วานนี้ (24 ธันวาคม) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการฯ รวมถึงคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้ก็ส่งยิ้มหวานๆ ให้กัน จริงๆ คิดถึงการประชุมนี้มาก เพราะไม่ได้ประชุมกันมานาน และถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติอีกครั้งในฐานะนายกฯ แต่เราทำงานต่อเนื่องจากที่เราทำมาปีกว่า ทั้งนี้ หลายๆ อุตสาหกรรมได้เห็นผลงานกันมาจากหลายเรื่องแล้ว อย่างปีนี้ก็มีหลักสูตรการเรียนต่างๆ ซึ่งช่วงนี้ก็เริ่มทำงบประมาณปี 2569 กันอยู่ วันนี้ก็มาดูว่าทำอะไรได้บ้างที่จะเหมาะสมกับสิ่งที่จะทำ
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เรื่องหลักๆ เป็นเรื่องของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการขอจัดสรรงบประมาณการพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. …. (พ.ร.บ. THACCA) และการจัดประชุมซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัม และขอยืนยันว่านโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอยู่แล้ว มีอะไรก็ผลักดันกันอย่างเต็มที่
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล
อธิบดีเปิดเผยว่า รัฐบาลเห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันไทย มีความแข็งแกร่ง สามารถเป็นเรือธงในการส่งเสริมเศรษฐกิจและซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็รับผิดชอบในเรื่องนี้ และมีภารกิจในการดำเนินการ 4 เรื่องหลัก
- การสนับสนุนการผลิต
- พัฒนาบุคลากร
- ส่งเสริมการตลาด หรือการพาบุคลากรไปร่วมงานเทศกาลในต่างประเทศ
- กิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมในวันนี้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันไทย วงเงิน 220 ล้านบาท ในปี 2568 โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณา 3 ระดับ ได้แก่
1. คณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์
2. คณะกรรมการกลั่นกรอง
3. คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
ประกอบจาก 4 ส่วนคือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์, คนในสถาบันการศึกษาหรืออุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของงบประมาณก้อนนี้ แบ่งเป็นงบสนับสนุนการผลิต 200 ล้านบาท เป็นการสร้าง IP ด้านอุตสาหกรรม 10 ล้านบาท และสร้างหนังสั้นอีก 10 ล้านบาท
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะขอรับเงินสนับสนุน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นนิติบุคคล ทั้งบริษัท สมาคม มูลนิธิ และนิติบุคคลอื่น ที่จดทะเบียนในประเทศไทย กลุ่มที่ 2 สถาบันการศึกษาที่อยู่ในกำกับของรัฐแต่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ และสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งโครงการที่เสนอจะต้องเป็นโครงการที่ดี มีความหลากหลาย ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้กับนานาชาติ ต้องสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับคนในอุตสาหกรรมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและอัตลักษณ์ไทยไปสู่สากลอย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนคุณสมบัติที่ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนเงินในส่วนนี้ได้คือ การจัดซื้อครุภัณฑ์ ก่อสร้างอาคาร และปรับปรุงพื้นที่, งานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์, การสังสรรค์ชุมนุมและดูงานหรือกิจกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ผู้ที่สนใจสามารถยื่นโครงการผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2568 หลังจากพิจารณาเสร็จผู้รับทุนจะต้องทำข้อตกลงกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยจะประกาศผลผ่านกระทรวงวัฒนธรรม และทำหนังสือแจ้งให้มาทำข้อตกลงภายใน 5 วันทำการ และต้องรายงานผลภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568
ขณะที่ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล กล่าวว่า จากการทำงานอันยาวนานของคณะกรรมการ ครั้งนี้ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของงบประมาณในการทำงาน คือการพัฒนาตัวงานไม่ว่าจะเป็นต้นทาง การถ่ายทำ หรือขั้นตอนหลังการถ่ายทำ นอกจากจะพิสูจน์การทำงานของคณะอนุกรรมการในการผลักดันบุคลากร ผลักดันอุตสาหกรรม และผลักดันคุณภาพงาน ตัวพิสูจน์ที่แท้จริงคือตัวผลงานเอง ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและสร้างรายได้ โดยงบประมาณ 220 ล้านบาทนี้จะเป็นเพียงก้าวแรกที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์กลายเป็นเครื่องมือซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง และหวังจะเห็นผลงานคุณภาพที่มีความสามารถในการแข่งขันเท่าเทียมนานาประเทศ