ก้าวสู่ปีที่ 50 ย้อนกลับไปยุคบุกเบิก เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง ‘อุตสาหกรรมไทย’
“ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราพัฒนาพื้นที่จากวันแรกแค่ 300 ไร่ จนถึงวันนี้ 60,000-70,000 ไร่ ระหว่างทางเราผ่านหลายวิกฤต ทั้งต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ เราจะไม่ทำอะไรเสี่ยงเกินตัว และเป้าหมายต่อไปก็อยากจะทำเป็นเมืองให้สำเร็จ” วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เกริ่นก่อนเข้าสู่บทสัมภาษณ์
วิกรมระบุว่า ต้องยอมรับว่าภาคการผลิตของไทยต่างจากในอดีต ย้อนกลับไปหลายปีก่อน เมื่อเปรียบกับวันนี้สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือเรื่องของ ‘เทคโนโลยี’ และไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ทำได้ดี กระทั่งสามารถสร้างเป็นจุดเด่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เราทำได้ดี คือผู้ประกอบการทำได้ดี ไม่มีของที่ผลิตแล้วใช้ไม่ได้เลย
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เราแข็งแกร่งที่สุดของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเรามีเสน่ห์และความโดดเด่น มีบริษัทใหญ่ๆ มาสร้างโรงงานในนิคมฯ อมตะ ซึ่งโรงงานเหล่านี้มาเมืองไทยเพราะอะไร เพราะเรามีคุณภาพ มีพื้นที่ มีอะไหล่ที่ดี ไม่เพียงแค่นั้น อุตสาหกรรมการแพทย์เราสามารถรักษาได้ทุกโรค รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละถึง 40 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คุยกับ ‘BOI’ ทำไมไทยเนื้อหอม ต่างชาติเลือกย้ายฐานผลิตมาไทย กับแผนหนุนอุตสาหกรรม Local Content หนุนรายใหญ่ดันหลังรายเล็ก
- ส่อง 5 อุตสาหกรรมมาแรงและทำเลทองที่ต่างชาติย้ายฐานผลิตมาไทยมากสุด BOI เผย คำขอลงทุน 9 เดือน พุ่ง 7.2 แสนล้านบาท ทุบสถิติรอบ 10 ปี
“ผมมีโอกาสกินข้าวกับผู้บริหารระดับโลก หลายท่านต่างชื่นชอบเมืองไทย เช่น BMW ถึงกับบอกว่า เขาต้องหาอาหารไทยกินที่เยอรมนี เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยมีเสน่ห์หลายมิติและมีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง”
Trade War-ภูมิรัฐศาสตร์ พลิกเกมอานิสงส์คลื่นทุนต่างชาติย้ายฐานผลิต
ตลอดระยะเวลา 50 ปีของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มีส่วนร่วมในการเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็ง ‘เลือกพื้นที่’ และ ‘ทำเล’ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการลงทุนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่สามารถพัฒนานิคมฯ สู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบ (Perfect City) ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
วิกรมฉายภาพอีกว่า สิ่งที่เห็นระยะหลังคือโลกที่ท้าทายและกระแสการลงทุนเปลี่ยนแปลง และปีนี้จะเห็นโอกาสใหม่ๆ ของคลื่นการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitics) และสงครามการค้า (Trade War) จะเป็นโอกาสให้อมตะเดินหน้าขยายพื้นที่การลงทุน 3 ประเทศ
นั่นคือ ไทย และเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและ สปป.ลาว เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค ซึ่งอมตะวางยุทธศาสตร์ฐานการผลิตเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เลือกทำเลรับกระแสการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ คืออุตสาหกรรม S-Curve
จากปัจจุบันอมตะมีโรงงานของผู้ประกอบการทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติทั้ง 3 นิคมฯ โรงงาน ประกอบด้วยนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี, นิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง และนิคมฯ ไทย-จีน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกพื้นที่ลงทุนให้สอดรับกับความต้องการเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลก
“เวลากว่า 50 ปี ได้พัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ไปแล้วกว่า 20,000 ไร่ ครอบคลุมในประเทศไทย 15,000 ไร่, สปป.ลาว 6,000 ไร่ และเวียดนามกว่า 1,000 ไร่”
นับจากปีแรกจนถึงปี 2567 อมตะลงทุนไปแล้วกว่า 230,000-250,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 20-30%
“ปีที่แล้วอมตะมีการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุด และยังมีโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะราวๆ 80-90 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ Data Center เข้ามาลงทุน มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท”
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการประเทศจีนลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทบนพื้นที่ 400 ไร่
“นับเป็นปีที่ดีของกลุ่มอมตะในการขายที่ดินได้สูงสุดตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการพัฒนาศักยภาพทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่กับความร่วมมือกับพันธมิตรที่เข้มแข็งและการวางแผนที่สอดคล้องกับความต้องการนักลงทุน”
ดัน ‘อมตะ ยู’ ดึงทีมมืออาชีพสร้างโมเดลเมือง ‘Eternal Dream’
วิกรมบอกอีกว่า ปีที่ผ่านมาทางบริษัทอมตะได้พัฒนาองค์กรและวางโครงสร้างธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราได้ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการ ซึ่งดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรม
โดยโอนธุรกิจดังกล่าวให้กับบริษัท อมตะ ยู จำกัด และดึงทีมงานผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ เก่ง รวมถึงเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มาเสริมทัพทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้นิคมที่เราพัฒนาก้าวสู่การเป็น ‘เมืองแห่งความสมบูรณ์แบบและยั่งยืน’ หรือ ‘Eternal Dream’ ซึ่งหมายความว่าจะประกอบด้วยการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน และการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน
โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้มีแหล่งน้ำสำรองที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 2 ปี ซึ่งกำลังขุดบ่อน้ำเพิ่มอีก 1 บ่อ หากบ่อน้ำเสร็จแล้วจะสามารถรองรับการมีน้ำใช้ได้ถึง 3 ปี พร้อมระบบการกักเก็บน้ำฝนจากพื้นที่รับน้ำกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อนำมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ลดการสูญเสียน้ำและต้นทุนการจัดหาน้ำ ไฟฟ้าที่พร้อม และที่สำคัญคือจากพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ลุยจีบบิ๊กคอร์ป ดึง FDI ปักฐานผลิต ‘S-Curve’
สำหรับสิ่งที่มองไปในปี 2568 การลงทุนในไทย อมตะพร้อมพัฒนานิคมฯ ต่อเนื่อง และยังมีพื้นที่ที่ยังสามารถพัฒนาอีก 15,000 ไร่ โดยเฉพาะการรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ S-Curve ไม่ว่าจะเป็น
- อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
- อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
- ดิจิทัลและคลาวด์
- Data Center
เนื่องจากอมตะมีความพร้อมในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค น้ำ และไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะไฟฟ้าสะอาดที่มีแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายทยอยลงทุนตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเพื่อให้การผลิตเป็นไปตามเงื่อนไขกฎระเบียบการค้าโลก
ยึดยุทธศาสตร์รถไฟฟ้าความเร็วสูง ‘ยึดหัวหาดเวียดนาม’
วิกรมกล่าวอีกว่า ปีนี้จะเป็น ‘ก้าวใหม่’ ของบริษัทอมตะ นอกเหนือจากในไทยแล้วยังมีฐานการลงทุนที่สำคัญ เจาะไปที่ ‘เวียดนามและ สปป.ลาว’ รวมทั้งธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต
“เรามองไปที่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศเพื่อรองรับและตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุน ทั้งเวียดนามและ สปป.ลาว โดยเมื่อเร็วๆ นี้อมตะอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนานิคมฯ ใหม่ในจังหวัดฟู้เถาะ ทางตอนเหนือของเวียดนาม ใกล้ชายแดนจีน ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เชื่อมเส้นทางรถไฟจากเวียดนามสู่จีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่ง”
โดยสิ่งที่ผมมอง คือพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟจากเวียดนามไปยังจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและการขนส่งจากภูมิภาคอาเซียนไปยังตลาดจีนที่ถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
เราตั้งเป้าเฟสแรกว่าจะพัฒนาที่ดิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนออกแบบพื้นที่ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะเวียดนามมีอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจที่สูงมาก ประมาณ 5-6% ต่อปี และมีแนวโน้มถึง 7% ถือว่ามาแรงและสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
บุก สปป.ลาว เต็มสูบ ปัก ‘ทำเลทอง’ เชื่อมภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ สปป.ลาว ซึ่งถือว่าเป็น ‘หมุดหมายใหม่’ ของการลงทุนของบริษัทอมตะ โดยบริษัทมีแผนพัฒนาที่ดินในเฟสแรกจำนวน 6,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดินและเช่าพื้นที่จากรัฐบาล สปป.ลาว จำนวนทั้งสิ้น 130,000 ไร่
ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จ ก่อนเปิดขายให้กับนักลงทุนที่สนใจ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดขายเชิงพาณิชย์ได้ภายในสิ้นปี 2568
“ที่ตรงนั้นส่วนใหญ่รองรับกลุ่มนักลงทุนอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตรและโลจิสติกส์ เนื่องจากสามารถใช้เป็นเส้นทางการค้า การลงทุน เชื่อมภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังสนับสนุนเศรษฐกิจและประชาชน สปป.ลาว ทั้งในด้านการเกษตรและการสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น” วิกรมกล่าว
โดยแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ที่วางแผนไว้ มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนหลากหลายเชื้อชาติรวมทั้งจีน ด้วยศักยภาพของพื้นที่นิคมฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในแขวงอุดมไซ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงนาหม้อ มีระยะทางห่างจากชายแดน สปป.ลาว-จีน ประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของจีนที่มีนโยบายการลงทุนแบบข้ามทวีปในระยะยาว จีนมีเป้าหมายคือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ผ่านโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative: BRI)
ภาพ: Lauren DeCicca / Getty Images
“พื้นที่การพัฒนานิคมฯ ในเวียดนามยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมถึง สปป.ลาว”
ดังนั้นทำให้การขยายการลงทุนในภูมิภาคของ 2 ประเทศ ทั้งเวียดนามและ สปป.ลาว จะช่วยให้อมตะมีฐานการผลิตที่หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงตลาดอาเซียน
เมื่อถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม วิกรมกล่าวว่า สำหรับเวียดนามมีแรงงานฝีมือดีและต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่จีนที่ลงทุนในเวียดนามเยอะ ยังมีเกาหลีใต้ ซึ่งมีการลงทุนในเวียดนามหมื่นกว่าโรงงาน
ปัจจุบันมีนิคมฯ ที่พัฒนาเพื่อรองรับการลงทุนทั้งตอนเหนือ กลาง และใต้ รวมทั้งสิ้น 3 นิคมฯ หลัก และ 1 นิคมร่วมทุน ประกอบด้วย 1. นิคมฯ อมตะซิตี้ เบียนหัว 2. นิคมฯ อมตะซิตี้ ลองถั่น 3. นิคมฯ อมตะซิตี้ ฮาลอง และ 4. นิคมฯ กวางจิ (Joint Venture)
“ที่เวียดนามเรายังมีโอกาสอีกเยอะมาก เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทเทครายใหญ่หลั่งไหลมาเวียดนาม ด้วยแต้มต่อ FTA แรงงานหนุ่มสาว และอีกหลายๆ ปัจจัย สปป.ลาว ก็ติดกับจีน เราสามารถใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมทวีปอื่นต่อไปได้ ไทยเองก็มีไฟฟ้าพร้อม มีการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ”
อมตะในฐานะผู้พัฒนานิคมฯ ทำธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสังคมมาตลอด 50 ปี ควบคู่กับการวางรากฐานทางธุรกิจ Core Business ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่สะท้อนได้จากแนวคิดการพัฒนาธุรกิจของอมตะ ตามปรัชญา ‘All Win’ ที่ให้ความสำคัญทั้งด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
ชิงโอกาสลงทุนยุคทรัมป์ 2.0
เมื่อถามวิกรมว่า มองการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีพิธีสาบานตนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรนั้น วิกรมตอบว่า แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องจับตาคือทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% และประเทศอื่นๆ ที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ
“ถ้าจีนส่งไปสหรัฐฯ แพงขึ้น ปีนี้น่าจะเป็นปีแห่งโอกาสที่อาจเห็นคลื่นการย้ายฐานผลิตมายังไทยและอาเซียน”
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีผลต่อการลงทุนภูมิภาคอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นสัญญาณการย้ายฐานการผลิตนอกประเทศจีนมาต่อเนื่อง
“วันนี้ใครๆ ก็ไปลงทุนที่เวียดนาม อีกส่วนก็มาไทย เราจะได้อานิสงส์ย้ายฐานผลิตจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ฉะนั้นอมตะก็ต้องจัดหาที่ดินรองรับการย้ายฐานจากจีน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อมตะมุ่งขยายการลงทุนในไทยและเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว-เวียดนาม ”
ถึงวันนี้อมตะจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก
“เราจะทำในสิ่งที่ถนัด ไม่ทำอะไรที่เกินตัว” วิกรมทิ้งท้าย