สสว. เผย ธุรกิจ SME ไทยที่มีรายได้ขยายตัวมากกว่า 30% จากปีก่อน หรือกลุ่มดาวรุ่งปี 2567 พบ 5 ธุรกิจ คือ ห้องพักรายเดือน, ขายของออนไลน์, ผลิตคอนเทนต์, บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการซื้อขายออนไลน์ และฟิตเนส มาแรงสุด ย้ำทางรอดเทรนด์ธุรกิจรายเล็กปีหน้า 2568 ต้องมีเอกลักษณ์ เพิ่มความแตกต่างจากคู่แข่ง เข้าถึงประสบการณ์ใหม่โดยเจาะโซเชียลมีเดีย พร้อมเตือนปีหน้าเตรียมรับมือการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนบุกตลาดไทยและทั่วโลก ความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น
หวังการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การส่งออกกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ดัน GDP โต 3.5%
ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจปี 2567 ภาพรวม SME ไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจ SME ไทยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.2% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในอัตรา 8.2% และ 5.4% ตามลำดับ
ด้านการจ้าง SME สร้างงานกว่า 12.93 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการบริการ และภาคการค้าที่ SME มีบทบาทอย่างมากทั้งในด้านจำนวนธุรกิจและการจ้างงาน ซึ่ง SME สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยสะสมตั้งแต่ไตรมาส 1-3 ปี 2567 มากกว่า 4.81 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35% ของ GDP ประเทศ ขยายตัวได้ 3.0%
โดยภาคการค้า การผลิต และการบริการ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การบริโภคจากนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตขึ้นช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SME ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติหลายครั้งที่กระทบภาคธุรกิจการเกษตรอย่างมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 10 อันดับอาชีพที่มาแรง นายจ้างแย่งตัวกันมากที่สุด พร้อมจ่ายเพิ่มสูงสุดถึง 24% ช่างประปาค่าจ้างเฉียด 3 ล้านบาทต่อปี ไม่แพ้ช่างทำผม-ไลฟ์โค้ช
- ‘คอนเนกชัน ความสดใส และเวลา’ อ่าน 7 เรื่องราวผ่านตัวตนที่ซ่อนอยู่ใน Taylor Swift ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จระดับโลก
- โอกาสเปลี่ยนงาน! สิงคโปร์ขาดแคลนแรงงานหนักทั้งภาคบริการและอาชีพใช้ทักษะชั้นสูง พบ ‘คนไทย’ เป็นเป้าหมายที่สิงคโปร์ต้องการ
ขณะที่ด้านการค้าระหว่างประเทศ 10 เดือนแรก SME ไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของรายได้จากการส่งออกรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18.6% โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง
ขณะที่การนำเข้าของ SME ไทยเพิ่มขึ้น 26.2% โดยเกือบ 50% เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับใช้ในการผลิตทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อส่งออก เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลของ สสว. ในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ที่สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจใดขยายตัวหรือธุรกิจใดมียอดขายลดลง โดยใช้เกณฑ์ยอดขายมากกว่าหรือน้อยกว่า 30% จากปีก่อน พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวหรือการลดลงของยอดขายในธุรกิจมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน รวมถึงเทรนด์หรือแนวโน้มการปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
โดยธุรกิจที่มีรายได้ขยายตัวมากกว่า 30% จากปีก่อน หรือที่เรียกว่ากลุ่มดาวรุ่ง ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจห้องพักรายเดือน ขยายตัวตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการซื้ออสังหาริมทรัพย์และต้องการใช้ชีวิตในเมือง
- กลุ่มธุรกิจการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ขยายตัวจากพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงและง่ายต่อการเข้าถึง
- กลุ่มธุรกิจผลิตสื่อคอนเทนต์ ขยายตัวจากการผลิตสื่อบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เติบโตสูง
- กลุ่มธุรกิจฟิตเนส ยิม และการจัดแข่งกีฬาที่ขยายตัวตามเทรนด์การดูแลสุขภาพและการเติบโตของกิจกรรมการแข่งกีฬา
- ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวตามความนิยมการซื้อของออนไลน์
ส่วนธุรกิจเฝ้าระวังพบว่า อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตได้ง่าย และต้องใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม ยากต่อการปรับตัวเพื่อให้เข้าสู่ธุรกิจสีเขียวและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้ยาก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตเคมีภัณฑ์ การผลิตเครื่องหนัง และการผลิตสิ่งทอ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภครวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจหอพักนักเรียนหรือนักศึกษาที่มีตัวเลือกมากและหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน
- ธุรกิจสวนสนุก เช่น สวนน้ำที่มีการแข่งขันสูง กับธุรกิจสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเล่นหลากหลาย มีความเฉพาะในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ต้องเน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ต้องอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหลักที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การทำโปรโมชันที่แข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด
ปณิตากล่าวอีกว่า กลุ่มธุรกิจดังกล่าวทั้งในส่วนที่เป็นกลุ่มดาวรุ่งและกลุ่มธุรกิจเฝ้าระวัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในปี 2568 จากความผันผวนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อภาคประชาชน และเทรนด์หรือแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ SME ปี 2568 คาดว่า GDP SME ไทยจะขยายตัวที่ 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการผลิต เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
“แต่ยังคงต้องกังวลกับสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนบุกตลาดไทยและทั่วโลก SME ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวจากความท้าทาย โดยสร้างความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ หรือการสร้างคุณค่าผ่านอัตลักษณ์ไทย”
อย่างไรก็ตาม ไทยมีศักยภาพสูงในหลายด้าน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว แหล่งผลิตอาหารคุณภาพสูงของโลก ศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า แต่ยังขาดการเชื่อมโยงไปยังสินค้าและบริการที่จะส่งผ่านคุณค่าไปยังกลุ่มเป้าหมาย หาก SME ไทยจะก้าวข้ามและสามารถแข่งขันได้ในระยะต่อไป จำเป็นต้องสู้ในธุรกิจมูลค่าสูงโดยการยกระดับสินค้าและบริการด้วยคุณค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าและบริการตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ต้องสร้างสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการเชิงอารมณ์ที่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียได้
ภาพ: Oscar Wong / Getty Images