ปี 2024 วงการสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติ Spot Bitcoin ETF, การลดลงของอุปทาน Bitcoin ที่เกิดใหม่เหลือครึ่งหนึ่งอย่างเหตุการณ์ Bitcoin Halving ที่นำมาซึ่งการสร้างจุดสูงสุดของราคาครั้งใหม่ในประวัติศาสตร์, การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ในการจัด Devcon7 สุดยิ่งใหญ่, การขึ้นสู่ตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมนโยบายพลิกวงการคริปโตเคอร์เรนซี และเมื่อช่วงปลายปีกับมุมมองเกี่ยวกับการนำ Bitcoin มาเป็นทุนสำรองของชาติ ต้องยอมรับว่าเป็นปีทองของ Bitcoin เลยก็ว่าได้ บทความนี้จะพาทุกคนมาทบทวนแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
1. การอนุมัติ Bitcoin ETF: The First International Digital Commodity
มติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.) เมื่อคืนวันที่ 11 มกราคม 2024 ได้สร้าง Legitimacy หรือการคืนความชอบธรรมทางกฎหมายให้กับอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์อย่างเหมาะสม เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ทำให้ Bitcoin ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน Mainstream Asset Class อย่างชัดเจน
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนในแวดวงคริปโตทั่วโลกต่างรอคอยและจับตามอง รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อทิศทางของวงการ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนผ่านเหรียญได้สะดวกและง่ายขึ้น แต่ยังเป็นเหมือนการยืนยันสถานะของ Bitcoin ที่ถูกสบประมาทกว่า 10 ปี ว่าเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ให้กลายเป็น The First International Digital Commodity เป็นที่ยอมรับและให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก
ตัวเลขจาก Farside Investors ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2024 ระบุว่า มีสถาบันที่ถือครอง Bitcoin มากที่สุด ได้แก่ กองทุน iShares Bitcoin Trust จาก BlackRock จำนวน 37,173 BTC คิดเป็นมูลค่า 121,002.63 ล้านบาท รองลงมาเป็น ETF Fidelity Wise Origin Bitcoin จำนวน 11,793 BTC คิดเป็นมูลค่า 38,387.65 ล้านบาท และ ETF Bitwise Bitcoin จำนวน 2,235 BTC คิดเป็นมูลค่า 7,278 ล้านบาท ตามลำดับ
2. Bitcoin Halving: ยิ่งขาดแคลนยิ่งเป็นที่ต้องการ
Bitcoin Halving เป็นกระบวนการทำให้การแก้สมการทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ขุด Bitcoin ยากขึ้นกว่าเดิม และเป็นกลไกที่ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน โดยรางวัลจากการขุด Bitcoin จะลดลงทุกๆ 4 ปี โดยจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 210,000 บล็อก แต่ละบล็อกจะถูกสร้างขึ้นทุก 10 นาที
ก่อนหน้านี้เกิดปรากฏการณ์ Bitcoin Halving มาแล้ว 3 ครั้ง และในเดือนเมษายน 2024 เป็นเหตุการณ์ Halving ครั้งที่ 4 ซึ่งจะลดรางวัลบล็อกจาก 6.25 BTC เหลือ 3.125 BTC เหมือนเป็นการลดจำนวนซัพพลายการปล่อย BTC ใหม่เข้าสู่ตลาดนั่นเอง
ปรากฏการณ์ Halving ล่าสุดนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นตัวกระตุ้นสร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่ตลาดขาขึ้น และอย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่า Bitcoin จะสามารถสร้างราคาสูงสุดครั้งใหม่ได้ก่อน Halving จะมาถึง เพราะตามสถิติในแต่ละรอบที่ผ่านมายังไม่เคยมีรอบไหนที่ทำ New High แบบรอบนี้
สำหรับประเทศไทย Halving ที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสสำคัญในการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ชุมชนคริปโตในประเทศ เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการลดจำนวนซัพพลายของ Bitcoin และพร้อมรับมือกับการเข้ามาสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีทั้งเรื่องเป็นไปตามคาดและเกินคาดได้เช่นกัน
3. Devcon7 SEA: นักพัฒนาหลายหมื่นคนมุ่งหน้าสู่ประเทศไทย
หนึ่งในความภาคภูมิใจของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนไทยในปี 2024 คือการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดงาน Devcon7 แสดงให้เห็นถึงความมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านบล็อกเชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวของนักพัฒนา Ethereum จากทั่วโลก ดึงดูดผู้พัฒนา ทั้งผู้ประกอบการและผู้นำความคิดหลายหมื่นคนมายังกรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา DApps DeFi และความยั่งยืน
งานนี้ยังช่วยยืนยันสถานะของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับคริปโต และส่งเสริมความร่วมมือที่อาจนำไปสู่นวัตกรรมสำคัญในอนาคตด้วย
4. นโยบายคริปโตของทรัมป์: ผลกระทบต่อตลาดโลก
การกลับมาของทรัมป์ในฐานะผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ทำให้เกิดความสนใจใหม่ต่อนโยบายคริปโตของสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนต่อคริปโตในช่วงแรก แต่นโยบายของรัฐบาลในปี 2024 ชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่เน้นการเปิดกว้าง เปลี่ยนแปลง ควบคุม และสนับสนุนนวัตกรรมคริปโตและบล็อกเชน เพื่อให้สหรัฐฯ ก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มตัว
สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทาย การมีความชัดเจนด้านกฎระเบียบอาจส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน แต่การควบคุมที่เข้มงวดขึ้นในสหรัฐฯ อาจทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างประเทศไทย รัฐบาลไทยจำเป็นต้องหาจุดสมดุล เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
5. Bitcoin เป็นทุนสำรองของชาติ: ข้อเสนอที่กล้าหาญ
จากปี 2021 ที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยอมรับและเปิดกว้างให้ Bitcoin เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประเทศต่างๆ ก็ได้มองเห็นประโยชน์ อีกทั้งยังเรียนรู้จากช่องโหว่ที่ต้องปรับ เพื่อมาพัฒนาหาแนวทางที่เหมาะสม จนมาถึงปัจจุบันหลายประเทศก็เริ่มสำรอง Bitcoin ไว้แล้ว
ข้อมูลจาก BitcoinTreasuries ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2024 ระบุว่า สหรัฐฯ ถือครอง Bitcoin มากที่สุดในโลก จำนวน 198,109 BTC รองลงมาคือจีน ซึ่งถือครอง 190,000 BTC ส่วนสหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับ 3 ด้วยการถือครอง 61,245 BTC ขณะที่ยูเครนเป็นผู้นำในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ด้วยการถือครอง 46,351 BTC ซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลในระดับประเทศ และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานก็มีการขุดและถือครอง 11,688 BTC ด้วยเช่นกัน
แนวคิดการใช้ Bitcoin เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองของชาติกำลังได้รับความสนใจในระดับโลก อย่างน้อยประเทศไทยควรเริ่มพิจารณาเพิ่ม Bitcoin เข้าไปในคลังสำรองของประเทศในสัดส่วนเพียง 1-2% ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนคลังสำรองทั้งหมดเป็น Bitcoin เพราะหากเริ่มดำเนินการในตอนนี้ ต้นทุนจะยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับอนาคตที่ราคาอาจสูงขึ้นแล้วเราไปเริ่มในตอนนั้น เริ่มในวันที่เราอาจต้องเสียเงินอย่างมหาศาล
การพิจารณา Bitcoin เป็นสินทรัพย์สำรองของประเทศไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยงทางการเงิน แต่ยังแสดงถึงการเปิดรับนวัตกรรมใหม่ในระดับนโยบาย ซึ่งสามารถเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยบนเวทีโลกด้านเทคโนโลยีการเงินได้ในอนาคตด้วย
คำเตือน:
- คริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- เนื้อหาดังกล่าวจัดทำโดย บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.
อ้างอิง: