‘ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง’ เป็นคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้กับเด็กไทย อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลจากสภาพัฒน์และ TDRI ชี้ว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น’ และแม้จะเป็นเด็กไทย ‘เหมือนกัน’ แต่กลับมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ‘ต่างกัน’
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุในบทความ ‘เด็กไทยในคำขวัญ จะไม่เป็นแค่ฝัน ต้องปรับระบบการศึกษา’ โดยชี้ให้เห็นว่า ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แสดงให้เห็นว่า
กลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด หรือกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูงสุด 10% ของประชากรไทย เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) ได้ 83% และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) 71%
ขณะที่กลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด หรือกลุ่มที่มีกำลังจ่ายน้อยที่สุด 10% ของประชากรไทย เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) ได้ 46% และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) 6% เท่านั้น
นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์, หอศิลปะ, ศูนย์ฝึกอาชีพ และห้องสมุด ก็ยังเป็นอุปสรรคเช่นกัน จากการสำรวจโดย ‘คิด for คิดส์’ พบว่า เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี กว่า 40% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้เหล่านี้
เด็กไทยขาดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง-ปรับตัวไม่ดี
ในหมู่เด็กที่เข้าถึงโอกาสเองก็ยังขาดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) ซึ่งสะท้อนผ่านผลสำรวจนักเรียนไทยอายุ 15 ปี จากผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) 2022 ที่มีทั้งหมด 81 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม พบว่า
- 45% ไม่มั่นใจในการวางแผนการบ้านด้วยตนเอง (อันดับ 5 จากท้าย)
- 50% ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอินเทอร์เน็ต (อันดับ 7 จากท้าย)
- 55 % ไม่สามารถประเมินคุณภาพข้อมูลที่ค้นพบได้ (อันดับ 6 จากท้าย)
สำหรับในด้านการปรับตัว มีเด็กไทยกว่าครึ่งที่รู้สึกว่าตนเองปรับตัวไม่ดีเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เปลี่ยนแปลง (PISA 2018) ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่ต้องพัฒนาเพื่อเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
TDRI เสนอแนวทางเปลี่ยนระบบการศึกษา 4 ประการ
ทัฬหวิชญ์ยังเสนอแนะแนวทางเปลี่ยนระบบการศึกษา 4 ประการ ดังนี้
- ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้บ่อยครั้งขึ้น หลักสูตรแกนกลางฯ ถูกบังคับใช้มาเกือบ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลานาน จึงควรมีการปรับหลักสูตรให้มีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ทันสมัย โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิด ‘สมรรถนะ’ ที่จำเป็น อย่างการปรับตัว การเรียนรู้ด้วยตนเอง และทักษะดิจิทัล ขณะเดียวกันควรมีการทบทวนหลักสูตรอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 6 ปี เพื่อให้หลักสูตรยังสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก
- เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกระบบ รัฐควรลงทุนเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยอาจยึดแนวทาง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชุดนโยบายเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งการเปิดโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School) เป็นพื้นที่กิจกรรม การร่วมมือกับภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาและจัดกิจกรรมที่ห้องสมุด หอสมุด สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ในชุมชน
- เร่งพัฒนาธนาคารหน่วยกิต ที่ช่วยให้ผู้เรียนสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้จากทุกโอกาส และนำมาใช้เป็นใบเบิกทางในการศึกษาต่อ ซึ่งควรได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตแล้ว ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกในการผลักดันแนวคิดนี้อย่างจริงจัง
- ปรับบทบาทครูสู่ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้สนับสนุน และกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวก (Facilitate) และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย นำพานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) เช่น การนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้กับปัญหาจริงนอกห้องเรียน ระบบการผลิต พัฒนา และการคัดเลือกครู โดยครูควรถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่นี้
“เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของหนทางที่จะช่วยให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนรู้และเติบโตอย่างเต็มศักยภาพในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังทำให้ ‘ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง’ เกิดขึ้นกับเด็กไทยทุกคนตามคำขวัญวันเด็กในปีนี้” ทัฬหวิชญ์ระบุ
อ้างอิง: