การลงทุนตลาดหุ้นไทยในปี 2567 นับว่ามีความผันผวนเป็นอย่างมาก จากต้นปีที่ตลาดปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และความกังวลตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงความล่าช้าของนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และต่อเนื่องมาถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,273.17 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ดี จากที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดหุ้นไทยเห็นความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับการอนุมัติเสนอขายหน่วยลงทุนและการเริ่มเข้าลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ รวมไปถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับลดลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่ 2.50% ต่อปี ลงมาสู่ 2.25% ต่อปี ส่งผลให้ตลาดปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดของปี 2567 ที่ระดับ 1,506.82 จุด ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาจากปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ ทั้งความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมถึงข่าวที่มีผลกระทบต่อปัจจัยด้าน Governance ในตลาดหุ้นไทย จนทำให้ตลาดปรับตัวลงต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้งในช่วงปลายปี
สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2568 นั้น คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังมีความผันผวนสูง จากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีนและประเทศอื่นๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ จนนำไปสู่ความกังวลต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจทางด้านเอเชียก็มีโอกาสจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของภาคการบริโภค จากยอดค้างชำระหนี้บัตรเครดิตสูงสุดในรอบ 12 ปี และอัตราการออม (Saving Rate) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วง Pre-COVID และภาคแรงงานที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแอลง
สำหรับทางด้านเศรษฐกิจจีน แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีความพยายามในการออกมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจมาเป็นระยะ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงชะลอตัวและระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยอาจยังมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ และนโยบายลดภาษีนิติบุคคลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะช่วยหนุนจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
4 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย 2568
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าอาจมีความเสี่ยงเติบโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนอาจชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนและความเสี่ยงหนี้เสียระดับสูงที่ยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการบริโภคในประเทศ และหากเกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ด้วยแล้ว ก็อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่อาจกลายเป็นแรงกดดันหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาทุ่มตลาดของสินค้าจีนที่โดนภาษีด้วย
อย่างไรก็ดี EIC คาดเอาไว้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ราว 2.4% โดยได้รับแรงหนุนจาก
- การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไปใกล้ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยประเมินว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยในปี 2568 อยู่ที่ 38.8 ล้านคน (เทียบกับก่อนช่วงโควิดในปี 2562 ที่ประมาณ 40 ล้านคน) ประกอบกับอาจมีการนำเอาโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
- การบริโภคในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ตามแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
- การลงทุนจากภาครัฐฯ ที่คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญ หลังคาดว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีวงเงินงบลงทุนทั้งสิ้น 9.08 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 27.9% จากปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 24.2% ของงบปี 2568 เทียบ 20.4% ปีก่อนหน้า)
- นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงจะหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 หลังเริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567
สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2568 บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวน โดยปัจจัยเสี่ยงจะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการสนับสนุนการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้น
โดยคาดการณ์ SET Index ณ สิ้นปี 2568 ที่ 1,550 จุด โดยอ้างอิงจาก Forward PER ที่ค่าเฉลี่ย 15.1 เท่า และ Forward EPS ที่ 103 (คาดการณ์การเติบโตของกำไรเฉลี่ยในช่วงปี 2568-2569 อยู่ที่ระดับ 9.8%)
กลยุทธ์การลงทุนจะเป็นการเน้นลงทุนรายหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ในกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากนโยบายภาครัฐ กลุ่มที่มีความสามารถในการรักษาผลกำไรที่ดี (Earnings Resiliency) ได้ประโยชน์เชิงโครงสร้าง (Mega Trend) และกลุ่มที่มีความสามารถในการจ่ายปันผลในระดับสูง เช่น หุ้นในกลุ่มค้าปลีก การเงิน ธนาคารพาณิชย์ การแพทย์ และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต
ภาพ: Jackyenjoyphotography / Getty Images