×

กลุ่มยานยนต์มอง ‘ฮอนด้า-นิสสัน’ ควบรวม เปิดโอกาสไทยขยายฐานผลิต EV-ไฮบริด ชงรัฐตั้งกองทุนรถกระบะถูกยึด 5 พันล้าน หลังปีนี้ยอดขายไร้สัญญาณฟื้น

25.12.2024
  • LOADING...
honda-nissan-merge-thailand-ev-hybrid-opportunity

แบงก์เข้มสินเชื่อ เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ ฉุดยอดผลิต ส่งออก ยอดขายรถยนต์เดือนพฤศจิกายนร่วงอีก 31.34% ประธานกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท. มองการควบรวมนิสสัน-ฮอนด้า เป็นโอกาสกระตุ้นขยายฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV-ปลั๊กอินไฮบริด ดันตั้งกองทุนชดเชยรถกระบะถูกยึด 5 พันล้าน กระตุ้นยอดขายรถในประเทศทรุดหนักทั้งปี ชี้วิน-วินทั้งคนซื้อและรัฐบาลที่เก็บภาษีและรายได้เข้าคลัง

 

วานนี้ (24 ธันวาคม) ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยว่า การผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดของเดือนพฤศจิกายน 2567 มีทั้งสิ้น 117,251 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง 28.23% โดยลดลง 20.67% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตส่งออกลดลง 20.67% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 40.42% ยอดขายรถยนต์ของเดือนพฤศจิกายนลดลง 31.34% 

 

ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 464 คัน เพิ่มขึ้น 46,400% แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) อยู่ที่ 5,519 คัน ลดลง 36.53% เช่นกัน ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ในช่วง 11 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 1.36 ล้านคัน ลดลง 20.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 89,646 คัน ลดลง 10% ลดลง 12.98% จากเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567) อยู่ที่ 942,867 คัน ลดลง 8.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่ารวม 879,920.27 ล้านบาท ลดลง 0.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ภาพรวมยอดผลิตปีนี้ยังต่ำกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด เนื่องจากยอดส่งออกและยอดขายในประเทศลดลง หากรัฐบาลสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปี ต้องรอลุ้นยอดผลิตเดือนสุดท้ายในธันวาคมให้ถึง 130,000 คัน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านคัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“ขณะนี้เหลืออีกเดือนเดียวก็จะหมดปี 2567 ดูตัวเลขแล้วสะเทือนใจ ทีแรกคิดว่าปีนี้จะดีขึ้น โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์ในประเทศลดลงจากเดือนที่แล้วถึง 31.34% มาจากปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อแบบต้องมีความรับผิดชอบ เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ยอดเลยสะดุด และยังไม่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร” สุรพงษ์กล่าว

 

สุรพงษ์กล่าวอีกว่า ตลาดในประเทศยังไม่ฟื้น สถาบันการเงินยังเข้มงวด เพราะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ เติบโตในอัตราต่ำที่ 3% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาส 3 ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของ GDP ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ

 

ส่วนกรณีที่บริษัทแม่ของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นแบรนด์นิสสันและฮอนด้าประกาศร่วมมือกันในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สุรพงษ์มองว่าจะส่งผลดีต่อทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในไทย มีฐานผลิตในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเป็นการกระตุ้นและขยายฐานผลิต EV และไฮบริด ที่ปีนี้ยอดขายไฮบริดเติบโตดี เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่ม และจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ร่วมกันมากขึ้น ขณะที่ตลาดโลกให้ความสนใจในเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมกัน ประเด็นนี้จึงมองว่าเป็นสัญญาณที่ดี 

 

ชงรัฐตั้งกองทุนรถกระบะถูกยึด 5 พันล้าน หลังยอดขายรถปีนี้ไร้สัญญาณฟื้น

 

ในฐานะภาคเอกชน โดยมีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายตกต่ำต่อเนื่องไปยังรัฐบาล ให้จัดตั้งกองทุนชดเชยการขาดทุนจากรถกระบะที่ถูกยึดวงเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะให้มากขึ้น 

 

“หากมียอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้น 100,000 คัน ก็เท่ากับมีมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิต 1.8 พันล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.2 พันล้านบาท สูงกว่างบประมาณที่นำมาจัดตั้งกองทุน อีกทั้งยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวเติบโตได้”

 

โดยมองว่าการตั้งกองทุนฯ ถือเป็นเรื่องวิน-วิน ส่วนเหตุผลที่เลือกรถกระบะ เพราะรถกระบะเป็นการใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศสูงถึง 90% และเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชนภาคเกษตร ดังนั้นหากมีการผลิต ขาย ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ และการชดเชยผลจากการขาดทุนจากรถถูกยึดให้ไฟแนนซ์เป็นการชดเชยตามจริง แต่ได้ไม่เกินคันละ 50,000 บาท 

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้กระตุ้นยอดขายได้ เพราะตอนนี้ไฟแนนซ์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะกลัวยึดรถแล้วขายขาดทุน ถ้ากระตุ้นยอดขายรถกระบะปีหน้าเพิ่มอีก 100,000 คัน ยอดผลิตรถปีหน้าจะอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคัน น่าจะมีส่วนช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2568 เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ 2.8% เป็น 3.1-3.2% ท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย 

 

ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X