เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บางจากฯ) ร่วมกับ THE STANDARD จัดงาน Bangchak Group’s Greenovative Forum ครั้งที่ 14 ‘Crafting Tomorrow’s Future with Sustainable Energy and AI’ ในวาระครบรอบ 40 ปี บางจากฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 อย่างยิ่งใหญ่
โดยภายในงานนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับการจัดการด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืน
เทคโนโลยี AI ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความยั่งยืน
ประสงค์ พูนธเนศ รักษาการประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี AI ที่จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมพลังงานก้าวไปข้างหน้า และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญใน 3 องค์ประกอบด้วยกัน
- ช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์การใช้พลังงาน
- ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงานให้ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจที่ต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยมีเทคโนโลยี AI เป็นศูนย์กลาง ต้องคำนึงถึงความสมดุลและผลกระทบระยะยาวต่อการใช้พลังงานและทรัพยากรด้วย ทั้งในแง่ของการประเมินผลข้อมูลขนาดใหญ่ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสนับสนุน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน
ความท้าทายของการรักษาดูแลโลก ควบคู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘AI, Energy and Environment’ กล่าวถึงการนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
แม้ว่า AI มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มขีดความสามารถการทำงาน แต่กระบวนการพัฒนาและใช้งานต้องใช้พลังงานมหาศาล ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว จึงมีการเสนอแหล่งพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานนิวเคลียร์
นอกจากนี้ นวัตกรรมที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากก็คือ DNA Data Storage ซึ่งอาจจะเป็นกุญแจปลดล็อกความสามารถในการบริหารจัดเก็บข้อมูล เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยี AI ในอนาคตข้างหน้า
โดย DNA Data Storage คือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่นำการทำงานของ DNA มาประยุกต์ใช้เพื่อเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่กินพื้นที่ (Storage) และพลังงานน้อยลงอย่างมหาศาล
พลังงานที่โลกต้องจ่าย เพื่อความก้าวหน้าของ AI
ชัยวัฒน์กางข้อมูลออกมาให้เราเห็นว่า เทคโนโลยีที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น กินพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลกอย่างไม่น่าเชื่อ นับตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต คลาวด์ จวบจนยุคของ AI Data Center ในอนาคตอันใกล้ ที่คาดว่าจะใช้กำลังไฟมากถึง 5 GW (กิกะวัตต์) หรือเทียบเท่าการใช้ไฟในโรงกลั่นน้ำมันบางจากถึง 100 โรงกลั่น
นอกจากนี้ กำลังไฟที่ใช้เพื่อป้อนพลังงานให้กับ AI Data Center ทั่วโลกในปัจจุบันเทียบเท่า 130% ของพลังไฟที่การไฟฟ้านครหลวงจ่ายให้กับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ในอนาคต หาก Working Population กว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกใช้ AI พร้อมกัน จะต้องการพลังงานประมาณ 85,000 TWH หรือประมาณ 1,600 เท่าของกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลยทีเดียว
ความจริงนี้เป็นความท้าทายและโจทย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของธุรกิจทั่วโลกที่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขร่วมกันอย่างสามัคคี เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานของโลกในอนาคต
โลกต้องการ Energy Addition มากกว่า Energy Transition
ในช่วงสนทนาพิเศษ ‘Living Sustainably with AI’ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช และ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการอยู่ร่วมกันกับ AI อย่างยั่งยืน หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาก็คือ ในยุคธุรกิจที่ภาคส่วนต่างก็ใช้พลังงานกันอย่างไม่หยุดยั้ง ทางออกที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ
- การหาวิธีผลิตพลังงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะพลังงานสะอาด
- การทำ Global Grid ที่เป็นช่องทางขนส่งพลังงานแบบมวลชน เชื่อมต่อกันทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตต่อไปนี้ สิ่งที่โลกควรให้ความสำคัญคือ Energy Addition เพราะ AI ยังจำเป็นต้องอาศัยพลังงานจำนวนมาก ควบคู่ไปกับการมีความตระหนักรู้ด้านการประหยัดพลังงานที่ดีของพวกเราทุกคน เพื่อที่เราจะเข้าสู่ยุค Energy Transition ได้เร็วที่สุด
พัฒนาศักยภาพของ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ยั่งยืน และปลอดภัย
ชญานิศ โควาวิสารัช Managing Consultant, Net Zero, ERM (สหราชอาณาจักร) แบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานด้านการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนในหัวข้อ ‘AI and Sustainability in Practice’ ว่า
AI มีศักยภาพอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การแพทย์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไปจนถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อีกทั้งในช่วงพักหลังมานี้ กลุ่มธุรกิจในภาคเกษตรกรรมก็เริ่มให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี AI ลดปริมาณการใช้คาร์บอนในกระบวนการทางเกษตรกรรม
การเติบโตและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ตามมาด้วยการบริโภคพลังงานจำนวนมาก ซึ่งสวนทางกับกระแสและแผนการของโลกที่กำลังเรียกร้องให้ทุกคนพยายามลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด
โจทย์ใหญ่ของกลุ่มธุรกิจในทุกภาคส่วนคือ ต้องรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี AI และตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย ดังนั้นการกำกับดูแลที่เป็นระบบและการวางแผนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนจึงมีความสำคัญ เพื่อให้การพัฒนา AI เป็นไปอย่างยั่งยืนและเหมาะสม
ในธุรกิจพลังงาน AI คือดาบสองคม
Carlos Aggio, Senior Enterprise AI Value Strategy Executive จาก Accenture (สิงคโปร์) นำเสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรม AI สู่การพลิกโฉมโลกพลังงาน กับเป้าหมายการลดคาร์บอนอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ ‘Tomorrow’s Innovations Today’
ด้วยประสบการณ์ของการเป็นผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI ทำให้ Carlos มอบอินไซต์เชิงลึกได้อย่างน่าสนใจ โดยเขาให้ความเห็นว่า AI มักถูกเปรียบเทียบกับไฟฟ้า แต่สำหรับตัวเขา AI เหมือนน้ำมากกว่า เพราะน้ำมีพลังในการสร้างชีวิต เช่น ตลาดน้ำที่น้ำเชื่อมโยงชุมชน ทำให้การค้าขายและการดำรงชีวิตเป็นไปได้ แต่น้ำก็มีพลังในการทำลาย เช่น การก่อให้เกิดน้ำท่วม
กล่าวคือ AI เหมือนกับเทคโนโลยีที่เป็นดาบสองคม มีอำนาจในการสร้างและทำลายได้ใกล้เคียงกัน ต่างกันที่ตัวผู้ใช้จะสามารถดึงศักยภาพของมันมาใช้ประโยชน์ในด้านใดมากที่สุด
สาระสำคัญจากการบรรยายนี้ ครอบคลุมมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทของ AI ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน 5 ประเด็นด้วยกัน
- AI มีศักยภาพอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือเพื่อการลดคาร์บอน (Decarbonization) แต่ปัจจุบันมีเพียง 14% ขององค์กรเท่านั้นที่กำลังใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพผ่าน AI ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การพยากรณ์พลังงาน การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และการจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้า
- การพัฒนา AI จำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาการใช้พลังงาน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2030 การปล่อยคาร์บอนจาก AI อาจเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมการบินทั้งหมด
- นวัตกรรม AI จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Enterprise Brain) ที่สามารถบูรณาการความรู้และระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน
- ผู้ประกอบการและองค์กรควรมุ่งเน้นการนำ AI มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเลือกโครงการที่สามารถสร้างคุณค่าและเห็นผลลัพธ์ภายใน 6 เดือน
Carlos ปิดท้ายว่า ในโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม AI ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยี แต่ยังกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความยั่งยืน การผนวกเทคโนโลยี AI เข้ากับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ดังนั้นกุญแจสำคัญคือการพัฒนา AI อย่างมีวิสัยทัศน์ คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหา แต่ยังสร้างคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
ทักษะของมนุษย์จะยิ่งมีค่าในยุค AI
หนึ่งใน Session ที่น่าสนใจจากงานสัมมนาครั้งนี้คือการแลกเปลี่ยนมุมมองและเทรนด์การใช้ AI ในนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต โดยตัวแทนจาก 2 เจเนอเรชันที่มีอิทธิพลในแวดวงของตัวเอง ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL และ กร วรรณไพโรจน์ ศิลปินวง PROXIE และนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘Smart Solutions for Everyday Wellness’
กรคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสสัมผัสชีวิตประจำวันของผู้คนมากมายผ่านการเป็นศิลปิน และยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ทำให้เขารับรู้ได้ถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี AI ในแง่มุมที่หลากหลาย
สำหรับอิทธิพลของ AI กรกล่าวว่า ตนเป็นคนที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน นักศึกษาแพทย์จากเดิมที่เคยต้องแบกหนังสือหรือชีตเรียนมากมาย ลดเหลือเพียงแค่แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ตเครื่องเดียว ซึ่งกรยอมรับว่า เครื่องมือ AI อย่าง ChatGPT มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตการเรียนของนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน ทั้งการหาข้อมูล การสรุปเลกเชอร์ ไปจนถึงการวางแผนการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของตัวนักศึกษาเอง
ด้าน ศ. ดร.สุชัชวีร์ ผู้ที่เรียกได้ว่าคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงวิศวกรรมมาอย่างยาวนาน มอบมุมมองผ่านประสบการณ์ของทั้งผู้ Disrupt และผู้ถูก Disrupt จากเทคโนโลยีมากมายในอดีตมาจนถึง AI
โดย ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า แม้เทคโนโลยี AI จะพัฒนามาเพียงใดก็ตาม เมื่อพูดถึง AI ในอุตสาหกรรมการแพทย์ AI ยังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย 2 สิ่งหลักๆ ด้วยกัน ซึ่งก็คือ
- การใช้ทรัพยากรในการเรียนรู้ให้ได้น้อยที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดทางศีลธรรมของวงการแพทย์
- พัฒนาความแม่นยำในด้านการวินิจฉัยให้ได้มากที่สุด เพราะความผิดพลาดเพียงนิดเดียวในวงการแพทย์อาจหมายถึงชีวิต
โดยทั้ง 2 คนกล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี AI ภายในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตประจำวันของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ เอาไว้ว่า
เทคโนโลยี AI ไม่สามารถเข้ามาทดแทนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหมอ พยาบาล หรือเภสัชกร ได้ภายในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน แต่สามารถช่วยเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความผิดพลาดจากมนุษย์ หรือ Human Error เพื่อเพิ่มความแม่นยำ รวมถึงสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับพวกเราทุกคนได้
อย่างไรก็ดี หนึ่งในแก่นหลักสำคัญที่สุดของ Session นี้ก็คือการตระหนักในคุณค่าของ ‘ทักษะมนุษย์’ ที่จะไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือสร้างขึ้นได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการขัดเกลาและคงไว้ซึ่งทักษะของมนุษย์อย่าง Empathy หรือ Communication คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สังคมของเราก้าวไปข้างหน้าและใช้ AI พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างยั่งยืน
เพราะ AI Draft แต่ Human Craft นั่นเอง
‘คน’ คือทรัพยากรสำคัญขององค์กรที่ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค AI
ถัดมาใน Session ‘Forward-Looking Organizations: Efficiency Meets Intelligence’ คือการรวมตัวของ 3 ผู้บริหาร ได้แก่ อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด, ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สคูลดิโอ จำกัด และ รณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการส่วนภูมิภาค บริษัท มายด์ เอไอ เซาท์อีสเอเซีย จำกัด ที่มาแลกเปลี่ยนทัศนคติในการนำ AI เข้ามาปรับใช้ในโลกธุรกิจ จนเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของคนทำงานในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ดร.วิโรจน์ แบ่งปันประสบการณ์จากการที่ได้เข้าไปสัมผัสและรับรู้ถึงปัญหาขององค์กรในปัจจุบัน โดยสรุปเป็นหลักคิด ‘3 I’ ด้วยกัน
- Intelligence ความฉลาดในการใช้ AI
- Imagination ความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ AI
- Integration การหลอมรวม AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการทำงาน
ซึ่งเมื่อธุรกิจต่างๆ สามารถหลอมรวม AI เข้าสู่วิถีการทำงานได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถปลดล็อกศักยภาพและเพิ่มพูน Productivity ในการทำงานได้อย่างมาก
ด้านอรนุชแชร์มุมมองในฐานะผู้มีประสบการณ์ก่อตั้งสตาร์ทอัพรุ่นใหม่อย่าง เทคซอส มีเดีย หรือ Techsauce ว่า สำหรับทุกธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่แค่ไหน การตระหนักถึง Pain Point ในธุรกิจของตัวเองจะทำให้นำเทคโนโลยี AI ไปอุดรอยรั่วและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างถูกจุด
ต่อมา รณพงศ์กล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี AI ว่า พัฒนามาจากเครื่องมือ (Tools) ที่คอยเป็นตัวช่วยในการทำงาน เป็นผู้แก้ปัญหาที่สามารถคิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลเองได้ จน AI เริ่มสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ รณพงศ์ยังแชร์ประสบการณ์ในการทำงานกับ AI ยุคใหม่ หรือ Agentic AI กับบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย เขาพบว่า Agentic AI สามารถทำงานคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุและผล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ ‘ตรรกะ’ หรือ Logic ของมนุษย์เป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ได้เตรียมตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีเท่าที่ควร
สรุปแล้วทั้ง 3 ท่านแชร์มุมมองที่คล้ายกันว่า สิ่งที่องค์กรและคนทำงานควรเตรียมตัวคือการหา Golden Use Case ให้เจอว่า ธุรกิจที่เราทำอยู่กำลังต้องการความช่วยเหลือจาก AI ด้านใดบ้าง จากนั้นจึงค่อยระบุงานที่เราอยากให้ AI ช่วยเหลือ
สำหรับคนทำงาน การเตรียมตัวที่ดีที่สุดเพื่อตอบรับการมาถึงของเทคโนโลยี AI ก็คือการปลูกฝังทักษะ Logical Thinking และ Complex Problem Solving เพื่อให้คนทำงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วย AI มนุษย์จะเติบโตอย่างเป็นมนุษย์ได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
“ถ้าเราอยากจะก้าวข้ามข้อจำกัดของสิ่งที่เป็นไปได้ เราต้องทำสิ่งที่บียอนด์ หรือก้าวข้ามไปสู่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
หลักคิดสำคัญใน Session ปิดท้าย นำเสนอโดย ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร Postdoctoral Researcher at MIT Media Lab และ Co-director of Advancing Human-AI Interaction (AHA) Initiative ในหัวข้อ ‘The Next Frontier AI and Future Generation’
โดยในปัจจุบัน ดร.พัทน์ มีโอกาสทำงานกับสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง MIT อย่างใกล้ชิด ก็ได้แชร์อินไซต์เชิงลึกที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมากว่า ในปัจจุบัน MIT กำลังมุ่งเน้นไปในเรื่องของ Human-AI Interaction หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI ซึ่งต้องการให้มนุษย์สามารถเติบโตอย่างเป็นมนุษย์ได้ดีขึ้น หรือ Human Flourishing ภายใต้ 3 หัวข้อด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- Wisdom การมีสติปัญญา
- Wonder การมีจินตนาการและความสงสัยใคร่รู้
- Well-being การเป็นอยู่ที่ดี
นอกจากนี้ ดร.พัทน์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับความสามารถของมนุษย์ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ที่จำเป็นต้องหาจุดร่วมที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและเสริมสร้างประโยชน์ซึ่งกันและกัน
เรียกได้ว่าทุก Session ตลอดทั้งวันนั้น ช่วยให้พวกเราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพเหนือจินตนาการที่ไม่อาจมองข้ามได้ของเทคโนโลยี AI ในทุกแง่มุมของชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน การตระหนักรู้ถึง ‘ค่าใช้จ่าย’ ในรูปแบบของพลังงานมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน
ดังนั้นกลุ่มธุรกิจทุกภาคส่วนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเตรียมพร้อมให้กับองค์กรของตัวเอง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเทคโนโลยี AI ในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงเตรียมหาแนวทางการใช้ AI อย่างยั่งยืนเพื่อรักษาพลังงานอันสำคัญของโลกใบนี้
สำหรับงานสัมมนา Greenovative Forum จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องโดยบางจากฯ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านพลังงาน เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบางจากฯ ในการเชิญชวนให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการผลักดันผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน