×

IMF คาด เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% ในปี 2025 โตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนและโลก

20.01.2025
  • LOADING...
IMF เศรษฐกิจไทย

IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยจ่อขยายตัวเพียง 2.9% ในปี 2025 นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนและโลก โดย IMF ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และ 2026 ที่ 3.3% ยังไม่กลับไปค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโรคโควิด (ระหว่างปี 2000-2019) ซึ่งโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7%

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงาน World Economic Outlook (WEO) ฉบับเดือนมกราคม 2025 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.9% ในปี 2025 นับว่าลดลงเล็กน้อยจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 3% ในรายงาน WEO ฉบับเดือนตุลาคม 2024 โดย IMF ยังคาดการณ์ต่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงเหลือ 2.6% ในปี 2026

 

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยดังกล่าวยังนับว่า ‘ต่ำกว่า’ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่ง IMF ประมาณว่าจะขยายตัว 3.3% ทั้งในปี 2025 และ 2026 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มเศรษฐกิจ ASEAN-5 ที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ 4.6% และ 4.5% ในปี 2025 และ 2026 ตามลำดับ

 

โดยกลุ่ม ASEAN-5 ของ IMF ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย

 

ทั้งนี้ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 2.9% ในปี 2025 นับว่า ‘ไม่เปลี่ยนแปลง’ ไปจากเอกสารการประชุมหารือกับประเทศสมาชิกเป็นประจำ (Article IV Consultation) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2024

 

โดย Article IV Consultation ระบุว่า “ปัจจัยที่หนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางแผนไว้ และการลงทุนภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นตามแผนงบประมาณปี 2025 นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ยังคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายทุนของภาครัฐและการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างไรก็ตาม IMF ระบุว่า การคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศที่จะเกิดขึ้นด้วย”

 

เศรษฐกิจโลกยังโตไม่ได้เท่าช่วงก่อนโรคโควิด

 

ในรายงาน WEO ฉบับล่าสุด IMF ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 และ 2026 ที่ 3.3% นี้นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ระหว่างปี 2000-2019) ซึ่งโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7%

 

ทั้งนี้ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ IMF สำหรับปี 2025 นั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ในรายงาน WEO ฉบับเดือนตุลาคม 2024 เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แต่มีการปรับลดประมาณการของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ

 

IMF ระบุอีกว่า ความเสี่ยงในระยะกลาง (Medium-Term Risks) มีแนวโน้มเอียงไปทางขาลง ขณะที่แนวโน้มในระยะใกล้ (Near-Term Outlook) ก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ความเสี่ยงในทิศทางขาขึ้นอาจทำให้การเติบโตที่แข็งแกร่งอยู่แล้วในสหรัฐฯ ดีขึ้นอีกในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในประเทศอื่นๆ กลับอยู่ในขาลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การหยุดชะงัก (Disruptions) ของภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) ที่อาจเกิดจากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจขัดขวางการเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการคลังและเสถียรภาพทางการเงินอีก

 

“ในการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายที่เน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการสร้างกันชน (Buffer) ขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับการยกระดับแนวโน้มการเติบโตในระยะกลาง ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงการสร้างกฎระเบียบและความร่วมมือพหุภาคีที่แข็งแกร่งขึ้น” IMF ระบุ

 

ภาพ: NicoElNino / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising