หลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market ย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลดค่าไฟเพื่อจูงใจนักลงทุน ด้วยการรีดไขมันส่วนเกินและหยุดโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ขั้นต่ำต้องอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย ล่าสุด กกพ. จ่อชงนายกฯ ทบทวน Adder-FiT หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ ชี้ ช่วยได้มากสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วย ขณะที่ TDRI แนะรัฐปฏิรูปโครงสร้างราคา จี้รัฐเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี
วันนี้ (16 มกราคม) พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมตินำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed-in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท
“หมายความว่าสามารถลดได้มากสุดที่ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ส่วนจะมีผลเมื่อไรนั้นขึ้นกับภาคนโยบายตัดสินใจต่อไป” พูลพัฒน์กล่าว
ชงรัฐทบทวนเงื่อนไขรับซื้อไฟผู้ผลิตไฟฟ้า SPP-VSPP พลังงานหมุนเวียน
พูลพัฒน์กล่าวอีกว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง กกพ. ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ศึกษาและทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า
“ที่ผ่านมาได้นำเสนอมาตรการในหลายๆ ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งหนึ่งทางเลือกในขณะนั้นคือการทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ. เห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้ กกพ. นำเสนอภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟ” พูลพัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับความต้องการปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวน ภายใต้นโยบายและแนวทางของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
รีด 17 สตางค์ ช่วยประหยัดงบค่าไฟ 33,150 ล้านบาท
โดยมีแนวทางคือควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed-in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
นอกจากนี้ จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ระบุว่าค่าใช้จ่ายภาครัฐจากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์
“หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195 แสนล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท”
TDRI แนะเร่งปรับโครงสร้างแทนการตรึงราคา-เปิดตลาดไฟฟ้าเสรี
อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาทนั้นสามารถทำได้ แต่จะทำได้เมื่อไรก็ต้องดูกันอีกที และการปรับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าก็ต้องใช้เวลา
แต่หากอยากเห็นผลเร็วก็จะต้องยืดการชำระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยกเลิกค่า Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า และอีกเงื่อนไขคือการเรียกค่าการลงทุนที่เผื่อไว้กลับมา ซึ่งเป็นการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง หากทำได้ก็จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม รัฐควรปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟโดย
- ในระยะสั้นที่ไทยยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ควรสนับสนุนให้มีการแข่งขันทางด้านราคา และมีมาตรการดูแลในเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม
- พิจารณาการคำนวณต้นทุนค่าผ่านท่อก๊าซ ตรวจสอบให้การคิดค่าผ่านท่อสะท้อนต้นทุนการสร้างตามอายุการใช้งานที่แท้จริง และควรทบทวนหลักเกณฑ์การจองท่อ (TSO Code) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท่อก๊าซ ลดค่าใช้จ่ายการจองที่ไม่ได้ใช้งานจริง
- ควรดำเนินการปรับหลักการคิดค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่เป็นรูปธรรม โดยทบทวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
“สำหรับโรงไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง ควรยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว แต่ถ้าต้องทำสัญญาควรทบทวนให้มีการปรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าร่วมกันรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย”
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าข้างต้นเป็นเพียงมาตรการในระยะสั้น การแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต้องพิจารณาทั้งห่วงโซ่ ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี
ชู 2 แนวทาง ‘เขย่าโครงสร้างราคา ขยับสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี’
ด้าน ชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส TDRI ฉายภาพเสริมว่า การจะทำตลาดไฟฟ้าเสรีอย่างเป็นระบบได้นั้นภาครัฐต้องคำนึงถึง 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้
- เร่งเปิดสิทธิ์ให้เอกชนเชื่อมต่อระบบสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า โดยดำเนินการเป็นระยะๆ ทยอยเริ่มจากเปิดสิทธิ์ให้กับภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM และภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% (RE100) ภายในปี 2573
- การคิดค่าธรรมเนียมเชื่อมต่อสายส่งต้องสอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลังงานที่ซับซ้อน
โดยหลังเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีค่าไฟจะถูกลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่มีบางช่วงที่ค่าไฟแพงขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงขึ้น ดังนั้นการสนับสนุนการเปิดตลาดไฟฟ้าของประเทศไทยจึงควรควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด
“ประเทศไทยต้องขยับเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี หากไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะเผชิญกับผลกระทบใน 3 ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) ในราคาที่มีต้นทุนสูงกว่าไฟฟ้าทั่วไป”
ที่สำคัญหากไทยไม่สามารถจัดสรรไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้มากพอจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และหากไทยยังไม่เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด อาจทำให้ประเทศสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ถึง 45% ของมูลค่าการลงทุนรวมจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในไทยรวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท (ปี 2561-2566)
รวมทั้งสูญเสียโอกาสดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องพึ่งพาพลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีมูลค่าถึง 6.9 แสนล้านบาท หรือ 48% ของมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
“ดังนั้นถ้าไทยมีการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับประเทศ เป็นการช่วยปิดความเสี่ยงจากการถอนการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้”
รัฐควรบรรจุการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานใน PDP 2024
ชาครย้ำว่ารัฐควรยึดหัวใจสำคัญ การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าสะอาดให้ได้ 41% ภายในปี 2573 ให้กับภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจาก CBAM และภาคการผลิตขนาดใหญ่ ควรที่จะบรรจุในร่างแผน PDP 2024 ด้วย แต่น่าเสียดายว่าการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาดกลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาไว้ในร่างแผน PDP 2024 แต่อย่างใด” ชาครกล่าว
ภาพ: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD, kirisa99 / Getty Images