ประเทศเยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและเป็นเสาหลักความมั่นคงสำคัญของภูมิภาค จะต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในปีหน้า หลังรัฐสภาเยอรมนีมีมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ด้วยคะแนนเสียง 394 เสียง โดยไว้วางใจ 207 เสียง และงดออกเสียงอีก 116 เสียง
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
หลังจากนี้ประธานาธิบดี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ จะต้องประกาศยุบสภาภายใน 21 วัน และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังการยุบสภา ซึ่งจะทำให้กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจมีขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025
ใครคือแคนดิเดตที่น่าจับตา
เยอรมนีมีพรรคการเมืองหลักอยู่ทั้งสิ้น 7 พรรค โดยปัจจุบันมี 4 พรรคที่ประกาศรายชื่อออกมาแล้วว่าใครจะเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้าง
สำหรับ 2 พรรคที่ครองอำนาจในเกมการเมืองของเยอรมนีมาอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมอย่าง พรรคคริสเตียนเดโมแครต และพรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียน (CDU/CSU) และพรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายที่เน้นความเท่าเทียมในสังคม
เมื่อพิจารณาจากระบบการเลือกตั้งของเยอรมนี การจัดตั้งรัฐบาลมักจะเกิดขึ้นในรูปแบบรัฐบาลผสม ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีพรรค CDU/CSU หรือ SPD เป็นแกนนำ โดยพรรคที่ชนะจะมองหาพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก และตั้งแต่ปี 2021 พรรค SPD ของชอลซ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคฟรีเดโมแครต (FDP) และพรรคกรีน
มาครั้งนี้ พรรค CDU/CSU จะนำโดย ฟรีดริช เมิร์ซ ผู้นำฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยม ส่วนพรรค SPD จะนำโดยชอลซ์ ซึ่งสูญเสียคะแนนนิยมไปอย่างหนัก สำหรับพรรคกรีนส่ง โรเบิร์ต ฮาเบ็ค ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศมาร่วมชิงชัย ขณะแคนดิเดตจากพรรคขวาจัด อัลเทอร์เนทีฟฟูร์ดอยช์แลนด์ (AfD) คือ อลิซ ไวเดล
ทั้งนี้ หากดูจากผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักจะเห็นว่าเมิร์ซจากพรรค CDU/CSU ถือเป็นตัวเต็งที่ได้คะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 หรือเขาอาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีก็เป็นได้ โดยผลสำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศระบุว่า พรรค CDU/CSU มีคะแนนสนับสนุนสูงกว่าพรรคอื่นๆ อย่างมากที่ 32% ขณะพรรค AfD อยู่อันดับ 2 ด้วยคะแนน 18% และพรรค SPD อยู่ในอันดับ 3 ด้วยคะแนน 16% และพรรคกรีนได้คะแนนไป 14% ตามลำดับ
ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอะไรบ้าง
ประเด็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจเยอรมนีชะลอตัวในยุคของชอลซ์
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารกลางเยอรมนีปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง 0.2% โดยระบุว่า “เศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในช่วงฤดูหนาวของปี 2024-2025 และจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงปี 2025”
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจคือการฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ธนาคารกลางระบุว่า ปัญหาภายในอุตสาหกรรมนั้นเป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ซึ่งฉุดให้เศรษฐกิจตกต่ำลง ขณะที่บริษัทยานยนต์รายใหญ่ รวมถึง Volkswagen ก็กำลังเผชิญกับการเลิกจ้างครั้งใหญ่ รวมถึงการปิดโรงงาน
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นผู้อพยพก็นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ซึ่งพรรค AfD ประกาศตัวชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านผู้อพยพ โดยสำนักข่าว CNN สัมภาษณ์ ลีโอนี ฟอน รันโดว์ นักข่าวสายการเมืองของสถานีโทรทัศน์ WELT TV ของเยอรมนีระบุว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมาในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะมากสำหรับพรรค AfD เพราะนี่เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาล ดังนั้นพวกเขาจึงอยากจะแสดงจุดยืนของตัวเองและลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองสุดโต่งเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่พอใจแค่ไหน”
การล่มสลายของระบอบการปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ในซีเรีย ก็อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเยอรมนีรับผู้อพยพชาวซีเรียมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปในช่วงที่ซีเรียเผชิญสงครามกลางเมือง ฉะนั้นประเด็นผู้อพยพจึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องจับตาว่าแต่ละพรรคจะงัดนโยบายใดมาใช้เรียกคะแนนเสียงจากประชาชน
ภาพ: Lisi Niesner / Reuters
อ้างอิง: