OPPO สมาร์ทโฟนที่ถือว่าขายดีที่สุดในไทยและแบรนด์ลูกอย่าง realme กำลังเผชิญวิกฤตด้านความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค หลังจากมีผู้พบว่าในตัวเครื่องมีการติดตั้ง ‘แอปพลิเคชันกู้เงิน’ มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App ติดตั้งมาในเครื่องโดยไม่รู้ตัว สร้างความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
เรื่องดังกล่าวถูกจุดขึ้นโดยสภาองค์กรของผู้บริโภคที่โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวานนี้ (11 มกราคม) โดยเป็นการเตือนผู้ใช้สมาร์ทโฟนของทั้งสองแบรนด์ หลังมีรายงานจากผู้ใช้หลายรายว่าพบแอปพลิเคชันที่อาจเป็นแอปกู้เงินเถื่อน เช่น แอปชื่อ ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ทโฟน OPPO และ realme
“ที่น่ากังวลคือแอปดังกล่าวไม่สามารถลบออกจากเครื่องได้ และยังสามารถส่งการแจ้งเตือนเชิญชวนให้กู้เงิน รวมทั้งเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ เช่น รายชื่อผู้ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์” สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ
สภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่แอปฝังตัวอยู่ในระบบของสมาร์ทโฟนทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งผู้ใช้หลายคนก็คอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่ามีแอปพลิเคชันดังกล่าวอยู่ในเครื่องจริงๆ
ประเด็นนี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาดของ OPPO ซึ่งเว็บไซต์ DroidSans รายงานโดยอ้างอิงบริษัทวิจัยตลาด Canalys ที่เผย 5 อันดับแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567) โดย OPPO ยังยึดตำแหน่งครองอันดับ 1 ได้เป็นไตรมาสที่ 2 ต่อจากไตรมาสที่แล้ว ด้วยส่วนแบ่ง 24%
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า OPPO และ realme คือแบรนด์ที่อยู่ภายใต้เจ้าของคนเดียวกัน โดย OPPO จะจับตลาดกลางบนในราคา 10,000 บาทขึ้นไป ในขณะที่ realme จะเน้นจับตลาดกลาง-แมสในราคาที่ไม่เกินหมื่น
ในเรื่องส่วนแบ่งตลาดจาก Canalys เองก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นเป็นการรวมทั้งสองแบรนด์หรือแค่แบรนด์เดียว แต่ที่แน่ๆ เป็นการนับจากจำนวนเครื่อง ไม่ใช่มูลค่า
การที่แอปพลิเคชันถูกติดตั้งมาเลยโดยที่ผู้ใช้งานไม่ได้เป็นผู้ดาวน์โหลดมาด้วยตนเอง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ OPPO และ realme อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในหลายประเด็น
ไม่ว่าจะเป็น ‘ความปลอดภัยของข้อมูล’ ซึ่งผู้ใช้กังวลว่าข้อมูลส่วนตัว อาทิ รายชื่อผู้ติดต่อ จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การขายข้อมูล การโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
‘ความน่าเชื่อถือของแบรนด์’ ซึ่งการที่แอปพลิเคชันกู้เงินปรากฏในสมาร์ทโฟน แถมยังมากับ System App ทำให้เกิดคำถามถึงมาตรฐานการควบคุม ‘คุณภาพและความปลอดภัย’ ของ OPPO และ realme อีกทั้งยังมีในแง่ของ Branding ด้านความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
หลังเป็นประเด็นมาตลอดทั้งบ่ายและช่วงค่ำๆ กลางดึกคืนนั้นทั้ง OPPO และ realme ต่างออกแถลงการณ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง โดยมีใจความสำคัญคือยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นและขออภัยต่อผู้บริโภค
รวมถึงระบุว่ากำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลบแอปพลิเคชันกู้เงินออกจากระบบ ตลอดจนยืนยันว่าให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้งานและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้
แม้ทั้งสองแบรนด์จะออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตทั้ง ‘ที่มาของแอปพลิเคชัน’ ที่ยังไม่มีการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าแอปพลิเคชันกู้เงินเถื่อนเข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างไร
ตลอดจนการระบุว่า “หากผู้ใช้งานต้องการถอนการติดตั้งแอปพลิเคชันในทันที สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าประเทศ” เป็นการยืนยันว่าในเบื้องต้นนั้นผู้ใช้งานยังไม่สามารถลบแอปพลิเคชันดังกล่าวออกเองได้
วิกฤตการณ์แอปกู้เงินเถื่อนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อยที่ OPPO และ realme จะมองข้าม แต่มันคือระเบิดเวลาที่พร้อมจะทำลายความน่าเชื่อถือที่ทั้งสองแบรนด์สั่งสมมาอย่างยาวนาน ภาพลักษณ์ที่เคยแข็งแกร่งอาจพังทลายลงเพียงชั่วข้ามคืน หากไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง โปร่งใส และรวดเร็ว
บทเรียนครั้งนี้ไม่ใช่แค่ของ OPPO และ realme เท่านั้น แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกแบรนด์ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องข้อมูลผู้บริโภค ยุคนี้ ‘ความเชื่อใจ’ มีค่ามากกว่า ‘ยอดขาย’ และการละเมิดความเป็นส่วนตัว แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจนำมาซึ่งหายนะในท้ายที่สุดได้
อ้างอิง: