โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 เตรียมเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 20 มกราคมนี้ หลังจากรับตำแหน่ง 100 วัน มีหลายนโยบายสำคัญที่กำลังจะมาปั่นป่วนเศรษฐกิจโลก
เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ในช่วงเดือนมกราคมนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใน 3 ประเด็นดังนี้
1. นโยบาย 100 วันแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์โลก และมีผลต่อการลงทุนในตลาดการเงินค่อนข้างมาก
สำหรับนโยบายสำคัญที่คาดว่าจะออกมาจะมี 3 เรื่องในช่วง 100 วันแรกหลังทรัมป์รับตำแหน่ง ได้แก่
1.1 ผลักนโยบายการคุมเข้มผู้อพยพชาวต่างชาติผ่านอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยสามารถใช้อำนาจควบคุมการอพยพเข้ามาผ่านชายแดนของผู้อพยพ รวมถึงแผนในการเนรเทศผู้อพยพที่ผิดกฎหมายออกจากสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 7-11 ล้านคน
อีกทั้งมีโอกาสที่จะเห็นการจำกัดควบคุมการอพยพเข้าสหรัฐฯ แบบถูกกฎหมายด้วย โดยประเมินว่ามาตรการคุมเข้มการอพยพดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณเพิ่ม โดยเฉพาะเพื่อเนรเทศผู้อพยพออกจากสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้งบประมาณที่สูง คาดว่าจะมีการดำเนินการขอเพิ่มงบประมาณผ่านชุดร่างกฎหมายในช่วงไตรมาส 1/25 ซึ่งจะมีการผลักดันแผนเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดำเนินการควบคู่กับแผนในการเพิ่มงบประมาณในการกีดกันผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ประเมินว่านโยบายในการควบคุมผู้อพยพดังกล่าวจะมีผลต่ออุปทานของแรงงานในสหรัฐฯ มีจำนวนน้อยลง และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ ให้มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งจำนวนแรงงานที่ลดลงจะมีผลให้การบริโภคในสหรัฐฯ ลดลงด้วย และมีผลต่อเนื่องให้การจ้างงานในสหรัฐฯ มีจำนวนลดลง และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
เกษรีกล่าวต่อว่า ประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบตามมาให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอัตราที่มากเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
อีกผลกระทบในการควบคุมจำนวนผู้อพยพต่อตลาดหุ้นประเมินว่า จะมีผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจ Consumer Discretionary, Industrial, ภาคบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้แรงงานคนจำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากคนดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดเล็กที่พบว่าจะมีการใช้จำนวนแรงงานมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่
‘ทรัมป์’ สั่งลุยผลิตน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติเพิ่ม
1.2 การผ่อนคลายนโยบายกฎระเบียบใน 3 ด้านดังนี้
- ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน โดยมีนโยบายที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงผ่อนปรนข้อจำกัดในการปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งลดมาตรฐานประสิทธิภาพ การใช้เชื้อเพลิง เชื้อเพลิง โดยนโยบายดังกล่าวข้างต้นจะช่วยสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน มีผลให้ราคาพลังงานมีโอกาสลดลง จะเป็นปัจจัยช่วยลดแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลดลงได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้จะมีผลต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันในกระบวนการผลิตสินค้ามีแนวโน้มต้นทุนที่ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรของธุรกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้ราคาน้ำมันในราคาที่ถูกลงด้วย
อย่างไรก็ดีกลุ่มหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบาย IRA ( Inflation Reduction Act ) ถือเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระมีนโยบายสนับสนุน จึงมีความเสี่ยงที่หุ้นที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบมีผลให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงได้
- ภาคอาคารพาณิชย์ มีนโยบายในการปรับปรุงเกณฑ์ Basel III ในการกำกับดูแลด้านฐานทุนของภาคธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะมีการปรับโครงสร้างหรือยุบหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคธนาคาร ซึ่งประเด็นนี้มองว่าจะทำให้ข้อจำกัดต่างๆ ในการกำกับดูแลภาคธนาคารผ่อนคลายลง สามารถปล่อยสินเชื่อหรือสามารถกระตุ้นการลงทุนได้ดีในระยะยาวอีกครั้ง และจะมีผลบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคารเพราะจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงขึ้น
- สนับสนุนนโยบายการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยนโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือ Investment Banking เป็นปัจจัยสนับสนุนให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้ดี
จับตาสหรัฐฯ ลุยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
1. 3 นโยบายและแผนผลักดันในการปรับขึ้นภาษีเพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากจีน
โดยประเมินว่าสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไม่ถึงอัตราที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ที่ 60% ซึ่งมีมุมมองว่าน่าจะมีการเก็บจริงในอัตรา 20% โดยคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งจะมีผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าประเด็นดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่มากนัก โดยประเมินว่าจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะสามารถ Outperform ตลาดหุ้นโลกได้ เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการพึ่งพิงภาคการส่งออกที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในสหรัฐฯ ยังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้ค่อนข้างดี
เกษรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเมินว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน หรือมีทิศทางในการปรับตัวลดลงได้ค่อนข้างช้า ตามสถิติในอดีตในไตรมาส 1 ของทุกปี แนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะมีการปรับตัวลดลงที่ค่อนข้างช้าและทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ประกอบกับภาคผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ เร่งการนำเข้าสินค้าจากจีนก่อนที่จะเริ่มใช้นโยบายกำแพงภาษีอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าดัชนีราคาสินค้านำเข้า รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น และมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคตจากข้อพิพาททางการค้าที่เกิดขึ้นหลังจากนี้
2. ความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันที่มาจากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จากหลายนโยบายของทรัมป์ ยังส่งผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสปรับตัวลดลงช้าลงกว่าเดิมหรือใช้เวลานานกว่าเดิม (Higher for Longer)
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) มีแนวโน้มขยับสูงขึ้น โดยประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Fed ให้ช้าลง โดยจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 2 ครั้งในปี 2025 ลงสู่ระดับ 3.75-4% ซึ่งจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้
3. การประกาศกำไรไตรมาส 4/24 ของ บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มออกมาดี ขณะที่ทิศทางของกำไร บจ.สหรัฐฯ ปี 2025 การเติบโตจะมีการกระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่การเติบโตกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้นเจ็ดนางฟ้า (Magnificent 7) เป็นหลัก ซึ่งคาดว่ากำไร บจ.สหรัฐฯ ในปี 2025 จะมีอัตราเติบโตที่ดีในระดับ 14% ขณะที่หุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 คาดว่ากำไรในปีนี้จะเติบโตขึ้น 21.3% แม้จะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2024 แต่ก็ถือว่ามีการเติบโตในระดับที่ดี
สำหรับคำแนะนำการลงทุน จากทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงช้ากว่าเดิม แนะนำให้พักเงินไว้ใน Money Market เพื่อเตรียมไว้เป็นสภาพคล่อง โดยสามารถใช้รอจังหวะในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงเป็นจังหวะกลับเข้าซื้อ
อีกทั้งจากแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ในกลุ่มหุ้นกู้เอกชนของสหรัฐฯ ในกลุ่ม Investment ที่มีอายุระหว่าง 2-4 ปี ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงกับหุ้นกู้ระยะยาว รวมถึงลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นักลงทุนยังมีความคาดหวังต่อการเติบโตของกำไรของ บจ.สหรัฐฯ ค่อนข้างมาก แม้ว่ามูลค่าหุ้นในปัจจุบันจะเริ่มสูงหรือตึงตัว
อย่างไรก็ดี ยังมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ที่ยังมีทิศทางที่ดี ส่งผลให้กำไรของ บจ. จะออกมาในทิศทางที่ดี
โดยสำรับลงทุนในระยะยาวแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้น Quality Growth ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องที่ได้ประโยชน์จาก AI และมีงบดุลที่แข็งแรง
ส่วนตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Market (EM) มีมุมมองว่ายังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยของ Bond Yield ที่ยังอยู่ในระดับที่สูง และมีค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
อีกทั้งนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อการค้าโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศใน EM ที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาการส่งออกที่สูง
ขณะที่ความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ของทรัมป์มีความเสี่ยงจะมากระทบตลาดหุ้นกลุ่ม EM ดังนั้นการลงทุนใน EM ให้เน้นในตลาดหุ้นที่มีนโยบายสนับสนุนภายในจากภาครัฐ รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในระยะยาว และกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Bond Yield ที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ใน EM
โดยตลาดหุ้นเอเชียที่มีความน่าสนใจลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นเวียดนาม, ตลาดหุ้นจีน A-Shares, ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ส่วนในระยะยาวสามารถถือลงทุนได้ในตลาดหุ้นอินเดีย, ตลาดหุ้นจีน A-Shares, ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ส่วนระยะสั้นสำหรับพอร์ตการลงทุนในหุ้นแนะนำตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในหุ้นกลุ่ม US Small Cap ที่มีโอกาสเติบโต และจะได้รับประโยชน์จากการผ่อนปรนในภาคการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงเป็นหุ้นกลุ่มที่ราคายังปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ
ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามการเติบโตจะมาจากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของประเทศ จากการลงทุนของภาครัฐที่มีแผนในการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รวมถึงได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อีกทั้งระยะยาวแนะนำให้มีการลงทุนทองคำอยู่ในพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง
ภาพ: Chip Somodevilla / Shutterstock