×

กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ เข้ากลาโหม แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานธุรกิจของกองทัพ

โดย THE STANDARD TEAM
25.12.2024
  • LOADING...
ธุรกิจกองทัพ

วันนี้ (25 ธันวาคม) พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษากรรมาธิการ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือข้อราชการเกี่ยวกับสถานะและบทบาทที่เหมาะสมของกองทัพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้กองทัพเป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพ มีภารกิจเฉพาะการปกป้องอำนาจอธิปไตยและดินแดนของรัฐจากการรุกรานภายนอก หรือภารกิจด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศเท่านั้น

 

ให้กองทัพในฐานะองค์กรและปัจเจกบุคคลมีบทบาทในกิจการภายในประเทศ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการเชิงธุรกิจของกองทัพ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการหารือในวันนี้ใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

โอกาสนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องยุทธนาธิการ ศาลาว่าการกลาโหม กระทรวงกลาโหม

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมชี้แจงถึงนโยบายเกี่ยวกับที่ดินที่อยู่ในการดูแลของเหล่าทัพ โดยกองทัพมีที่ดินในความครอบครอง ดูแล และใช้ประโยชน์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 5.9 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งหน่วย พื้นที่ฝึก และดำเนินการตามภารกิจของ ทบ. ปัจจุบันมีประชาชนเข้าใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตและจัดให้เช่าแล้วบางส่วน และยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ เนื้อที่รวมประมาณ 1.2 ล้านไร่เศษ

 

อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์สิทธิแล้วพบว่าประชาชนอยู่มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ กองทัพต้องเคารพสิทธิดังกล่าว โดยประชาชนสามารถไปออกเอกสารสิทธิตามขั้นตอนได้ แต่หากพบว่าสิทธิในที่ดินเป็นของรัฐ กองทัพก็พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา โดยการให้ประชาชนยื่นขอเช่ากับกรมธนารักษ์ให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายต่อไปในพื้นที่ที่กองทัพยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

สำหรับที่ดินที่กองทัพไม่ได้ใช้ประโยชน์คือที่ดินที่ส่วนราชการภายนอกขอใช้ประโยชน์จากกองทัพ และที่ดินที่ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามภารกิจของกองทัพ นอกจากต้องมีพื้นที่ตั้งหน่วยปกติและพื้นที่สำหรับการฝึก-ศึกษาแล้ว ยังต้องใช้พื้นที่สำหรับการฝึกตามแผนป้องกันประเทศด้วย ซึ่งพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ต้องรองรับขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดกว้างขวาง เช่น การฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยปืนใหญ่ การฝึกในระดับกรมผสม รวมทั้งการสงวนการปฏิบัติในพื้นที่ส่วนหลังเมื่อเกิดสถานการณ์ ดังนั้นกองทัพบกต้องสงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคตเมื่อมีความจำเป็น

 

ส่วนการดำเนินการนำที่ดินไปให้ประชาชนเช่าใช้ประโยชน์ตามนโยบายรัฐบาลในระยะที่ 1 ห้วงปีงบประมาณ 2567 เหล่าทัพยินยอมให้กรมธนารักษ์นำพื้นที่ไปจัดให้ประชาชนเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรแล้วจำนวน 16,000 ไร่เศษ และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 เนื้อที่รวมประมาณ 59,000 ไร่เศษ

 

รวมถึงการนำเสนอแนวทางการดำเนินการจัดสวัสดิการภายในของ กห. การจัดสวัสดิการของ กห. (สป., บก.ทท. และเหล่าทัพ) ซึ่งมีมานานแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่กำลังพลและครอบครัว ตลอดจนเพิ่มรายได้ให้แก่กำลังพล รวมถึงเป็นการรักษาพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยตามที่ได้รับการจัดสรรให้มาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป กห. ได้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดสวัสดิการให้สอดคล้องตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

 

กิจการสวัสดิการของกระทรวงกลาโหมไม่ได้ปิดกั้นการใช้บริการเฉพาะกำลังพลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการได้ด้วย ซึ่งมีหลายกิจการสวัสดิการที่มีที่ตั้งในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่การคมนาคมที่สำคัญ ซึ่งเอื้อให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีเวลาเปิด-ปิดเกินกว่าระยะเวลาทำการของกระทรวงกลาโหม จึงดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการจัดกิจการสวัสดิการภายในหน่วยบางกิจการที่มีบุคคลทั่วไปเข้าใช้เป็นจำนวนมาก เป็นการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ เพื่อให้มีความถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 และจำแนกประเภทการจัดสวัสดิการออกเป็นการจัดสวัสดิการภายในหน่วยและการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจอย่างชัดเจน

 

ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมมีกิจการสวัสดิการขนาดใหญ่ เช่น สนามกอล์ฟ, สถานีบริการน้ำมัน, สถานพักฟื้นและพักผ่อน และตลาดนัด รวมถึงกิจการขนาดใหญ่อื่นๆ รวมจำนวนทั้งสิ้น 152 กิจการ แบ่งเป็นกิจการสวัสดิการในเชิงธุรกิจ จำนวน 86 กิจการ ซึ่งดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงเช่าที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนกิจการที่เหลืออีก 66 กิจการ ยังคงดำเนินการในรูปแบบสวัสดิการภายใน เนื่องจากกิจการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านในของหน่วย ไม่ติดถนนใหญ่ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นกำลังพล และเปิด-ปิดใกล้เคียงเวลาราชการ

 

ทั้งนี้ ภูมิธรรมกล่าวขอบคุณ กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ ที่เข้ามาหารือแลกเปลี่ยนและเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในส่วนของการบริหารและงานของ กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ ในการตรวจสอบเป็นงานที่สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ ส่วนรายละเอียดของประเด็นต่างๆ ที่ กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ นำเสนอ ทางกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพจะนำไปหารือ วิเคราะห์ พิจารณา และศึกษาเพิ่มเติม โดยจะมีการนัดหารือพูดคุยกันในโอกาสต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X