หลัง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ตำแหน่งจะหมดวาระเนื่องจากครบวาระ 2 คน ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (4) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์จากผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานเชิงวิชาการเป็นที่ประจักษ์ หรือเรียกลำลองว่า ‘สายรัฐศาสตร์’
อีกคนหนึ่งคือ ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเรียกลำลองว่า ‘สายอดีตผู้บริหาร’
ต่อมาเมื่อมีการประกาศรับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสองตำแหน่งนั้น ขั้นแรกมีผู้สมัคร จำนวน 11 คน ประกอบด้วย ‘สายรัฐศาสตร์’ 2 คน และ ‘สายอดีตผู้บริหาร’ 9 คน
แต่เมื่อมีการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว เหลือผู้ที่เข้ารอบคัดเลือกและแสดงวิสัยทัศน์ 6 คน ประกอบด้วย
สายรัฐศาสตร์ 2 คน ได้แก่
- ศาสตราจารย์ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศาสตราจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สายอดีตผู้บริหาร 4 คน ได้แก่
- ธัญญา เนติธรรมกุล อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
- ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก
- สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง
- สุรชัย ขันอาสา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, จันทบุรี, พิจิตร และปทุมธานี
วันนี้ (10 มกราคม) จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา 9 คน ประกอบด้วย
- ประธานศาลฎีกา (ประธาน)
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- ประธานศาลปกครองสูงสุด
- บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติ องค์กรละ 1 คน อีก 5 คน
ในวันดังกล่าวจะเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 6 คนได้แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถาม หลังจากนั้นคณะกรรมการสรรหาก็จะเลือก
สำหรับผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจะต้องได้คะแนน 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุม หมายความว่าถ้าเข้าประชุมครบทั้ง 9 คน ก็จะต้องมีคะแนนเสียงถึง 6 คน แต่ถ้าเข้าประชุม 6 คนได้เสียง 4 คนก็ผ่านเข้ารอบ นี่คือขั้นตอนแรก
ต่อมาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบประวัติและลงคะแนนของวุฒิสภาอีก 200 คน ซึ่งแน่นอนว่านี่คือ ‘วุฒิสภาสีน้ำเงิน’ ที่สื่อเรียกขานกันแทบทุกสำนัก
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ต้องดูกันว่าวันที่ 10 มกราคมนี้ คณะกรรมการสรรหาจะเลือกใคร
จะเห็นได้ว่า ‘สายรัฐศาสตร์’ ที่มีคุณสมบัติว่าเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และ ‘มีผลงานเชิงวิชาการเป็นที่ประจักษ์’ นั้นขับเคี่ยวกันอยู่ 2 คน และหลายคนต่างจับตาไปที่ค่ายจุฬาฯ
ขณะที่ ‘สายอดีตผู้บริหาร’ มีอดีตข้าราชการสายต่างๆ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด, อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมอุทยานฯ, อธิบดีกรมสนธิสัญญา ซึ่งแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างกัน
แต่ทั้งนี้อยู่ที่คณะกรรมการสรรหาว่าจะเลือกใคร เอาไปทำอะไร และทั้งหมดแสดงวิสัยทัศน์เป็นที่น่าประทับใจหรือไม่ อย่างไร
แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นเพียงแค่รอบแรก ถึงจะผ่านด่านนี้ไปก็ต้องผ่านวุฒิสภาที่ต้องการคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งมี ‘สว. สีน้ำเงิน’ ที่ยืนตระหง่านเบื้องหน้า และนี่จะเป็นการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกของวุฒิสภาชุดนี้อีกด้วย
แต่ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบกระบวนการสรรหาก็ต้องล้ม และเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด