×

ภารกิจบ่มเพาะนักเรียนแพทย์ให้เป็น ‘สิงห์สนามจริง’ เรียนรู้การรับใช้สังคมก่อนเป็นแพทย์ และเรียนรู้ความหมายของการให้ ‘ความสุขที่ยั่งยืน’ ผ่านโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
15.01.2025
  • LOADING...
แพทย์

HIGHLIGHTS

6 min read
  • หมอ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรืออาชีพใดๆ ก็ตามในสายการแพทย์ ยังคงเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน เพราะเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้คน และมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น
  • มากไปกว่าความรู้และความชำนาญเชิงลึก ทักษะสำคัญที่บุคลากรในสายการแพทย์ต้องมีคือ ‘จิตวิญญาณของการช่วยเหลือสังคม’ ซึ่งวิธีบ่มเพาะให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่ที่ดีที่สุดคือการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง
  • เป็นอีกปีที่คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานร่วมกับทีมสิงห์อาสา พานักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่ชุมชน เพื่อบ่มเพาะจิตวิญญาณการร่วมดูแลช่วยเหลือสังคม และเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกไปสู่โลกของการทำงานจริง
  • การออกหน่วยตรวจครั้งนี้ยังคงให้ความสำคัญในการตรวจกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งพื้นฐานของโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย หากรู้ตั้งแต่ช่วงแรก ก็สามารถรักษาอาการและช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก

หมอ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หรืออาชีพใดๆ ก็ตามในสายการแพทย์ ยังคงเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน เพราะเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือผู้คน และมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสียสละ ต้องอุทิศตนเพื่อคนอื่นทั้งชีวิต ทำงานภายใต้ความกดดันและความคาดหวัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโครงสร้างทางความคิดและจิตใจที่แข็งแกร่ง จึงจะดูแลผู้คนและสังคมได้อย่างมีความสุข

 

มากไปกว่าความรู้และความชำนาญเชิงลึกแล้ว ทักษะสำคัญที่บุคลากรในสายการแพทย์ต้องมีคือ ‘จิตวิญญาณของการช่วยเหลือสังคม’ ซึ่งวิธีบ่มเพาะให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่ที่ดีที่สุดคือการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ไปดูให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาสุขภาพ เพื่อเข้าใจบริบทแวดล้อมของคนในพื้นที่และเรียนรู้การรับใช้สังคมก่อนการเป็นแพทย์ 

 

เป็นอีกปีที่คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานร่วมกับทีมสิงห์อาสา พานักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่ชุมชน เพื่อบ่มเพาะจิตวิญญาณการร่วมดูแลช่วยเหลือสังคม และเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกไปสู่โลกของการทำงานจริง

 

สำหรับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมทีได้ทำโครงการดูแลผู้ป่วย NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายและพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ 

 

ในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ในกลุ่มอายุ 30-69 ปีมากถึง 15 ล้านคน สอดคล้องไปกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 4 แสนคนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน หากรู้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโรค ก็สามารถรักษาอาการและช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก

 

แพทย์

 

การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับสิงห์อาสาที่ ตำบลแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ จึงมุ่งเน้นไปที่การตรวจกลุ่มโรค NCDs 

 

“ด้วยพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ประกอบกับมลภาวะอย่าง PM2.5 ล้วนมีผลกระทบที่ทำให้เกิดโรค NCDs การตรวจสุขภาพเบื้องต้นจะทำให้รู้ว่ามีแนวโน้มหรือปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือไม่ เรามุ่งเน้นให้เกิดการป้องกันก่อนเกิดโรค ยิ่งรู้เร็วก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เกิดโรคหรือชะลอการเกิดโรคได้” ศ. ดร.สาคร พรประเสริฐ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

 

แพทย์

 

THE STANDARD มีโอกาสลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจแรกของทีม ‘สิงห์อาสา’ โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย 7 คณะทางการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะแพทยศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำทีมแพทย์ อาจารย์แพทย์ และนักศึกษา ออกหน่วยตรวจสุขภาพและเดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน

 

ศ. ดร.สาคร พรประเสริฐ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ศ. ดร.สาคร พรประเสริฐ เล่าว่า ที่ผ่านมาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานร่วมกับการบริหารส่วนตำบลต่างๆ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลช่วยเหลือสุขภาพคนในชุมชนมากกว่า 30 ปี เช่น ตรวจหาและรักษากลุ่มโรค NCDs หรือจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยทำงานร่วมกันใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค กายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด อีกทั้งร่วมมือกับคณะอื่นๆ เพื่อให้บริการเต็มรูปแบบและดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม

 

“คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีเป้าหมายเดียวกันที่จะส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนให้แข็งแรง เราจึงทำงานร่วมกันปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว”

 

ศ. ดร.สาคร บอกว่าการออกหน่วยตรวจของสาขาเทคนิคการแพทย์จะให้บริการเจาะตรวจเลือด ตรวจน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต การทำงานของตับ และไขมันในเลือด ในขณะที่สาขารังสีเทคนิคจะให้บริการเอ็กซเรย์ปอด ส่วนสาขากายภาพและสาขากิจกรรมบำบัดจะดูเรื่องพัฒนาการของเด็ก ถ้ากลุ่มผู้สูงอายุจะประเมินความคิด ความจำ และกำลังของกล้ามเนื้อ

 

 

จากการลงพื้นที่ออกหน่วยแพทย์ฯ ตรวจสุขภาพประชาชน พบว่า กว่า 70% มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค NCDs เพราะฉะนั้นจึงมีการวางแผนทำงานอย่างเป็นระบบ โดยทีมสิงห์อาสาจะประสานการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

 

“จากการทำงานร่วมกับทีมสิงห์อาสาตลอด 3 ปีพบว่า ตัวเลขของผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการรักษาลดลง เนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพทำให้ชาวบ้านรู้ว่าจะต้องดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร โอกาสที่เกิดโรคก็น้อยลง” 

 

 

นอกจากแพทย์มืออาชีพและอาจารย์แพทย์แล้ว ในทุกปีเราจะได้เห็นภาพของนักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาของคณะแพทยศาสตร์มาร่วมออกหน่วยตรวจ ศ. ดร.สาคร บอกว่า กลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ทั้งหมดจะเรียกว่า ‘นักศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์’ เพราะไม่ได้มีแค่นักศึกษาแพทย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงนักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักรังสีเทคนิค ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ 

 

“แต่เดิมเราเคยทำงานแบบแยกส่วน ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาและการส่งต่องาน พอเกิดความร่วมมือลักษณะนี้จะช่วยตอบโจทย์คนในชุมชนได้ดียิ่งขึ้น เพราะคนไข้หนึ่งคนบางทีต้องได้รับการดูแลทั้งจากแพทย์และนักกายภาพบำบัด โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง บางครั้งเราต้องให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาทำงานร่วมกัน เพื่อออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

 

แพทย์

 

ศ. ดร.สาคร มองว่าการทำงานร่วมกันของนักศึกษาต่างคณะ ต่างสาขาวิชา จะทำให้พวกเขาเห็นภาพรวมของปัญหา มีมุมมองต่อวิธีการแก้ปัญหารอบด้านมากขึ้น ที่สำคัญยังสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชนตามความสามารถและความถนัดของตัวเอง

 

เครือข่ายคณะแพทย์จากสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษา แต่ยังบ่มเพาะจิตวิญญาณการร่วมดูแลช่วยเหลือสังคมให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกไปสู่โลกของการทำงานจริง

 

แจม-ณัฏฐณิชา ปาตุ้ย นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

แจม-ณัฏฐณิชา ปาตุ้ย นักศึกษาชั้นปี 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เธอได้ลงพื้นที่กับทีมสิงห์อาสา “ครั้งแรกที่ไป ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีที่แล้วเราขออาสาลงพื้นที่เองเพราะอยากสัมผัสประสบการณ์จริง นอกเหนือจากการฝึกปฏิบัติในห้องเรียนหรือฝึกงานในโรงพยาบาล พอปีนี้มีกิจกรรมอีกก็ขออาสาเหมือนเดิม” 

 

แจมบอกว่านอกจากประสบการณ์การทำงานจริงแล้ว การทำงานอาสาทำให้เธอรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล 

 

“บางคนไม่เคยตรวจเลือดเลย 30 ปี เพราะเขาไม่สะดวกที่จะไปโรงพยาบาล ยิ่งพอรู้ว่ามีชาวบ้านอีกเยอะมากๆ ที่ไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีเลย อาจด้วยค่าใช้จ่ายและเวลา ทำให้เขาเลือกที่จะไม่ไปตรวจสุขภาพและเข้ารับการรักษา บางคนไม่กล้าที่จะไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล การลงพื้นที่และได้เห็นปัญหาเหล่านี้ทำให้มุมมองต่อวิชาชีพของเราเปลี่ยนไปมาก จากที่คิดว่าจะต้องทำงานแค่ในโรงพยาบาลถึงจะช่วยผู้คนได้ แต่จริงๆ แล้วสามารถออกหน่วยหรือทำงานกับโรงพยาบาลชุมชนได้

 

“พอได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านก็ทำให้เรารู้สึกอิ่มใจมากๆ ไม่คิดว่าสิ่งที่เราเป็นรูทีนทุกวันมันจะมีคุณค่ากับคนอื่นๆ ได้ขนาดนี้ การออกหน่วยเหมือนเป็นการเติมไฟให้กับตัวเอง นอกจากนี้การทำงานร่วมกับเพื่อนในสาขาอื่นๆ ทำให้เห็นว่าบทบาทของเรามีความสำคัญอย่างไร และจะประสานงานกันเพื่อให้เกิดการรักษาที่ดีที่สุดกับคนไข้อย่างไร” 

 

แจมฝากถึงรุ่นน้องและเพื่อนร่วมวิชาชีพว่า สิ่งที่ได้มากกว่าประสบการณ์คือได้ท้าทายตัวเอง “ถ้าไม่ได้มาร่วมออกหน่วยก็คงไม่รู้เลยว่าความรู้และความสามารถในวิชาชีพของเราจะให้ประโยชน์กับคนอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะสาขาเทคนิคการแพทย์ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นคือด่านแรกที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ จึงเป็นสาขาที่มีความสำคัญมากๆ เพราะถ้าไม่มีนักเทคนิคการแพทย์ แพทย์ก็ไม่สามารถวินิจฉัยโรคต่อได้”

 

 

การลงพื้นที่ออกหน่วยแพทย์ฯ ไม่เพียงเป็นการนำแพทย์เข้าสู่ชุมชนเท่านั้น แต่ยังจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เครื่องมือการแพทย์ที่ครบครัน รวมไปถึงรถตรวจเอ็กซเรย์และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ รวมทั้งนำทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฯ ออกตรวจและเยี่ยมเยียนผู้ป่วยตามบ้าน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีองค์ความรู้เพียงพอต่อการรับมือกับโรคภัยในเบื้องต้นได้ อีกทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

 

นอกจากรอยยิ้มของคนในชุมชนในวันนั้นแล้ว สิ่งที่ THE STANDARD ได้เห็นก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งมอบการดูแลสุขภาพให้กับผู้คนในพื้นที่ห่างไกลที่การเข้าถึงการรักษาเป็นเรื่องยากลำบาก เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาและดูแลสุขภาพของประชาชน ส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี ลดความเจ็บป่วย และเพิ่มโอกาสให้ผู้คนมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นด้วย

 

แม้จำนวนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสิงห์อาสาจะเพิ่มมากขึ้นและระบบการแพทย์มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลอีกมากที่ไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ ด้วยระยะทางก็ดีหรือค่าใช้จ่ายก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในกลุ่ม NCDs หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

เหนือสิ่งอื่นใด ภารกิจครั้งนี้ไม่เพียงแค่เห็นการลงมือทำจริงเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสถึงหัวใจแห่งการให้ของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สิงห์อาสา ที่พร้อมยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชนในทุกช่วงเวลาอย่างแท้จริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising