคนดูแลทีมชาติไทย ผมก็อาจจะนิ่งนอนใจไม่ไหวเหมือนกัน เข้าใจได้
อย่างไรก็ดีมันก็วนกลับมาที่คำถามว่า สิ่งที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทำอยู่นั้นคือสิ่งที่ดีและถูกต้องที่สุดแล้วใช่ไหม?
แล้วในวงการฟุตบอลมีกรณีศึกษาในเรื่องแบบนี้มาก่อนไหม
ผมเก็บคำถามเรื่องนี้ทดไว้ในใจ ก่อนจะมานึกออกอีกทีเมื่อเห็นภาพของ คาโอรุ มิโตมะ ที่นอกจากจะใช้ทักษะการควบคุมลูกฟุตบอลอันน่าอัศจรรย์สร้างปัญหาให้กับแผงหลังของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังกระโจนเข้าไปยิงประตูที่เสาไกล ซึ่งทำให้ไบรท์ตันขึ้นนำอีกครั้งก่อนจะบุกมาคว้าชัยชนะที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ประตูนี้ทำให้ ‘มิโต’ (ชื่อที่แฟนบอลไบรท์ตันเรียกสั้นๆ) กลายเป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นที่ทำประตูในพรีเมียร์ลีกได้สูงสุดที่จำนวน 15 ประตู แซงหน้ารุ่นพี่ทุกคนรวมถึง ชินจิ คางาวะ ขณะที่ วาตารุ เอ็นโดะ กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้เป็นตัวหลักของลิเวอร์พูล แต่ก็เป็นผู้เล่นที่ได้รับการยกย่องยอมรับอย่างสูงทั้งในเชิงของความเป็นมืออาชีพและฝีเท้าที่ต่อกรกับนักฟุตบอลระดับโลกได้
กว่าที่นักเตะญี่ปุ่นจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาอยู่เหมือนกันครับ
เคยมีแม้กระทั่งนักฟุตบอลแปลงสัญชาติที่ไม่ใช่นักเตะลูกครึ่งแบบที่ทีมชาติไทยกำลังตามหาจากทั่วโลกในเวลานี้ด้วย
หลายคนน่าจะพอเคยได้ยินชื่อของ อเลสซานโดร โดส ซานโตส หรืออเล็กซ์ อดีตดาวเด่นทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงปี 2002-2006 หรือ มาร์คัส ตูลิโอ ทานากะ อดีตปราการหลังทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้
แต่ถ้าย้อนกลับไปให้ไกลกว่านั้น วากเนอร์ โลเปส และ รุย รามอส คือสองซูเปอร์สตาร์ลูกหนังที่แปลงสัญชาติมาก่อนหน้านี้ในช่วงยุค 90 ซึ่งคนแรกอยู่ในทีมชาติญี่ปุ่นที่ได้เล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998 ส่วนคนหลังเคยเป็นสตาร์เบอร์หนึ่งของเจลีกแต่อกหักเพราะทีมพลาดตั๋วไปฟุตบอลโลก 1994
ส่วนนักเตะแปลงสัญชาติคนแรกของญี่ปุ่นต้องย้อนกลับไปไกลถึงทศวรรษที่ 1970 อย่าง ไดชิโร โยมิอุระ หรือชื่อเดิมว่า เนลสัน โยชิมูระ
โดยทั้ง 5 ชื่อที่กล่าวมานี้คือนักเตะที่เกิดในประเทศบราซิลล้วนๆ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นไม่ได้ใช้บริการของนักฟุตบอลแปลงสัญชาติเหล่านี้มากนัก แม้ว่าการมาถึงของนักเตะเหล่านี้จะช่วยยกระดับทีมได้แทบจะทันทีก็ตาม
และก็แทบไม่มีการไปตามล่าดึงนักเตะลูกครึ่งที่เกิดในต่างประเทศมาเล่นด้วย
สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถทำแบบนั้นได้เป็นเพราะพวกเขาเชื่อใน ‘วิธี’ ที่แตกต่าง
พวกเขาเลือกจะใช้วิธีการปลูกต้นไม้อย่างทะนุถนอม ใส่ปุ๋ยพรวนดิน โดยที่แทบไม่ได้ใช้ทางลัดอย่างการตัดแต่งกิ่งก้านให้ได้ผลผลิตที่ดีเป็นหลัก
ไม่ได้แปลว่าวิธีการตัดแต่งนั้นผิดนะครับ ตราบใดที่ได้ผลผลิตที่คนปลูกพอใจ จะใช้วิธีแบบไหนก็แล้วแต่คน เพียงแต่คนในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมองเห็นอีกแบบ และวางแนวทางเอาไว้มาตั้งแต่ก่อนวันแรกของฟุตบอลเจลีกในปี 1993 แล้ว
แผนนั้นหลายคนน่าจะเคยพอได้ยินมาแล้วคือ ‘แผนหนึ่งร้อยปีเจลีก’ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะวงการฟุตบอลญี่ปุ่นถึงจุดตกต่ำที่สุดในช่วงปี 1991
โดยในช่วงเวลานั้นวงการฟุตบอลญี่ปุ่นกลับมาบูมอีกครั้งก็เพราะกระแสของนักฟุตบอลต่างชาติ
เพียงแต่ตัวต่างชาติสำหรับพวกเขานั้นไม่ได้หมายถึงนักเตะโนเนม แต่เป็นนักฟุตบอลระดับโลกที่ผ่านเกมระดับสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ‘เปเล่ขาว’ ซิโก้, แกรี ลินิเกอร์, ดราแกน สตอยโควิช, กีโด บุควัลด์, ปิแอร์ ลิตต์บาร์สกี และ กาเรก้า
นักเตะพวกนี้คือผู้เล่นระดับโลกของจริงที่ถูกดึงตัวมาแล้วกระจายตัวไปตามทีมต่างๆ ในเจลีก เช่น ซิโก้ อยู่กับ คาชิมา อันท์เลอร์ส, ลิตต์บาร์สกี อยู่กับเจฟ ยูไนเต็ด อิจิฮาระ, ลินิเกอร์ อยู่กับ นาโกยา แกรมปัส เอต (ที่มี อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีม)
นักฟุตบอลเหล่านี้เป็นเหมือน ‘ไม้แก่’ ไม่ใช่ไม้ที่จะนำมาใช้ตัดแต่งกิ่งก้านใบได้
แต่อย่างน้อยต่อให้ถึงวันที่หักโค่นก็ยังใช้พยุงต้นไม้ที่กำลังปลูกไว้ได้
ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่นักฟุตบอลเหล่านี้อยู่ นอกจากกระแสที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คนญี่ปุ่นเก็บมาใช้คือองค์ความรู้ วิธีการเล่น วิธีการคิด วิธีการมอง การเตรียมตัว การปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ค่อยๆ ซึมซับและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
มีบ้างที่พวกเขาใช้บริการนักฟุตบอลแปลงสัญชาติ แต่คนที่ได้โอกาสนั้นล้วนเป็นผู้เล่นในระดับสตาร์ของเจลีกที่พิสูจน์ฝีเท้าเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับเท่านั้น
ด้วยวิธีนี้แม้มันอาจจะใช้ระยะเวลาเนิ่นนานมากกว่า กินเวลาเป็นสิบๆ ปี ใช้นักฟุตบอลหลายรุ่น หลายเจเนอเรชัน แต่ก็เป็นวิธีการยกระดับมาตรฐานของเกมฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาไม่เคยลืมการบำรุงรักษารากแก้วของทุกสิ่งทุกอย่าง คือระบบฟุตบอลเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาและดูแลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA)
พร้อมกับอีกเส้นทางของความฝันอย่างระบบฟุตบอลนักเรียน เหมือนที่เห็นกันในสัปดาห์ก่อนกับเกมฟุตบอล 冬の国立 Fuyu no Kokuritsu (https://thestandard.co/japanese-high-school-football-tournament-2024/) หรือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์มัธยมปลายแห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งถนนของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้อยู่ในอะคาเดมีฟุตบอล
สิ่งเหล่านี้ทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่นพัฒนาอย่างยั่งยืน จนปัจจุบันยืนหยัดได้อย่างสง่างามในเวทีฟุตบอลระดับโลก
จาก คาซูโยชิ มิอุระ, ฮิเดโตชิ นากาตะ, ชุนสุเกะ นากามูระ, เคสุเกะ ฮอนดะ, ชินจิ คากาวะ มาถึง คาโอรุ มิโตมะ และปัจจุบันนักเตะทีมชาติชุดใหญ่แทบทั้งหมดค้าแข้งในลีกต่างประเทศ
คิดแล้วมันก็ชวนให้คิดถึงปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ Ikigai (https://thestandard.co/life/ikigai/) ที่โด่งดังของญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยแก่นแล้ว Ikigai เป็นการค้นหาความสมดุลระหว่าง 4 สิ่ง
- สิ่งที่คุณรัก
- สิ่งที่คุณเก่ง
- สิ่งที่โลกต้องการ
- สิ่งที่ทำให้คุณได้รับผลตอบแทน
ฟุตบอลญี่ปุ่นรู้ว่าพวกเขารักอะไร พวกเขาเก่งเรื่องไหน รู้ว่าโลกต้องการอะไร และการทำสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาได้รับผลตอบแทนอย่างไร และทำทุกสิ่งอย่างดีที่สุดจนทำให้มีวันนี้
วันนี้ที่นักเตะญี่ปุ่นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแค่ ‘สินค้า’ หรือ ‘มาสคอตขายเสื้อ’ หรือ ‘เครื่องมือโปรโมตทางการตลาด’ เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตอีกแล้ว – แม้ว่าพวกเขาจะยังคงเป็นผลพลอยได้ที่ทำรายได้มหาศาลให้แก่สโมสรฟุตบอลต้นสังกัดในยุโรปก็ตาม
ย้อนกลับมาถึงฟุตบอลไทย ถ้าเลือกได้ผมเองก็อยากเห็นวงการฟุตบอลไทยเติบโตอย่างมั่นคงในแบบเดียวกัน
เพียงแต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นครับ วิธีการที่ใช้ได้ดีในที่หนึ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ผลดีในอีกที่หนึ่งเสมอไป และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ ‘เวลา’ ที่บางครั้งสำหรับบางคนอาจจะรอคอยไม่ไหว
เราเคยได้ยินคำพูดเสมอว่า “จะไปฟุตบอลโลกในอีก…ปี”
ยิ่งตอนนี้เห็นชาติในภูมิภาคเดียวกันที่เคยคิดว่า ‘อยากจะก้าวข้าม’ ใช้วิธีทางลัดตัดต่อจนทีมแกร่งขึ้นอย่างน่าตกใจ และดูจะยิ่งจริงจังกว่าในอดีตที่ผ่านมาเพราะเริ่มรู้สึกว่าวิธีแบบนี้ใช้ได้และได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจกลับมา
เราจะเห็นการออกตามหานักฟุตบอลที่มีสายเลือดคนไทยในต่างแดนประหนึ่งลูฟี่ออกเรือตามหาวันพีซก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร (เพราะการแปลงสัญชาติของไทยยากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก)
ผมเข้าใจ
บ้านเรายังขาดพื้นฐานอยู่อีกมาก และแทบมองไม่เห็นหนทางจะทำให้ฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่ยั่งยืน ยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างแท้จริง
เรามีผู้ฝึกสอนที่เก่งและทันกระแสของโลกลูกหนังน้อยเกินไป รวมถึงสิ่งที่รุ่นน้องของผมบอกเอาไว้และน่าสนใจ “นักฟุตบอลเด็กๆ ของเรายังขาดการศึกษาที่ดี ตรงนี้ต่างจากนักฟุตบอลลูกครึ่งที่ได้รับการศึกษาพื้นฐานที่ดีกว่าจากต่างประเทศ”
ไหนจะเรื่องของทัศนคติและจิตใจ จนถึงการดูแลร่างกายตัวเอง นักเตะลูกครึ่งเหล่านี้เข้าใจคำว่า ‘มืออาชีพ’ เป็นอย่างดี
หวังว่าวิธีการที่ฟุตบอลไทยเลือกใช้จะได้ผลตอบแทนที่ดีกลับมา
ไม่ต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่ต้องกลับมาบอกกันในคำพูดเดิมๆ อีก
เหมือนญี่ปุ่นที่วันนี้พวกเขาไม่ได้พูดเรื่องการไปฟุตบอลโลกมา 30 ปีแล้ว เพราะตอนนี้พวกเขามองไปไกลถึงการเป็นแชมป์โลกแล้ว
“เอ้า ถึงตาพวกเราลงแล้ว” ผมหันไปบอกรุ่นน้อง
จบบทสนทนาภาษาลูกหนังของเราไว้แค่นี้ตรงนี้ก่อน