ความพยายามที่ว่าจีนจะก้าวขึ้นมาครองโลกของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีเผยว่า โมเดล AI ของจีนได้รับความนิยมอย่างมากและกำลังพัฒนาได้ทันหรือแซงหน้าโมเดลของสหรัฐฯ ในแง่ของประสิทธิภาพไปแล้ว
AI กลายเป็นประเด็นการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยทั้งสองฝ่ายถือว่า AI เป็นเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงจำกัดการเข้าถึงของจีนในชิปล้ำสมัยที่ออกแบบมาเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา AI ด้วยความกลัวที่ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจคุกคามความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ
บริษัท AI ของจีนกำลังพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLM) ซึ่งเป็นโมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ Generative AI เหมือนกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ บางแห่ง ซึ่งใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการฝึกอบรมและรองรับแอปพลิเคชัน เช่น แชตบอต โดยบริษัทจีนจำนวนมากเหล่านี้กำลังพัฒนาโมเดล LLM แบบโอเพนซอร์ส ซึ่งเปิดให้นักพัฒนาสามารถดาวน์โหลดและนำไปต่อยอดได้ฟรีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้สร้าง
Tiezhen Wang วิศวกรด้านแมชชีนเลิร์นนิง กล่าวว่าใน Hugging Face ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโอเพนซอร์สที่ทำหน้าที่คล้ายห้องสมุดขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ AI เอาไว้มากมาย เช่น AI Model, Codes และ Datasets ต่างๆ ซึ่งนักพัฒนา AI สามารถเข้ามาแบ่งปันหรือหยิบยืมข้อมูลเหล่านี้จาก Hugging Face ไปใช้ต่อได้
ปัจจุบันพบว่า LLM ของจีนมียอดดาวน์โหลดสูงสุด โดย Qwen ซึ่งเป็นกลุ่มโมเดล AI ที่สร้างขึ้นโดย Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนเป็นหลักสูตรที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดใน Hugging Face
Wang แสดงความเห็นว่า Qwen ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีประสิทธิภาพที่โดดเด่นในเกณฑ์มาตรฐานที่มีการแข่งขันสูง เขากล่าวเสริมว่า Qwen มีโมเดลการออกใบอนุญาตที่เอื้ออำนวยอย่างมาก ซึ่งหมายความว่าบริษัทต่างๆ สามารถใช้ Qwen ได้โดยไม่ต้องตรวจสอบทางกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน
นอกจากนี้ DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติจีนยังสร้างกระแสด้วยโมเดลที่ชื่อว่า DeepSeek-R1 เมื่อเร็วๆ นี้ โดย DeepSeek กล่าวว่าโมเดล R1 ของตนแข่งขันกับ o1 ของ OpenAI ซึ่งเป็นโมเดลที่ออกแบบมาเพื่อใช้หาเหตุผลหรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น
บริษัทจีนเหล่านี้อ้างว่าโมเดลของตนสามารถแข่งขันกับข้อเสนอโอเพนซอร์สอื่นๆ อาทิ Llama ของ Meta รวมถึง LLM แบบปิด เช่นจาก OpenAI ได้ในหลายมิติ
ไม่ใช่แค่บริษัทจีนเท่านั้นที่เปิดตัว LLM แบบโอเพนซอร์ส แต่บริษัทแม่ของ Facebook อย่าง Meta รวมถึง Mistral ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในยุโรป ก็มีโมเดล AI แบบโอเพนซอร์สเช่นกัน
แต่ด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน LLM แบบโอเพนซอร์สจึงสร้างข้อได้เปรียบอีกอย่างให้กับบริษัทจีน นั่นคือทำให้โมเดลของตนสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก
ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เพิ่มข้อจำกัดในการส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และชิปขั้นสูงไปยังจีน แต่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ บริษัทจีนก็ยังคงสามารถเปิดตัวโมเดล AI ขั้นสูงได้
อีกทั้งบริษัทจีนยังได้เร่งความพยายามในการสร้างทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทน NVIDIA โดย HUAWEI ถือเป็นผู้เล่นชั้นนำรายหนึ่งที่น่าจับตาของจีน ขณะเดียวกันบริษัทอย่าง Baidu และ Alibaba ก็ได้ลงทุนการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์เช่นกัน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าช่องว่างในแง่ของการประมวลผลฮาร์ดแวร์ขั้นสูงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีหน้า เนื่องจาก NVIDIA จะเปิดตัวระบบที่ใช้ Blackwell ซึ่งถูกจำกัดการส่งออกไปยังจีน แต่ไม่ว่าชิปของ NVIDIA จะถูกแบนในจีนหรือไม่ นั่นก็ไม่สามารถกีดกันจีนจากการลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ของตนได้
อ้างอิง: