ต้องยอมรับว่าปี 2024 ถือเป็นปีที่เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายสำหรับประเทศไทย ทั้งการเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรี อุทกภัยที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในภาคเหนือ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูง
ปี 2025 สิ่งที่ผมอยากจะมาเน้นย้ำ และจำเป็นกิมมิกง่ายๆ คือ เลข ‘สาม’
สามแรก: ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสู่ระดับ 3.0% ในปี 2025 จากแรงสนับสนุนของ
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเรือธงอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
- เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติชั้นนำตบเท้าเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Data Centre และ Cloud
และ 3. จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น (ผมคาดว่านักท่องเที่ยวขาเข้าของไทยจะอยู่ที่ 38 ล้านคน)
การมาของดิจิทัลวอลเล็ตเฟสสองรวมถึงเฟสต่อไปๆ ในปี 2025 ชัดเจนว่ามุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเครื่องยนต์การบริโภคภาคเอกชน (คิดเป็นกว่า 56% ของ GDP ไทย)
อ้างอิงจากการสำรวจของ CGS International ผมพบว่าเงินที่แจกให้กับประชาชนราวครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้บริโภคสินค้าและบริการ อีกส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้หนี้ ดังนั้นจากการประเมินเชิงปริมาณและการสำรวจ ผมคาดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจราว 0.3% หรือ 30bp
มากไปกว่านั้น พัฒนาการล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการแก้หนี้ หรือ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพื่อจัดการกับหนี้ครัวเรือนที่สูง ณ ปัจจุบัน (ณ ระดับ 89.6% หนี้ครัวเรือนต่อ GDP) ครอบคลุมหนี้ราว 8.9 แสนล้านบาท (5.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด)
มุมมองของผมต่อมาตรการนี้เป็นบวก เนื่องจากถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมาช้านาน และแม้ว่าอาจจะลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไม่ได้ 5.5% ในทันที แต่การพักดอกเบี้ย 3 ปี และจ่ายค่างวดในส่วนเฉพาะของเงินต้น ถือว่าฟังดูเข้าท่าและเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้เป็นหนี้ไม่มากก็น้อย
ปัจจัยลบที่ผมมองเห็นต่อเศรษฐกิจไทย คือการเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ และนโยบายกีดกันทางการค้าที่จะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตของภาคส่งออกที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อน GDP หลักของไทย
สามต่อมา:
ผมคาดว่าเงินเฟ้อของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรง 0.3% หรือ (30bp) ซึ่งผมเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเติบโตเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.5% โดย ธปท. ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุก 1% จะส่งผ่านไปยังภาคเอกชน (กระทบค่าจ้าง และราคาขายของสินค้าและบริการ) ประมาณหนึ่งในสาม หมายความว่าค่าแรงที่สูงขึ้นจะถูกส่งมาที่ราคาสินค้าและบริการราว 0.3%
สามสุดท้าย: ผมคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ดังนั้นในส่วนของนโยบายดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ผมเชื่อว่า ธปท. จะระมัดระวังกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมองว่า ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงแค่ 1 ครั้ง ลงมาที่ระดับ 2.00% ในปี 2025 เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน THB/USD ซึ่งผมมองอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี
หมายเลขสามจึงมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอย่างชัดเจน และรอบด้านทั้งในแง่ของการเติบโต (Growth Stability) ราคา (Price Stability) และเสถียรภาพ (Financial Stability)
ถ้าจะให้ผู้อ่านและนักลงทุนจำง่ายๆ เป็นดั่งคำขวัญปีใหม่ 2568 ก็คงต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยโต 3% มาตรการภาครัฐผลักดันเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 0.3% และ Fed มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง
สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ
ภาพ: ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2025 และ 2026
อ้างอิง:
- CGS International, CGSI Estimates, CGSI Macro & Wealth Research