ราคาน้ำมันดิบเบรนต์และ WTI ปรับตัวขึ้นแรง 3 วันติดต่อกัน เพิ่มขึ้นเกือบ 7% มาอยู่ที่ราว 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า แรงหนุนต่อราคาน้ำมันมาจากหลายปัจจัยหนุน เริ่มจากการเกิด Polar Vortex ซึ่งคือ ‘กระแสลมวนขั้วโลก’ เกิดจากมวลอากาศอุ่นที่เคลื่อนไปทางทิศขั้วโลกเหนือ และทำให้มวลอากาศเย็นแผ่ขยายลงมาแทน ซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบหรือเชื้อเพลิงสำหรับทำความร้อนเพิ่มขึ้น
ขณะที่อีกประเด็นคือสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตน้ำมัน, เรือบรรทุกน้ำมัน, คนกลาง และท่าเรือต่างๆ ของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้การส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังลูกค้าหลักอย่างอินเดียและจีนติดขัดในช่วงสั้น
โดยมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคมนี้ หลังจากนี้ต้องติดตามว่าหลังการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการของทรัมป์จะยังคงมาตรการนี้ไว้เช่นเดิมหรือไม่
บล.เคจีไอ ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลต่อการจำกัดอุปทานน้ำมันของรัสเซียไปยังจีนและอินเดีย โดยมาตรการที่เกิดขึ้นคือกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเมื่อวันศุกร์ (10 มกราคม) ต่อผู้ผลิตน้ำมันรัสเซียอย่าง Gazprom Neft และ Surgutneftegas รวมถึงเรือ 183 ลำที่ขนส่งน้ำมันรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดรายได้ที่รัสเซียใช้สนับสนุนสงครามในยูเครน
นักวิเคราะห์การขนส่งสินค้าของ Kpler ระบุว่า เรือที่ถูกคว่ำบาตรใหม่ 143 ลำ เป็นเรือบรรทุกน้ำมันที่ขนส่งน้ำมันดิบของรัสเซียมากกว่า 530 ล้านบาร์เรลเมื่อปีที่แล้ว (ประมาณ 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน) หรือคิดเป็น 42% ของการส่งออกน้ำมันดิบทางเรือทั้งหมดของประเทศ
จากปริมาณดังกล่าวมีประมาณ 300 ล้านบาร์เรลที่ถูกส่งไปยังจีน ขณะที่ส่วนใหญ่ของปริมาณที่เหลือถูกส่งไปยังอินเดีย ดังนั้นโรงกลั่นน้ำมันจากจีนและอินเดียจะนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรใหม่ของสหรัฐฯ ต่อผู้ผลิตน้ำมันและเรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซียจำกัดอุปทานน้ำมันแก่ลูกค้าหลักของรัสเซีย
ราคาน้ำมันหนุน PTTEP
หนึ่งในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ซึ่งราคาปรับตัวขึ้น 2.4% ในช่วงครึ่งวันทำการแรกของวันนี้ (13 มกราคม) สวนทางกับภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลง 10 จุด
บล.ทรีนีตี้ มองว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกทางอ้อมมายังกลุ่มน้ำมันและก๊าซของไทยในระยะสั้น ทั้งกลุ่มต้นนํ้า เช่น PTTEP และกลุ่มโรงกลั่นซึ่งไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานนํ้ามันที่จำกัดมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากโรงกลั่นส่วนใหญ่นำเข้าจากกลุ่มประเทศทวีปตะวันออกกลาง ในทางกลับกันกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบคือกลุ่มที่มีราคาต้นทุนอ้างอิงกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น เช่น กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ เป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าราคานํ้ามันดิบที่สูงขึ้นมานี้จะยืนระยะต่อไปนานเท่าใด หากทรงตัวที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปอีก 1-2 เดือน เชื่อว่าความกังวลทางด้านเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นจริงโอกาสที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะยืนระยะในระดับสูงก็ยิ่งมีสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป
โรงกลั่นและผู้ขนส่งน้ำมันในเอเชียปั่นป่วน
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า โรงกลั่นน้ำมัน ผู้ประกอบการเรือบรรทุกน้ำมัน ผู้ค้า และผู้บริหารท่าเรือทั่วเอเชีย ต่างเร่งรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการในจีนและอินเดีย
ทั้งสองประเทศเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากน้ำมันดิบราคาถูกของรัสเซีย นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนช่วงต้นปี 2022 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรผู้ผลิต ผู้ให้บริการประกัน และเรือบรรทุกน้ำมัน ทำให้การค้าขายน้ำมันดังกล่าวต้องหยุดชะงัก
โรงกลั่นน้ำมันอิสระในมณฑลซานตงของจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของน้ำมันรัสเซีย จัดประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการรับน้ำมันดิบที่กำลังขนส่งมาอยู่ในเส้นทางเมื่อมีการประกาศบทลงโทษ ตามคำกล่าวของผู้ค้าในอินเดีย ซึ่งพึ่งพาน้ำมันรัสเซียประมาณ 1 ใน 3 ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด โรงกลั่นน้ำมันกำลังพยายามวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการต่อการซื้อขายน้ำมันดิบ Urals เจ้าหน้าที่โรงกลั่นระบุว่า กำลังเตรียมรับมือกับการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในการนำเข้า ซึ่งอาจกินเวลา 3-6 เดือน
โรงกลั่นน้ำมันอิสระของจีน หรือที่เรียกว่า ‘ทีพอต’ (Teapots) มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการขาดทุน เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และค่าขนส่งก็แพงขึ้นเช่นกัน ราคาดีเซลในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่
ผลจากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการขนส่งและโรงกลั่นน้ำมันทีพอตของจีนเริ่มพิจารณาวิธีการสร้างสรรค์เพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตร เช่น การเปลี่ยนเส้นทางน้ำมันดิบรัสเซียจากเรือที่ถูกคว่ำบาตรไปยังท่าเรือส่วนตัวขนาดเล็กแทนการใช้ท่าเรือขนาดใหญ่ และการใช้รถบรรทุกแทนท่อส่งน้ำมันเพื่อขนส่งภายในจีน
อ้างอิง: