ช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงที่กลุ่มค้าปลีกให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้าออกมาจับจ่ายใช้สอย เช่นเดียวกับที่ ‘เดอะมอลล์’ ได้ทุ่มงบ 500 ล้านบาท สำหรับจัด 2 แคมเปญส่งท้ายปี 2567 อย่าง THE GREAT HAPPY NEW YEAR 2025 และ THE MALL LIFESTORE JOY OF GIVING
วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปลายปีนี้น่าจะมีลูกค้าบางส่วนที่เดินทางทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ เดอะมอลล์เชื่อว่าพอลูกค้าจะเดินทางก็ต้องการที่จะซื้อเสื้อผ้าเพื่อแต่งตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนช่วงกลางเดือนธันวาคม นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มที่ซื้อสินค้าสำหรับไปฝากคนที่บ้าน
อีกกลุ่มก็จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามากระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี สำหรับเดอะมอลล์ลูกค้าจากจีนยังมีสัดส่วนที่เยอะอยู่แม้ยอดใช้จ่ายต่อคนจะลดลงราว 5-10% ก็ตาม เพราะด้วยเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอนจึงระมัดระวังในการจับจ่ายหรือช้อปปิ้ง แต่สำหรับการกินหรือดื่มก็ยังใช้จ่ายปกติ
ส่วนลูกค้ากลุ่มมาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย และอเมริกา เป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นสำหรับเดอะมอลล์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงทำให้ไทยเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวด้วย ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ก็เข้ามาเดินที่เดอะมอลล์เพิ่มขึ้นเช่นกัน
โดยหลังจากปล่อยแคมเปญปีใหม่ THE MALL LIFESTORE JOY OF GIVING สำหรับเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ทุกสาขา รวมถึงเดอะมอลล์โคราช พบว่าลูกค้ามีความตื่นตัวกับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง โดยมีการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเวลาปกติ
จุดนี้เองทำให้ทราฟฟิกเฉลี่ยในช่วง Weekday เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์อยู่ที่ 80,000-90,000 คน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยที่ 100,000 คน ในขณะที่สาขาในเมืองมีมากกว่า 100,000 คนตลอดสัปดาห์ โดยมาช้อปปิ้ง รับประทานอาหาร และร่วมกิจกรรมอีเวนต์ที่จัดขึ้น
คาดว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคมเป็นต้นไป บรรยากาศน่าจะคึกคักมากขึ้น หลังจากวันหยุดยาวในช่วงต้นเดือน โดยได้เพิ่มแคมเปญ THE GREAT HAPPY NEW YEAR 2025 : HOLIDAY MAGIC STORE เข้ามาช่วยกระตุ้นการช้อปปิ้งของห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป (เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์, เดอะมอลล์, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, เอ็มสเฟียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์) ลุ้นรับของรางวัลรวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ปีนี้ยังมีความท้าทายสูง ทำให้นิยามภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2567 ในมุมมองของวรลักษณ์คือ “สู้ ขยัน อดทน เหนื่อยแต่ก็พอไหว โดยปีนี้กับปีที่แล้วพอๆ กันเลยในแง่ของกำลังซื้อ”
วรลักษณ์ขยายความว่าคำว่าเหนื่อยนั้นมาจากการที่ต้องทำมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม ซึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกผันผวน และไทยเองก็พึ่งการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจทำให้เจอกระทบจากปัจจัยนี้บ้าง
“จากแคมเปญกิจกรรมทั้งหมดในช่วง Festive ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดขายประมาณ 7,000 ล้านบาท สำหรับ 42 วัน โดยในปี 2567 คาดว่าจะสามารถปิดยอดขายโดยภาพรวมที่ 55,000 ล้านบาท” วรลักษณ์ระบุ