ในปี 2567 พรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองอันดับ 3 จากการมีที่นั่ง สส. ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 71 ที่นั่ง ถูกยกให้เป็นพรรคการเมืองที่มีความรุ่งเรือง และมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุด
พรรคภูมิใจไทยที่ก่อร่างสร้างตัวเมื่อปี 2551 โดยกลุ่มเพื่อน เนวิน ชิดชอบ และกลุ่ม ‘มัชฌิมา’ ของสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่แยกตัวออกมาหลังยุบพรรคพลังประชาชน และเกิดความขัดแย้งกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย
วางฐานะตัวเอง ‘เป็นกลาง’ ในสถานการณ์ความวุ่นวายจากม็อบเหลือง-แดง โดยมีจุดยืนเป็นพรรคอนุรักษนิยม และมีอุดมการณ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ‘เลือดสีน้ำเงิน’
ช่วงแรกของการก่อตั้ง พรรคภูมิใจไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยังคงเป็นแค่พรรคการเมืองขนาดเล็ก โดยเริ่มเติบโตเรื่อยๆ หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตามที่วิญญูชนต่างทราบดีว่า มีหัวเรือหลักคือ ‘ครูใหญ่เนวิน’ เป็นผู้เดินเกมหลังฉากการเมือง และมี ‘อนุทิน’ เป็นผู้เดินเกมหน้าฉากการเมือง
2 ผู้นำแห่งพรรคภูมิใจไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล และ เนวิน ชิดชอบ
ปัจจุบันพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่การนำของ เศรษฐา ทวีสิน สู่ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับการจัดสรรปันส่วนโควตารัฐมนตรีมากที่สุดถึง 8 คน (รัฐมนตรีว่าการ 4 ตำแหน่ง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 ตำแหน่ง)
ประกอบด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายเนวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ‘2 นายทุน’ ประกอบด้วย พิพัฒน์ รัชกิจประการ นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ศุภมาส อิศรภักดี นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ขณะที่โควตารัฐมนตรีช่วยอีก 4 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สายตรงโรงโม่หินผู้ครองเมืองบุรีรัมย์, ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นลูกสาวคนกลาง ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ โควตาบ้านใหญ่อุทัยธานี, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โควตาบ้านใหญ่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอีก 1 โควตานายทุนพรรคคือ นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของตลาดศรีเมืองแห่งราชบุรี
8 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย กับชุดเครื่องแบบข้าราชการปกติขาว
หลังเสร็จสิ้นการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีแพทองธาร
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ตลอดช่วงที่ผ่านมา คอการเมืองทราบดีว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่มี ‘เอกภาพ’ ภายในพรรคมากที่สุด เห็นได้จากการที่สมาชิกไม่เคยแตกแถว เมื่อได้รับคำสั่งให้เดินไปในทิศทางไหน ทุกคนก็จะเดินไปทิศทางเดียวกันเสมอ จึงทำให้พรรคภูมิใจไทยมีเสถียรภาพอย่างมาก
กระนั้นก็ใช่ว่า ‘พรรคภูมิใจไทย’ จะเป็นพรรคการเมืองที่ไร้ซึ่งอุปสรรคในการเดินบนเส้นทางการเมือง
ในช่วงต้นปี 2567 พรรคภูมิใจไทยต้องเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหญ่ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ให้ความเป็นรัฐมนตรีของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ น้องชายคนเล็กของเนวิน เลขาธิการพรรค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องสิ้นสุดลง จากคดีซุกหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ศักดิ์สยามจึงแสดงความประสงค์ขอลาออกจาก สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 และตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น แต่พรรคภูมิใจไทยยังต้องกังวลกับผลสืบเนื่องมาจากคดีข้างต้น เนื่องด้วย หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เคยบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย
ทั้งนี้ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงินโดยรู้หรือควรจะได้รู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่คล้ายกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. แต่เลขาธิการ กกต. เคยเปรยๆ ก่อนหน้านี้ว่า คดีดังกล่าวอาจไม่เป็นเหตุยุบพรรค ถึงอย่างไรยังต้องรอเอกสารแจ้งอย่างเป็นทางการก่อน
พรรคภูมิใจไทยจึงได้ถือโอกาส ‘รีโนเวต’ กรรมการบริหารพรรคครั้งใหญ่ และเหลือไว้เพียงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของอนุทินเท่านั้น ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นผู้บริหารพรรค
มี ไชยชนก ชิดชอบ บุตรชายคนโตของครูใหญ่เนวิน นั่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ ส่วนกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ อีก 14 ตำแหน่งก็ล้วนมีโปรไฟล์เป็นลูกบ้านใหญ่ตระกูลดัง แบ็กดี และมีพื้นที่เหนียวแน่นทั้งสิ้น
เลือดใหม่ทีมบริหารพรรคภูมิใจไทย จากบ้านใหญ่ 12 ตระกูล
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร
อุปสรรคต่อมาเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2567 เมื่อ ‘เศรษฐา’ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นประกาศเตรียมให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณานำ ‘กัญชา’ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทยมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 กลับไปเป็นยาเสพติด
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าไม่ยอม พร้อมคัดค้านเต็มที่ แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอม นำไปสู่การพูดคุย ‘ดีล’ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง จึงนำมาซึ่งทางออกตรงกลาง คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใช้กฎหมายควบคุมกัญชา
ก่อนที่ ‘อำนาจ’ แห่งเกมการเมืองในรัฐสภาจะมาอยู่ในมือของพรรคภูมิใจไทย หลังจากรัฐสภาได้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ชุดที่ 13 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 150 ใน 200 คน เป็นคนในเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย จนถูกตั้งฉายาว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’
สำหรับ สว. มีหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย, การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม, การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย เช่น องค์กรอิสระ แต่จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือน สว. ชุดก่อนหน้านี้
ความสัมพันธ์ของ สว. ชุดใหม่ และพรรคภูมิใจไทยตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มมีการแสดงออกมากขึ้นว่าอยู่ข้างเดียวกัน หาก สส. พรรคภูมิใจไทยเลือกเดินทางซ้าย สว. ก็จะเดินไปทางซ้าย
เช่น การประชุมพิจารณากฎหมายที่สำคัญในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม หรือแม้แต่กฎหมายประชามติ ที่ สว. ยืนยันใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) พรรคภูมิใจไทยก็ลงมติเห็นด้วย แม้จะโหวตแพ้ในห้องประชุม สส. แต่จากมติของ สว. ก็ทำให้ก้าวแรกของการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล้าช้าไปอีก 180 วัน
ทำให้จากนี้ไม่อาจละสายตาในการปฏิบัติหน้าที่ของ 200 สว. โดยเฉพาะการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้ง กกต., ป.ป.ช., ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้มี ‘ลุงบ้านป่า’ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กุมอำนาจ แต่นับจากนี้เกมจะพลิกและถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ที่ ‘ลุงเน’ ฅนบุรีรัมย์เลือดสีน้ำเงินแทน
อนุทิน ชาญวีรกูล, ไชยชนก ชิดชอบ และ สส. พรรคภูมิใจไทย
ร่วมถ่ายภาพ พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1
ระหว่างร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1)
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
ในช่วงปลายปี 2567 พรรคภูมิใจไทยต้องเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่ลูกสุดท้าย ในกรณีมหากาพย์ที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นพิพาท ‘ถอน’ หรือ ‘ไม่ถอน’ หนังสือแสดงสิทธิ ระหว่าง ‘กรมที่ดิน’ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการดูแลของพรรคเพื่อไทย ที่มีจุดหมายปลายทางที่ต้องการงัดกับครูใหญ่แห่งเมืองบุรีรัมย์
ขณะที่อินไซต์จากวงในการเมืองต่างทราบดีว่า การโต้ไปมาของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นเพียงละครฉากใหญ่ ที่ต้องการวัดพลัง-ต่อรองคานอำนาจการเมืองของ 2 พรรคการเมือง
แต่บทสรุปของมหากาพย์ครั้งนี้อยู่ระหว่างรอคำตัดสินของคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าศึกครั้งนี้จะจบอย่างไร
ภูมิใจไทย ‘ตัวถ่วง (ดุล)’ เพื่อไทย
รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของพรรคภูมิใจไทย กับ THE STANDARD ว่า พรรคภูมิใจไทยมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2551 เห็นถึงพัฒนาการและความสำเร็จของพรรคภูมิใจไทยที่สามารถระดมเครือข่ายทางการเมือง โดยเฉพาะเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ให้เข้าสู่การเลือกตั้งได้
หากพิจารณาจากคะแนนความนิยมของพรรคจากการมี สส. บัญชีรายชื่อแล้ว แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ถ้าพิจารณาจาก สส. เขต จะเห็นว่าพรรคภูมิใจไทยขยายฐานเสียงได้จากกลุ่มบ้านใหญ่ สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมากคือ ในเวลานี้พรรคภูมิใจไทยสามารถเข้าไปแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ได้เกือบ 70%
รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีจำนวน สส. เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคประชาชน เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลก็ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทในฐานะที่เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้น
รศ. ดร.โอฬาร มองว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเกิดขึ้นจากการดีลกับบรรดากลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่มีศัตรูร่วม คือพรรคประชาชน (พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล) แต่ขณะเดียวกันชนชั้นนำก็ไม่ได้ไว้ใจพรรคเพื่อไทย การที่ทักษิณถูกเลือกใช้บริการในเวลานี้ไม่ได้หมายความว่าทักษิณจะได้รับความไว้ใจ ชนชั้นนำจึงจำเป็นต้องวางพรรคภูมิใจไทยให้เป็นพรรคการเมืองที่ ‘ถ่วงดุล’ พรรคเพื่อไทย
เนื่องจากชนชั้นนำเชื่อว่า ‘ทักษิณ’ แอบมีดีลลับ ‘ธนาธร’ ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคประชาชน โดยเห็นว่าบทบาทของพรรคฝ่ายค้านไม่ค่อยกล้าตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงไม่กล้าตรวจสอบทักษิณกรณีชั้น 14
สามารถสังเกตการเมืองได้โดยง่าย คือเมื่อพรรคเพื่อไทยคิดจะทำอะไร หรือขับเคลื่อนเชิงนโยบายใดที่จะกระทบต่อสถานะชนชั้นนำจะถูกสกัดโดยพรรคภูมิใจไทยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องมาตรา 112 หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประชามติ
“เมื่อไรก็ตามที่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนขยับ พรรคภูมิใจไทยจะขวางทันที”
อนุทิน ชาญวีรกูล และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
สวมใส่เสื้อสีเหลืองระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางหลุดรัฐบาล
การกระทบกระทั่งของพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะภาพการรับบท ‘ขวางรัฐบาล’ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยหลุดจากพรรคร่วมรัฐบาล
รศ. ดร.โอฬาร ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางที่จะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่สำคัญกว่าคือพรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้าผลักพรรคภูมิใจไทยออกเช่นกัน
“เมื่อไรที่พรรคเพื่อไทยผลักพรรคภูมิใจไทยออก รัฐบาลก็เจ๊งตอนนั้น แม้จะมีพรรคประชาชน แต่ถ้าไม่มี สว. สนับสนุน พรรคเพื่อไทยก็ไปต่อไม่ได้”
ถ้าพรรคภูมิใจไทยออกไปเป็นฝ่ายค้านจะกระทบกับทักษิณและพรรคเพื่อไทย แม้จะมีความขัดแย้งหรือมีความต่างกันเรื่องจุดยืน ถือเป็นเรื่องธรรมชาติทางการเมือง แต่จะให้แตกกันแล้วถอนตัวในพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
เครือข่ายสีน้ำเงินจาก สว. สีน้ำเงิน สู่เลือกตั้งท้องถิ่น
เหตุที่เครือข่ายสีน้ำเงินประสบความสำเร็จมากว่าเครือข่ายสีส้มในการเลือก สว. เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา รศ. ดร.โอฬาร มองว่า เครือข่ายสีน้ำเงินนั้นมีการวางแผนการลงสมัครอย่างเป็นระบบ มีกลไกการจัดการ มีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีทรัพยากร มีความพร้อมในการระดมคน หลังจากนั้นก็ยังมีการควบคุมผ่านกลไกต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากการลงมติที่สำคัญๆ ทุกครั้งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้แต่เสื้อผ้าหน้าผมก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย แต่ก็เกลียดส้มอยู่ จึงต้องใช้พรรคภูมิใจไทยเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ได้ สว. เพื่อให้ สว. มีโอกาสไปตั้งผู้ดํารงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพื่อถ่วงดุลทางการเมือง”
ส่วนการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. อย่างเป็นทางการทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 แม้พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทยจะมีบ้านใหญ่ในปริมาณที่เท่าๆ กัน แต่ รศ. ดร.โอฬาร ให้น้ำหนักไปที่เครือข่ายบ้านใหญ่ของพรรคภูมิใจไทยมากกว่า โดยยึดจากการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในจังหวัดต่างๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผลว่าสัดส่วนที่เป็นเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จมีชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
ประกาศเข้มข้าราชการสังกัดมหาดไทยทุกระดับ
วางตัวเป็นกลางในศึกเลือกตั้งท้องถิ่น
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
รศ. ดร.โอฬาร มองอีกว่า การที่เครือข่ายบ้านใหญ่กลับมาขายได้อีกครั้งนั้น มีสาเหตุมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา แม้บ้านใหญ่จะเริ่มลดบทบาทไปแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญา หรือทำแล้วแต่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ มีคนไม่สามารถเข้าถึงนโยบายที่ตนเองคาดหวัง จึงต้องกลับไปหาบ้านใหญ่ที่ดูแลเขาได้
นอกจากนี้ยังมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินไป จนไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน ทำให้คนจํานวนมากต้องพึ่งพากลุ่มบ้านใหญ่ที่พอมีทรัพยากร
จึงเป็นเหตุที่ทำให้บ้านใหญ่ที่มีทรัพยากรที่ดูแลประชาชนได้ กลับมามีบทบาทอีกครั้งโดยเฉพาะในการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ และมีแนวโน้มที่จะส่งผลถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ด้วย ซึ่งเห็นสัญญาณชัดจากกรณีทักษิณที่เดินสายสร้างความสัมพันธ์กับบ้านใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป
เปิดอาณาจักรพรรคเครือข่ายสีน้ำเงิน
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงขุมกำลังที่พรรคภูมิใจไทยมี แต่พรรคการเมืองอื่นไม่มี สามารถแบ่งได้ 3 ปัจจัย ดังนี้
- เครือข่ายบ้านใหญ่
การจัดการผลประโยชน์ของเครือข่ายบ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองนั้น พรรคภูมิใจไทยถือเป็นพรรคการเมืองที่ ‘ใจถึง’ เช่น การปรับตำแหน่งคณะรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทยขยับตัวน้อยมาก หรือแทบไม่ปรับเลย เป็นการแสดงออกว่า ‘ให้แล้วให้เลย’
การให้แล้วให้เลยทำให้บรรดาบ้านใหญ่รู้สึกว่าเป็นระบบที่ทำให้ได้ครองอำนาจอย่างยาวนาน สามารถใช้อำนาจที่ได้ไปเอื้อผลประโยชน์ต่อการขยายตัวในทางเศรษฐกิจ
จึงเป็นเหตุให้บรรดาบ้านใหญ่พอใจต่อการจัดการผลประโยชน์ในลักษณะนี้ ซึ่งมันแตกต่างจากการจัดการของพรรคเพื่อไทย แต่หากเทียบจำนวนบ้านใหญ่ของแต่พรรคก็เห็นว่า ทั้งสองพรรคมีเท่าๆ กัน ไม่ได้มีพรรคไหนมีจำนวนมากกว่ากัน
จากซ้าย: เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส. จากบ้านใหญ่ จังหวัดอุทัยธานี, พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส. จากบ้านใหญ่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, อนุทิน ชาญวีรกูล และ ไชยชนก ชิดชอบ สส. จังหวัดบุรีรัมย์ บุตรชายคนโตของครูใหญ่เนวิน
ทำมือรูปหัวใจ ถ่ายรูปร่วมกันในงานเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- เครือข่ายอนุทิน
เนื่องจากอนุทินเป็นคนที่มีโปรไฟล์ที่ดี มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มีความรู้และมีเครือข่ายกว้างขวาง ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ กลุ่มทุนต่างๆ รวมถึงกองทัพด้วย
- มีจุดยืนทางการเมือง
พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มากกว่าทุกพรรคการเมือง ที่สำคัญคือมีกุนซือคนสำคัญคือ ‘ครูใหญ่เนวิน’ ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยสมประโยชน์กับชนชั้นนำท้องถิ่น
ศูนย์รวมอำนาจ-อนาคตการเมืองไทย?
แม้จะมีสิ่งที่เกื้อหนุนจาก 3 องค์ประกอบข้างต้น แต่สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยในเวลานี้ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อที่จะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่นั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่าพรรคภูมิใจไทยต้องเร่งสร้างจุดขาย ทำให้ประชาชนและชนชั้นนำเห็นว่า พรรคสามารถเป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมได้จริง
เช่น สามารถระดมนักการเมืองที่กระจัดกระจายอยู่ท่ามกลางวิกฤต ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค และพัฒนาให้สามารถต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยได้ ด้วยการทำนโยบายอนุรักษนิยมแบบร่วมสมัยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่โหนสถาบันกษัตริย์จนเกินล้น
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
และจาก 3 ปัจจัยที่พรรคภูมิใจไทยมีเหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นนั้น รศ. ดร.โอฬาร มองว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’
ทำไมจึงมองเช่นนั้น หากพรรคภูมิใจไทยสามารถทำให้พรรคใหญ่ขึ้นบนฐานนโยบายแนวอนุรักษนิยม สามารถระดม สส. บ้านใหญ่ เข้ามาร่วมพรรคได้ ขณะเดียวกันก็มี สว. เป็นพันธมิตร
มากไปกว่านั้น หากในอนาคตพรรคประชาชนเจอวิกฤต 44 สส. จากการลงชื่อแก้มาตรา 112 จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาชนตกต่ำลง ทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นการสู้กันระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย
หากวันนั้นพรรคภูมิใจไทยกระแสดีขึ้น พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีความจำเป็นสำหรับชนชั้นนำอีกต่อไป เพราะชนชั้นนำจะไว้วางใจอนุทินมากกว่า ด้วยเงื่อนไขนี้จึงทำให้อนุทินจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีได้
หากสังเกตดีๆ ในช่วงเวลานี้ เริ่มมีปฏิบัติการทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่มีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เหมือนกำลังเตรียมอะไรบางอย่าง เช่น เรื่องที่ร้องไว้จำนวนมาก อาจนำไปสู่การยุบพรรค
“หากมีเรื่องยุบพรรค แล้วถามว่าบรรดา สส. บ้านใหญ่จะไหลไปไหน ก็ต้องไหลไปที่พรรคภูมิใจไทย ถ้าวันนั้นพรรคประชาชนถึงแม้ไม่โดนยุบแต่กระแสตกต่ำ เลือกตั้งมาแล้วก็มาเป็นฝ่ายค้าน มี สส. ไม่ถึง 100 คน ถามว่าพรรคภูมิใจใครจะกลัวไหม ในเมื่อตัวเองก็มี สส. มี สว.ในมือ”
รศ. ดร.โอฬาร กล่าวอีกว่า โอกาสเป็นพรรคภูมิใจไทยแล้ว เนื่องจากทักษิณเข้ามาแล้วทำลายความศรัทธาต่อสถาบันฯ หลัก ด้วยการแสดงพฤติกรรมซึ่งมีคนจำนวนมากไม่ชอบ จึงไม่แปลกที่ทักษิณจะระแวงพรรคภูมิใจไทย จนต้องโชว์ภาพตีกอล์ฟกลบเกลื่อนรอยร้าวแห่งความขัดแย้ง เพราะตัวเองก็กลัวหากต้องกลับไปติดคุก
‘ตีกอล์ฟสยบรอยร้าวรัฐบาล’
จากซ้าย: สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟ Stone Hill Club จังหวัดปทุมธานี
มากไปกว่านั้น ทักษิณก็เริ่มเห็นศักยภาพของพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่การควบคุม สว. และชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ. หลายๆ จังหวัด ที่สำคัญทักษิณไม่เคยปักธงในพื้นที่ภาคใต้ได้ พรรคภูมิใจไทยที่มาทีหลัง กลับแต่สามารถปักธงได้แล้ว
หากดูจากฐานคะแนนทักษิณมีพื้นที่แค่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ จนทำให้สัดส่วนที่นั่งในสภาของพรรคภูมิใจไทยเริ่มมีมากขึ้น
ส่วนข้อด้อยของพรรคภูมิใจไทยคือ มีภาพลักษณ์เชิงนโยบายที่ไม่โดดเด่นเท่ากับพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันบุคลิกภาพการเป็นผู้นำของอนุทินยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจ และสร้างความประทับใจให้เท่าทักษิณ
ดังนั้นหนทางที่พรรคภูมิใจไทยจะก้าวสู่ศูนย์รวมอำนาจ และเป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยม แม้ไม่ใช่เรื่อง ‘ง่าย’ แต่ก็ใช่ว่าเป็น ‘เรื่องยาก’
เมื่อมีหลายปัจจัยที่เอื้อให้มากกว่าหลายพรรคการเมือง เป็นโอกาสและหน้าที่ของ ‘อนุทิน’ ในฐานะผู้นำพรรค ที่ต้องเร่งสร้างจุดขายและทำนโยบายอนุรักษนิยมแบบร่วมสมัยให้โดนใจประชาชนเพื่อสร้างคะแนนนิยม ดันพรรคภูมิใจไทย และพาตัวเองเข้าตึกไทยคู่ฟ้า ศูนย์รวมอำนาจ และเป็นผู้กำหนดอนาคตการเมืองไทย