คดีการเสียชีวิตของนักแสดงหญิง แตงโม-ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ที่กำลังจะก้าวสู่การครบรอบ 3 ปีของการจากไป วันนี้ (16 มกราคม 2568) การสูญเสียที่เกิดขึ้นถูกหยิบยกมาพูดและจำลองเหตุการณ์ให้เสมือนวันที่เกิดเรื่อง (24 กุมภาพันธ์ 2565) อีกครั้ง
ด้วยฝั่งหนึ่งของสังคมมองว่าการเสียชีวิตของแตงโมยังไม่สามารถสรุปจบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการฆาตกรรม แตงโมยังไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน และต่อมามีฐานะเป็นจำเลยในคดี มองว่าการจำลองที่จัดขึ้นเป็นเพียงละครให้ความบันเทิงที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ประชาชนรับรู้ พร้อมขอให้หยุดซ้ำเติมแตงโม
ข้อเห็นต่างและการรื้อเรื่องราวคราวนี้จะส่งผลอย่างไรกับแฟ้มคดีแตงโม
เมื่อ 3 ปีก่อน เกิดอะไรขึ้นกับแตงโม
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 แตงโมกับเพื่อนรวม 6 คน นัดหมายลงเรือสปีดโบ๊ตที่อู่จอดเรือแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี เพื่อล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวิว และรับประทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารในจังหวัดปทุมธานี หลังรับประทานอาหารเสร็จได้นั่งเรือชมวิวและแวะถ่ายรูปตามจุดต่างๆ
ขณะเดินทางกลับอู่จอดเรือ บริเวณท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เวลา 22.34 น. แตงโมตกจากเรือลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเวลา 23.42 น. ศูนย์วิทยุสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองนนทบุรี ได้รับแจ้งเหตุหญิงตกเรือลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานระดมค้นหา
จนกระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 13.40 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบร่างลอยอยู่ห่างจากท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ประมาณ 235 เมตร แพทย์เริ่มขั้นตอนการชันสูตร ตำรวจเริ่มแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ด้วยคดีนี้เป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งให้ พล.ต.ท. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) เป็นผู้ควบคุมการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนถึง 4 ฉบับ จากภูธรจังหวัดนนทบุรี 3 ฉบับ และภูธรภาค 1 อีก 1 ฉบับ
ตลอดระยะเวลามีการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งบุคคล แวดล้อม ลักษณะทางกายภาพของที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิด ความเร็วเรือ ระบบ GPS และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็น
- พยานบุคคล รวม 124 ปาก ได้แก่
พยานที่ติดต่อผู้ที่อยู่บนเรือ 26 ปาก
พยานบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 62 ปาก
พยานผู้เชี่ยวชาญ 16 ปาก
พยานเจ้าหน้าที่ 20 ปาก
- พยานเอกสาร ได้แก่
ผลการตรวจต่างๆ 47 ฉบับ
พยานวัตถุ 88 ชิ้น
ไฟล์คลิปวิดีโอ 200 ไฟล์
เอกสารสำนวน 2,249 แผ่น
ชะตากรรมของคนบนเรือ
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่หลังเกิดเหตุในคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อนร่วมเดินทางทั้ง 6 คนของแตงโมตกเป็นจำเลยของสังคมในทันที ด้วยข้อพิรุธหลายอย่างที่ปรากฏ เช่น การหายตัวไปหลังเกิดเหตุ การเข้าพบตำรวจล่าช้า ซึ่งต่อมาเปิดใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำตามคำแนะนำของทนายความท่านหนึ่งที่ทีแรกจะช่วยว่าความให้ ก่อนจะหันหัวเรือไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมตั้งคำถามถึงเพื่อนทั้ง 6 คน เช่น
แตงโมปัสสาวะที่ท้ายเรือจนเป็นเหตุให้พลัดตกจริงหรือไม่?
ความสัมพันธ์ของผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างไร?
หลังเกิดเรื่อง 6 คนที่เหลือทำอย่างไร?
เหตุใดทั้ง 6 คนไม่พบตำรวจในทันที?
ทั้งนี้ หลังตำรวจสืบสวนสอบสวนเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนนับตั้งแต่เกิดเรื่อง จึงส่งฟ้องเพื่อนแตงโมทั้ง 6 คนต่ออัยการจังหวัดนนทบุรี ประกอบด้วย
- ปอ-ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ 6 ข้อหา
- โรเบิร์ต-ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ 4 ข้อหา
- แซน-วิศาพัช มโนมัยรัตน์ 1 ข้อหา
- จ๊อบ-นิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร 2 ข้อหา
- กระติก-อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ 2 ข้อหา
- เอ็ม-ภีม ธรรมธีรศรี 2 ข้อหา
ข้อหา เช่น กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, เป็นผู้ควบคุมเรือโดยไม่มีประกาศนียบัตรรับรองความถูกต้องตามกฎหมาย, ใช้เรือที่มีใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุ และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา
ต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษา หลังปอและโรเบิร์ตให้การรับสารภาพทุกข้อหาในชั้นศาล โดยศาลพิพากษาให้ปอจำคุก 2 ปี 9 เดือน ปรับ 64,000 บาท โดยให้รอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี และรายงานตัวบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมสาธารณะ
ส่วนโรเบิร์ตจำคุก 2 ปี 2 เดือน ปรับ 54,000 บาท โดยให้รอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี และรายงานตัวบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมสาธารณะ
ทีมจำลองเหตุการณ์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม, พ.อ. นพ.ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ร่วมกันจำลองเหตุการณ์การตกน้ำของแตงโม
โดยอาสาสมัครที่เป็นตัวแสดงแทนแตงโมคือผู้ประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 7 คน จุดแรกที่จำลองคือท่าเรือโรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จังหวัดนนทบุรี
จุดที่ 2 คือท่าน้ำพิบูลสงคราม 1 โดยให้อาสาสมัคร 7 คน ตกน้ำคนละ 1 ครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นตัวแทนของ แซน วิศาพัช ด้วย โดยตลอดการจำลองมีหน่วยกู้ภัยทางน้ำดูแลความปลอดภัย
พ.อ. นพ.ธวัชชัย ยืนยันว่า การจำลองเหตุการณ์ทำเพื่อพิสูจน์ความจริง ไม่ได้หิวแสงแต่อย่างใด เนื่องจากพบพิรุธจากคำให้การของคนที่อยู่บนเรือหลายอย่าง
ด้านณวัฒน์เปิดเผยว่า การที่มาร่วมกันจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในการทำคดีของแตงโม อยากมาช่วยคืนความยุติธรรมให้กับแตงโม ค้นหาความจริงให้ได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม 100%
ขณะที่อาสาสมัครที่เป็นตัวแทนแตงโมตกน้ำต่างระบุว่า ดีใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาความจริง อยากหาความชัดเจนกับคดีนี้ หวังว่าการจำลองเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อคดี ซึ่งมีการเตรียมตัว เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัย จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในการจำลองครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งคณะผู้จัดงานครั้งนี้จะทำสรุปผลการจำลองเหตุการณ์ส่งให้ DSI เพื่อนำไปตรวจสอบ และให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ต่อไป
เวลา 14.04 น. เฟซบุ๊ก ‘ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์’ โพสต์ข้อความหลังเสร็จภารกิจว่า ผลการจำลองสถานการณ์ 1. ทุกคนเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะแก่การปัสสาวะท้ายเรือ และเปียกแน่นอน 2. ตกท้ายเรือตามคำให้การในสำนวนแห่งคดีไม่เกิดใบพัดดูด ไม่มีบาดแผลใดๆ
ทีมเรือลำเดียวกัน
ในวันเดียวกันกับที่จำลองเหตุการณ์ ปอ ตนุภัทร และ แซน วิศาพัช พร้อมด้วย ทนายตุ๋ย-พรศักดิ์ วิภาสอาภานนท์ ให้สัมภาษณ์หลังจบการจำลองทันที
ปอกล่าวขอบคุณและยอมรับว่าเห็นด้วยกับการจำลองการตกเรือของแตงโมที่ทำเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นภาพที่ไม่ได้มโน แต่ส่วนตัวมองว่าการจำลองดังกล่าวไม่ตรงกับที่แซนเคยให้การไว้ในชั้นศาล เนื่องจากการตกไม่ตรงกัน
“ตอนแตงโมตกจากเรือในระหว่างที่ปัสสาวะนั้น ก่อนที่จะพลัดตกแตงโมเกาะเบาะไว้เป็นเวลากว่า 10 วินาที และตกไปบริเวณฝั่งเครื่องยนต์ที่มีใบพัด เมื่อตกแล้วขายื่นมาถึงช่วงใบพัด จึงเชื่อว่าแตงโมถูกดูดเข้าไปบริเวณดังกล่าว เพราะฉะนั้นการตกจะต้องตกอยู่ข้างๆ เครื่องยนต์ ซึ่งการจำลองเหตุการณ์ตกเรือนั้น ผู้ที่เป็นคนจำลองระหว่างที่ตกดีดตัวออกจากเรือ 45 องศา” ปอกล่าว
ทั้งนี้ ตนเองอยากถามว่า ถ้าท่านจำลองและจำลองไม่เหมือนเหตุการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านจะจำลองทำไม ถ้าจะจำลองให้เหมือน ถามว่าจะจำลองแบบไหน
และจากที่ไปขอคัดพยานหลักฐานในสำนวน จึงทราบว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจเคยจำลองเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว และได้ทิศทางแล้วว่าตอนที่ตกลงไปวัตถุถูกดูดไปทางไหน และเทน้ำสีแดงเพื่อทดสอบว่าน้ำหมุนไปในทางใด นอกจากนี้ยังมีการทดลองในหลายรูปแบบ ซึ่งผลก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน
“แม้ผมอยากจะให้จำลองให้เหมือนจริง แต่ก็ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย เนื่องจากสูญเสียเพื่อนไปแล้ว เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้เสียชีวิต ไม่อยากให้ผู้ใดนำการสูญเสียนี้มาเป็นกระแสหรือหาผลประโยชน์”
ด้านแซนกล่าวว่า ตนอยากฝากถึงคุณหมอและอัจฉริยะว่า ก่อนที่จะมาพูดหรือท้าอะไร สมควรที่จะปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญก่อน จะได้ดูเหมือนกลั่นกรองมาแล้ว ส่วนเรื่องท้าด้วยจำนวนเงินนั้น ตนไม่ได้เล่นการพนัน แนะนำให้คนที่ท้าหากชอบการพนันให้ไปสนามมวย
เมื่อถามความคิดเห็นในการจัดจำลองเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร แซนมองว่าเป็นละครเรื่องหนึ่งที่ไว้ดูเป็นความบันเทิง เพราะไม่ได้ใกล้เคียงและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ตนเคยแนะนำไปแล้ว 4 ข้อ เพราะการตกเรือมีรายละเอียดยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งตนเองไม่กังวลใจเรื่องคดี ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ามั่นใจมาก ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าจุดประสงค์หลักของการจำลองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่ก็ทำให้ตนเองโดนทำลายชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
แซนกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้เสพข่าวอย่างมีสติ ก่อนที่เราจะไปด่าคนอื่น เราต้องเสพข่าวอย่างมีสติและคิดหลายมุม ไม่ใช่มุมเราคนเดียวหรือมุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คิดถึงหลักข้อเท็จจริง ถ้าไม่อย่างนั้นประเทศเราจะเป็นประเทศขวัญใจแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบนี้ ถ้าเราไม่คิดกัน”
ศาลเตี้ย
โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความถึงการจำลองเหตุการณ์แตงโมตกเรือว่า การใช้คนจริงในขณะเรือแล่น เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบมาก เพราะคนแสดงมีโอกาสได้รับบาดเจ็บสาหัสได้ หากไม่ได้เบี่ยงตัวออกข้างแบบที่ตั้งใจทำในการแสดง แม้จะใส่เสื้อชูชีพที่ทำให้ตัวลอยขึ้นได้ และไม่ได้เอามือเกาะกราบเรือหลังตกเรือตามคำให้การจริงก็ตาม
คิดด้วยสามัญสำนึก ถ้าใครจะแต่งเรื่องว่าแตงโมตกเรือ มันไม่จำเป็นต้องแต่งให้พิสดารขนาดนั้น แค่คนไปนั่งเล่นกินลมดื่มไวน์ที่กราบเรือ จังหวะกระแทกก็พลัดตกได้แล้ว
แต่คดีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรให้ความเห็นกันมั่วซั่วแล้วตั้งตนเป็นศาลเตี้ย หน่วยงานที่ทำหน้าที่มีอยู่และสู้กันได้ถึง 3 ศาล ถ้ามีพยานหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มากพอ
สื่อมวลชนก็ควรคิดเยอะๆ ก่อนจะให้พื้นที่กับพฤติกรรมสร้างกระแสด้วยวิธีการตลาดล่างแบบนี้
การเสียชีวิตของแตงโมจากเหตุที่เกิดขึ้นนับเป็นความสูญเสียของครอบครัว แฟนคลับ และวงการบันเทิง ซึ่งในทางคดีความ กระบวนการยุติธรรมกำลังเป็นไปตามระบอบที่กฎหมายกำหนดไว้ ขณะที่ทางความเห็นและมุมมอง ณ วันนี้ที่เวลากำลังจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 3 ก็ยังไม่มีอะไรมาลบความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมอีกมุมหนึ่งว่า เหตุที่เกิดมีอะไรลึกซึ้งกว่าที่ตำรวจพิสูจน์ได้
จากนี้กลุ่มของผู้จำลองเหตุการณ์เตรียมเดินหน้าให้ DSI รับเรื่องไว้พิจารณา ขณะที่ประชาชนและสื่อมวลชนต้องติดตามต่อว่า คลื่นที่เกิดในวันนี้จะพัดเปิดแฟ้มคดีแตงโมได้จริงหรือไม่