กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อนักแสดงชาวจีน หวังซิง’ หรือ ‘ซิงซิง’ หายตัวไปบริเวณชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ โดนหลอกส่งข้ามแดนแม่สอด-เมียวดี กระทั่งตำรวจไทยสามารถช่วยเหลือกลับมาได้อย่างปลอดภัย
เกิดเป็นกระแสไวรัล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังวางแผนมาเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยรายงานข่าวจาก South China Morning Post ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากยกเลิกการเดินทางมาไทย เหตุเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย
ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับผลกระทบ แม้มองว่าอาจเป็นแค่ระยะสั้น แต่ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้และเป็นไวรัล โซเชียล Weibo ไปเร็วมาก หน่วยงานควรเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย กู้ภาพลักษณ์ แก้ปัญหาให้รัดกุมขึ้นหรือไม่
ภาพ: NurPhoto / Contributor / Getty Images
นักท่องเที่ยวจีนผวา ยอดจองโรงแรมถูกยกเลิก ชี้รัฐเร่งกู้ภาพลักษณ์ประเทศ
เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) แสดงความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นพบว่ามีการยกเลิกคอนเสิร์ตของศิลปินชาวฮ่องกง Eason Chan หรือ เฉินอี้ซวิ่น ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทีมงานชี้แจงว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยของตัวศิลปิน ทีมงาน และกลุ่มแฟนคลับ
“แน่นอนว่าอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคการท่องเที่ยวแค่ระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาจกังวลถึงความไม่ปลอดภัย สิ่งที่ไทยต้องทำคือสื่อสารข้อเท็จจริง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ”
เบื้องต้นทางสมาคมโรงแรมไทยเช็กข้อมูลกับสมาชิก ยอดจองโรงแรมระหว่างนี้จนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเอง อาจมียกเลิกไปบ้างแต่ไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เพราะในช่วงที่ยังไม่มีเหตุการณ์นี้ก็มีการยกเลิกห้องพักอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ส่วนนักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ก็มียกเลิกไปบ้างเช่นกัน
“ต้องบอกว่ากรณีของดาราจีนที่เกิดขึ้นทำกันเป็นกระบวนการ โดยมีไทยเป็นจุดเกิดเหตุ ไม่เหมือนกับการเกิดอุบัติเหตุในไทย ถ้าในลักษณะนี้ไทยกระทบเต็มๆ และยิ่งถ้าเป็นไวรัลในโลกออนไลน์เหมือนที่คนพูดกันปากต่อปากว่าไม่ไปเที่ยวเกาหลีแล้วเพราะเข้ายาก ซึ่งถ้าเป็นกระแสในลักษณะนี้อาจกระทบระยะยาว เพราะในจีนบอกกันปากต่อปากเร็วมาก แต่กับสถานการณ์ของดาราจีนเราเชื่อว่านักท่องเที่ยวแยกแยะออก”
“รัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกว่านี้”
ด้าน สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวกับ THE STANARD WEALTH ว่า ประเด็นดังกล่าวประเมินว่า “กระทบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยแน่นอน” เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของประเทศนั้นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจไป
“ไม่เว้นแม้แต่ถนนข้าวสาร ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 10-20% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ค่อนข้างมีกำลังซื้อสูง ซึ่งหลังจากมีข่าวก็อาจน้อยลง พ่อแม่คงเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัย อาจไม่ให้มาเที่ยวที่ไทยในช่วงนี้”
ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เราได้ให้ข่าวอยู่เป็นระยะๆ ถึงเรื่องการลักพาตัวหรือแม้แต่การรีดไถจากนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีของซิงซิง ยิ่งตอกย้ำว่าเมืองไทยไม่ปลอดภัย และมีการเผยแพร่ข่าวผ่าน Weibo เร็วมาก แน่นอนว่าเมื่อคนจีนดูข่าวก็ยิ่งกังวลมากขึ้น จนถึงขั้นต้องชะลอการเดินทางไปก่อน
“จากเดิมแล้วในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้ามาไทยคึกคักมาก ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนโควิด ระดับตัวเลขต่อวันอยู่ที่ 10,000 คน สูงสุด 80,000 คนเลยทีเดียว”
สง่ากล่าวอีกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน และยุโรป กลุ่มนี้ก็จะกระทบบ้างเล็กน้อย แต่เท่าที่มีการพูดคุย ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องระบบขนส่ง เช่น การขึ้นแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์
เมื่อมาดูที่ฝั่งของโรงแรม ภาพรวมยังไม่ได้กระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่จากนี้อาจเริ่มเห็น เพราะมีการยกเลิกคอนเสิร์ต ซึ่งคนจีนที่เตรียมเข้ามาดูคอนเสิร์ตก็จะยกเลิกตามไปด้วย
“สุดท้ายแล้วรัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายดูแลความปลอดภัยมากขึ้นกว่านี้ เพราะจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศโดยตรง” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารย้ำ
ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรับ นทท. หายไป 10%
ขณะที่ ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่หมดวาระและกำลังส่งไม้ต่อให้ ชัย อรุณานนท์ชัย ประธานคนใหม่ ปี 2568 ดำรงตำแหน่ง 2568-2570 กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เบื้องต้นพยายามสอบถามเครือข่ายผู้ประกอบการแล้วพบว่า ภาพรวมต้องยอมรับว่า ‘กระทบบ้าง’ ราวๆ 10% ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันโซเชียลเร็ว แรง และเผยแพร่ออกไปไวมาก ประเด็นที่เกิดขึ้น เราไม่อยากมองว่าเป็นบทเรียน ผมมองว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ควรประสานทางการจีนและประกาศไปเลยว่า ‘เที่ยวเมืองไทยปลอดภัยอย่างไร’ ให้รวดเร็วที่สุด
โดยสามารถทำได้อีกหลายวิธี อาจออกแผนโปรโมตโดยการจัดทำบริษัทจองทัวร์จับคู่กับบริษัทไทย-จีน จองผ่านบริษัททัวร์อย่างถูกกฎหมาย และต้องแก้ปัญหาให้ไวขึ้น ประสานร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวมาไทยโดยตรง พลิกเป็นโอกาส เพราะในขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบได้ ปลอดภัย มูลค่าเม็ดเงินเข้าประเทศด้วย
ผมมองว่าเราควรมี ‘ทีมไทยแลนด์’ เพราะประเด็นนี้เป็นปัญหาซ้อนปัญหาในอีกหลายมิติ เซนสิทีฟ แต่ปัญหาที่สะท้อนชัดเจนที่สุดคือ หน่วยงาน ภาครัฐ ต้องกลับมาทบทวนและต้องดูเรื่องการท่องเที่ยวชายแดนมากขึ้นหรือไม่”
การท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์ จุดแข็งของไทย ‘ไม่มีวันตาย’
ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 35-40 ล้านคนได้เป็นครั้งแรกตามเป้าหมายรัฐบาลอย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติปี 2562 ก่อนโควิดระบาด เราเคยทำนิวไฮได้ถึง 39.9 ล้านคน และเพิ่มขึ้นจาก 35.54 ล้านคนในปี 2567
“จริงๆ แล้วการท่องเที่ยวคือจุดแข็งของประเทศไทย ไม่มีวันตาย และไม่ถึงจุดอิ่มตัวแน่นอน ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ด้วยเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกมองว่าการท่องเที่ยวเป็นการให้รางวัลชีวิต การเที่ยวแบบหาประสบการณ์แปลกใหม่ ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนที่ต้องการเดินทางซ้ำ และคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยได้ออกเดินทาง” ชำนาญกล่าว
ชำนาญสะท้อนอีกว่า การท่องเที่ยวถือเป็น ‘เครื่องยนต์หลัก’ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยจนถึง แพทองธาร ชินวัตร ที่เน้นมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง (Ease of Traveling) ทั้งการยกเว้นวีซ่า มุ่งยกระดับสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาส และศูนย์กลางการท่องเที่ยวก็ถือว่ามาถูกทาง แต่เมื่อมองถึงปัญหาจริงๆ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตต้องอาศัยการขับเคลื่อนแบบแอ็กชันแพลนกระจายรายได้ กระจายงบประมาณจากเมืองหลักไปสู่เมืองรองให้มากขึ้น
สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำคือการดูแลพัฒนาซัพพลายไซด์
“จริงๆ ท่องเที่ยวไทยยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพ โครงสร้างพื้นฐานโตไม่ทันดีมานด์ ถ้าดูจากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนในปี 2568 มองว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน”
ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำคือการดูแลพัฒนาซัพพลายไซด์หรือ Ecosystem ทั้งแหล่งท่องเที่ยว บุคลากร ไกด์ อุตสาหกรรม ให้ตอบโจทย์เทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่ ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวแบบแมนเมด จัดประชุม อีเวนต์ต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาเที่ยวไทยให้มากขึ้น
“ประเด็นที่เกิดขึ้นผมจึงมองว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราควรรีดีไซน์ในทุกมิติ มีทีมไทยแลนด์พีอาร์ให้ไวขึ้น ปรับโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ให้มีศักยภาพ มาตรฐาน ในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ดูแลภาพลักษณ์และทรัพยากรธรรมชาติ ให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
หากร่วมมือกันกระตุ้นการท่องเที่ยวจริงๆ ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ชายแดน ก็ยังมีที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกเยอะมากในเมืองไทย โดยเฉพาะดึงกลุ่มอุตสาหกรรม Wellness, Medical Hub ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายสูงจากตะวันออกกลางที่ชอบเมืองไทยมาเที่ยวไทยได้อีกเยอะมาก บอกได้เลยว่าทำให้ได้แค่ 10% ก็กระตุ้นเม็ดเงินในไทยได้อีกเยอะ
ดังนั้นเราควรประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ให้เอาจริงเอาจังกับกฎหมาย ดูแลนักท่องเที่ยวที่ผิดกฎหมายให้ได้ หากทำเช่นนั้นได้ประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องมี Entertainment Complex ก็ยังได้ เพราะมูลค่าเม็ดเงินเข้าไทยมหาศาลมากแล้ว
ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวได้ราว 2.4-2.9% โดยปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังน่าเป็นห่วงมาก เพราะมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะมีผล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งหารายได้เพิ่มเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ
“โดยเฉพาะประเด็นที่ต้องดูแลให้ดีคือภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ควรส่งเสริมและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เร่งแก้ไขปัญหาโดยการประชาสัมพันธ์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตลาดจีนจากปัญหาจากการหายตัวไปของดาราจีน ‘ซิงซิง’ เพราะจีนเป็นตลาดหลักของไทย ขณะเดียวกันควรเร่งหามาตรการดึงดูดให้คนอินเดียเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มด้วย”
ททท. มั่นใจ เทศกาลตรุษจีนปี 2568 คึกคัก เงินสะพัด 4 หมื่นล้าน
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ ซึ่งประเด็นซิงซิงนั้นอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมติดตามการเผยแพร่ Fake News ทางโซเชียลมีเดีย และร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งประชาสัมพันธ์และประสานกับทางการจีน เพื่อทำความเข้าใจและฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยด่วน
ขณะที่รายงานข่าว ททท. ระบุว่า คาดการณ์เทศกาลตรุษจีนปี 2568 จะมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดรายได้ทางการท่องเที่ยวรวมประมาณ 40,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับเทศกาลตรุษจีนปีที่ผ่านมา
โดยเป็นคาดการณ์กรณีที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเอาไว้ได้ หลังเกิดเหตุการณ์นักแสดงชาวจีนขาดการติดต่อ ทั้งนี้ จะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์ถัดไปเพื่อประเมินผลกระทบว่ามีเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ รวม 10 วัน จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6% และมีรายได้ทางการท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยประมาณ 34,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ซึ่งประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมไปจนถึงวันตรุษจีน
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในช่วงตรุษจีนประมาณ 287,000 คน เพิ่มขึ้น 7% และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 8.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% โดยการประเมินผลดังกล่าวไม่รวมผลกระทบความเชื่อมั่นความปลอดภัยกรณีนักแสดงชาวจีน
เปิดศักราช นทท.ต่างชาติ เที่ยวไทย 1.3 ล้านคน จีนยังครองอันดับ 1
อย่างไรก็ดี ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ วันที่ 13 มกราคม 2568 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1-12 มกราคม 2568 รวม 1,319,005 คน เพิ่มขึ้น 19.89% สร้างรายได้ 66,089 ล้านบาท
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 205,521 คน รองลงมาคือ มาเลเซีย 138,387 คน รัสเซีย 109,767 คน เกาหลีใต้ 78,147 คน และอินเดีย 72,970 คน