×

บทสรุปการเมืองไทย 2567: ‘1 ปี 2 นายกฯ’ ใต้อิทธิพลเงาจันทร์ เหล้าใหม่ในขวดเก่า

17.12.2024
  • LOADING...
บทสรุปการเมืองไทย 2567

ปี 2567 นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผัน ไม่มีใครคาดคิด แม้กระทั่งตัว เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยข้อหาไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงในการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

แต่อำนาจในการบริหารประเทศก็ยังคงอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้นำจากเศรษฐาเป็น แพทองธาร ชินวัตร รับไม้ต่อนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หรือ ‘แจกเงินหมื่น’ รวมไปถึงค่าแรง 400 บาทที่นับวันจะยิ่งห่างจากสิ่งที่รัฐบาลแถลงไว้กับประชาชนมากขึ้นทุกที

 

ขณะเดียวกันหากมองในเชิงรูปธรรม คือการเปลี่ยนผันผู้กุมอำนาจจากหนึ่งสู่อีกหนึ่ง แต่ในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนสัมผัสได้ตลอดทั้งปี 2567 ผู้นำไม่ได้มีเพียง 2 แต่มีถึง 3 ซึ่งมาจากเงาจันทร์ของบ้านจันทร์ส่องหล้า

 

เริ่มตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของแพทองธาร ได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษครบ 6 เดือนในโรงพยาบาลตำรวจ อิทธิพลเงาจันทร์แผ่ปกคลุมลงมาให้เห็นผ่านนโยบายของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงการเปิดเผยนโยบายที่จะทำก่อนการเสนอของรัฐบาลเสมอ 

 

บทบาทของผู้นำหญิงคนที่ 2 ของไทยจึงเปรียบเสมือนมีเงาจันทร์ลูกใหญ่ที่คอยส่องแสงช่วยปูทางอยู่ตลอด และนี่คือเหตุการณ์พลิกผันของรัฐบาลในปี 2567 

 

 

แพทองธาร ชินวัตร ชนหมัดกับ เศรษฐา ทวีสิน ก่อนการแถลงข่าว 

หลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี 

วันที่ 18 กันยายน 2567

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

 

สึนามิการเมืองถล่มรัฐบาลเศรษฐา

 

เปิดต้นปี 2567 แม้ประกาศว่าจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่การบริหารงานภายใต้รัฐบาลเศรษฐาดูจะไม่ราบรื่น มีเสียงค้านนโยบายจากหลายฝ่ายส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล 

 

ทั้ง ‘แลนด์บริดจ์’ นโยบายเมกะโปรเจกต์มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อย่นระยะทางระหว่างประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกของรัฐบาลเศรษฐา กลับโดนถล่มจากฝ่ายค้านเนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยฝ่ายค้านระบุว่าโครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาที่รอบคอบ แต่นำไปโรดโชว์เดินสายให้กับหลายประเทศเพื่อหาผู้ลงทุน



ยังไม่นับข้อวิจารณ์ถึงการเดินสายโรดโชว์ต่างแดน ที่ตลอดการดำรงตำแหน่ง เศรษฐาเดินทางเยือนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ประเทศ 

 

เศรษฐาเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “การที่ผมเดินทางไปต่างประเทศถือเป็นการแก้วิกฤตอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นสัญญา FTA ซึ่งในอดีตไม่ได้ทำ หรือการดึงนักลงทุนไปลงทุนในประเทศที่ในอดีตก็ไม่มีการทำ ซึ่งถือเป็นการแก้วิกฤตในระยะกลางและระยะยาวอยู่แล้ว ถ้าเกิดมีนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีจ้างงานมากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นจุดหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤต”



นโยบายเรือธง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ซึ่งประกาศว่าจะมีการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชน 50 ล้านคนตั้งแต่ช่วงหาเสียงจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลเศรษฐา เงินหมื่นที่ว่าก็ยังไม่ถึงมือประชาชน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และฝ่ายค้านออกมาคัดค้าน เพราะที่มาของแหล่งเงินที่ยังไม่ชัดเจน ไม่สามารถตอบคำถามได้ จนต้องปรับรูปแบบเพื่อไม่ให้ติดขัดข้อกฎหมาย

 

 

เศรษฐา ทวีสิน โบกมือลาในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว วันที่ 14 สิงหาคม 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ขณะที่การจัดสรรเก้าอี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลง่ายขึ้น แต่รัฐบาลเศรษฐากลับเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย เมื่อปรับ ครม. ลดตำแหน่ง ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ จากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหลือเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ปานปรีย์ยื่นหนังสือลาออกภายหลังโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไม่ถึง 3 ชั่วโมง 

 

นอกจากนี้การจัดสรรตำแหน่งตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาลในกระทรวงที่มีเจ้าของ ยังส่งผลให้รัฐมนตรีจากพรรคที่ไม่ใช่เจ้าถิ่นไม่สามารถทำงานได้ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเจ้ากระทรวงเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไชยา พรหมา จากพรรคเพื่อไทย และ อนุชา นาคาศัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ถูกปรับออก ส่วนกระทรวงการคลังที่มีเจ้ากระทรวงเป็นพรรคเพื่อไทย กฤษฎา จีนะวิจารณะ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นหนังสือลาออกทันทีเมื่อการแบ่งงานในกระทรวงถูกปรับลดลง

 

และการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงค้านเรื่องคุณสมบัติ กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของเศรษฐา ส่งผลให้เศรษฐาและ ครม. หลุดจากตำแหน่ง ปิดตำนานนายกรัฐมนตรีที่จะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยไว้เพียง 358 วัน

 

แม้จะน้อมรับคำตัดสิน แต่เศรษฐาก็ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกเสียใจตรงที่ถูกบอกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีจริยธรรม ซึ่งยืนยันว่าตนเองไม่ใช่คนแบบนั้น

 

การจากไปของเศรษฐา พร้อมปมมาตรฐานจริยธรรม

 

แม้เศรษฐาจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่อำนาจในการบริหารประเทศยังคงอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้นำจาก เศรษฐา ทวีสิน เป็น แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งไม่เพียงรับไม้ต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตและค่าแรง 400 บาทเท่านั้น แต่ยังต้องรับผลของคดี ‘ปมมาตรฐานจริยธรรม’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อหนึ่งผู้นำหลุดไปด้วยข้อหานี้ รัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทยก็ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้คนสำคัญหลุดจากตำแหน่งไปอีกคน การสรรหาผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ล้วนแต่ใช้เวลา บรรจงพิจารณาทุกความเป็นไปได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แม้จะส่งผลกับการทำงานอย่างการแต่งตั้งรองโฆษกรัฐบาลที่ใช้เวลา 2-3 เดือนในการตรวจสอบคุณสมบัติ หรือการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ในท้ายที่สุดต้องส่งคนร่วมสายเลือดมานั่งเก้าอี้แทน 

 

‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ แม้จะเคยถูกจับกุม แต่ไม่เคยต้องคำพิพากษา ถอนชื่อตัวเอง แล้วเสนอให้ ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ บุตรสาว มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยแทน

 

‘ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า’ เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกคดียาเสพติดในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2537 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าไม่ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี แต่ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นขัดมาตรฐานจริยธรรม จึงตัดสินใจส่งน้องชาย ‘อัครา พรหมเผ่า’ เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทน

 

กรณี ‘อรรถกร ศิริลัทธยากร’ ให้บิดาคือ ‘อิทธิ ศิริลัทธยากร’ มารับหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทนตัวเอง เพื่อให้ก๊วน ร.อ. ธรรมนัส ยังคงป้องกันตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปได้ หลังจากพรรคพลังประชารัฐถูกพรรคเพื่อไทยขับพ้นพรรคร่วมรัฐบาล และยังส่ง ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม เข้ามานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย

 

 

เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี 

โดยมี พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมขบวน 

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

 

ปิดตำนาน 20 ปี คู่แค้นทางการเมือง

 

ในการจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร เพื่อให้ได้เสียงที่เพียงพอในรัฐสภา เมื่อขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว จำเป็นที่จะต้องหาเสียงเข้ามาเพิ่ม พรรคเพื่อไทยจึงมีหนังสือเทียบเชิญส่งตรงถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้าร่วมรัฐบาล 

 

โดยหนังสือเทียบเชิญระบุตอนหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีอุดมการณ์ที่จะทำงานร่วมกันได้ จึงขอเรียนเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล พร้อมให้ส่งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยด่วน

 

นับเป็นห้วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นการปิดตำนาน 20 ปี คู่แค้นทางการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคสีแดง (พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย) ไม่ว่าจะเป็นในสนามเลือกตั้ง รัฐสภา หรือแม้กระทั่งบนถนน อย่างแท้จริง

 

“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรัก ความเข้าใจ และการให้อภัยกัน พร้อมขอให้เข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมากับปัจจุบันไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศและแนวคิดการพัฒนาประเทศ ก็แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีการพูดคุยได้ รักกัน และเดินหน้าไปด้วยกันได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม” เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น กล่าว

 

 

สรวงศ์ เทียนทอง ส่งมอบหนังสือเทียบเชิญร่วมรัฐบาล

จากพรรคเพื่อไทยถึงพรรคประชาธิปัตย์ให้ เดชอิศม์ ขาวทอง 

วันที่ 28 สิงหาคม 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

การมาของแพทองธาร ภายใต้อิทธิพลเงาจันทร์

 

ช่วงเย็นวันที่ 14 สิงหาคม ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เศรษฐาพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี บ้านจันทร์ส่องหล้าของทักษิณก็พลันสว่างไสว มีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตบเท้ากินมาม่า เข้าร่วมปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร 1

 

หลายคนจับจ้องไปที่การรวมตัว ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า และเจ้าของบ้าน ผู้ที่ถูกขนานนามว่าคือผู้ที่ครอบงำแพทองธารและเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ผู้ที่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี

 

แม้ทักษิณจะออกมาย้ำว่า ‘ไม่ครอบงำแต่ครอบครอง’ แต่ ชวน หลีกภัย สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เชื่อว่าเศรษฐารู้ว่าการเสนอชื่อพิชิตไม่ถูกต้อง จึงลังเลไม่ได้เสนอชื่อตั้งแต่ต้น แต่ว่าเกรงใจ และคนที่เสนอก็เพื่อตอบแทนพิชิตกรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เช่นเดียวกับ รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ออกมาย้ำว่า การที่ทักษิณเล่นบทเกรี้ยวกราดใส่พรรคร่วมรัฐบาลในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล และทำให้เห็นว่าสภาวะความเป็นผู้นำของแพทองธารไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทำให้ทักษิณต้องออกโรงขับเคลื่อนเรื่องนี้เอง ซึ่งการที่ทักษิณยิ่งทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คนก็จะมองความเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงของแพทองธารลดลงไปเรื่อยๆ

 

 

ทักษิณ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร สวมชุดข้าราชการร่วมพิธี

รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 

วันที่ 18 สิงหาคม 2567

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

หากย้อนไปตลอดปี 2567 ผู้นำที่ผู้คนสัมผัสได้จึงไม่ได้มีเพียงแค่ 2 ที่ประกอบด้วยเศรษฐาและแพทองธาร แต่มีถึง 3 ซึ่งมาจากเงาจันทร์ของบ้านจันทร์ส่องหล้า

 

เริ่มตั้งแต่ทักษิณได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษครบ 6 เดือนในโรงพยาบาลตำรวจ อิทธิพลเงาจันทร์แผ่ปกคลุมลงมาทุกหย่อมหญ้า มีให้เห็นผ่านนโยบายของพรรคเพื่อไทย 

 

ทั้งการนำนโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ตั้งแต่ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ผันแปรมาจาก ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ สู่นโยบาย ‘ODOS หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน และกองทุน SML’ รวมไปถึงการเปิดเผยนโยบาย สิ่งที่รัฐบาลจะทำผ่านเวทีต่างๆ ก่อนการเสนอของรัฐบาลเสมอ



สอดคล้องกับหนึ่งในคำกล่าวของแพทองธารระหว่างแถลงผลงานรัฐบาลที่ว่า “ตั้งแต่เด็กเจอความเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ก็พบว่ามีนโยบายดีๆ ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย จึงอยากสร้างนโยบายดีๆ ให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนประโยชน์ต้องเกิดกับพี่น้องประชาชน ไม่ต้องเอ่ยเลยว่าใครทำนโยบายไหน แต่เรื่องของนโยบายยังต้องอยู่ ประโยชน์ยังต้องอยู่ที่ประเทศไทย”

 

จึงไม่แปลกที่ฝ่ายตรงข้ามจะหยิบยกนำเรื่องนี้มาฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าทักษิณและพรรคเพื่อไทยเลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใน 6 กรณี

 

  1. ทักษิณได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ และสั่งการให้ระหว่างต้องโทษจำคุกได้อาศัยอยู่ที่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ต้องรับโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันฯ
  2. สั่งการให้รัฐบาลเอื้อผลประโยชน์ให้ผู้นำกัมพูชา กรณี MOU ปี 2544 เพื่อแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและก๊าซในทะเล
  3. ร่วมมือกับพรรคประชาชน ซึ่งมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  4. การเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าหารือเรื่องนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 
  5. การสั่งการให้ขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
  6. สั่งการให้พรรคเพื่อไทยนำนโยบายที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ไปดำเนินเป็นนโยบายของรัฐบาล

 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคดี ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ ล้มล้างการปกครอง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอและการกระทำไม่เข้าเกณฑ์ แต่คดีทั้งหมดยังต้องรอการพิจารณาของ หน่วยงานอิสระอย่าง กกต. อีกฝั่งหนึ่งด้วย

 

 

พรรคร่วมรัฐบาลร่วมรับประทานอาหารค่ำ ที่โรงแรม Rosewood Bangkok

วันที่ 21 ตุลาคม 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

พรรคร่วมชวนปวดหัว

 

การที่ทักษิณถึงขั้นออกโรงเกรี้ยวกราดแทนแพทองธาร และประกาศกร้าวในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ว่า ในการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีระหว่างประเทศของ ครม. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบ ป่วย ออกอาการไม่พอใจขั้นสุดที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ 

 

“อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า ถ้าอยู่ด้วยกันก็ต้องด้วยกันสิ วันหลังไม่อยากอยู่ต้องบอกให้ชัดเจน เราเป็นคนพูดรู้เรื่อง ห้ามหนี ต่อไปใครหนีก็บอกว่าถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย ง่ายดี ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แถลงนโยบายคุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา” ทักษิณกล่าว

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกโยงไปที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่แม้จะลาประชุมในวันนั้นและเข้ามาร่วมในภายหลัง แต่เพราะที่ผ่านมาเป็นผู้ที่ขัดแย้งนโยบายหลักของเพื่อไทยหลายเรื่อง ทั้ง Entertainment Complex ที่พรรคภูมิใจไทยออกมาคัดค้านว่ายังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะลงทุน

 

และการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคภูมิใจไทยก็ออกมายืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะหากใครที่จะเข้าสู่การเมืองก็ต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ถ้าไม่เช่นนั้นก็อย่าลงเล่นการเมือง เช่นเดียวกับการงดออกเสียงร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อนุทินให้เหตุผลในขณะนั้นว่าไม่ควรเร่งรัดกระบวนการ เพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว​ 

 

สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม หรือ ‘กฎหมายสกัดรัฐประหาร’ ของ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อนุทินออกมาย้ำว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย 

 

“ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้าเขาจะปฏิวัติ ประกาศแรกก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ทำไปก็อาจเป็นแค่การแสดงสัญลักษณ์ แต่บังคับใช้อะไรไม่ได้ ดีที่สุดคือต้องทำตัวให้ดี อย่าทำตัวให้ไปเข้าเงื่อนไข ซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกสามัคคี อย่าไปลงถนนและทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง” อนุทินกล่าว

 

จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้สื่อข่าวสอบถามอนุทินว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ปลื้มโครงการหรือนโยบายใดๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งอนุทินปฏิเสธพร้อมระบุว่า “ไม่มีอะไรไม่ปลื้มเลย ทำงานด้วยกัน”

 

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล 

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

 

อีกด้านหนึ่ง สารของทักษิณยังส่งตรงไปถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สั่งเบรกหลายโครงการของรัฐบาล และมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบายด้านพลังงานของพรรคเพื่อไทย ทั้งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาตามกรอบ MOU 44 

 

พีระพันธุ์ระบุว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ทั้งที่กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงหลัก ขณะเดียวกันพีระพันธุ์ก็สั่งระงับอีกหลายโครงการ เช่น การประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ส่งผลกระทบต่อแผนการดึงการลงทุน Data Center จากต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเงื่อนไขการลงทุน 

 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการระงับการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งที่การแต่งตั้งกรรมการสรรหาผ่าน ครม. แล้ว 

 

แม้พีระพันธุ์จะเคยออกมาระบุว่าไม่ได้มีปัญหาในการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน 

 

หากจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สำคัญก็คงไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์ของพรรคร่วมที่มีรอยร้าว แต่จะลึกสักเพียงใด พรรคเพื่อไทยก็ต้องแก้เกม ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหันมาสนับสนุนนโยบายและโครงการต่างๆ ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีผลงาน เพราะเจอวิกฤตพรรคร่วมสกัดกั้น

 

ตรวจการบ้าน 90 วันผลงานรัฐบาล

 

แม้การแถลงผลงาน 90 วันของรัฐบาล วันที่ 12 ธันวาคม จะเป็นสิ่งที่หลายคนผิดหวัง เพราะผลงานที่รัฐบาลดำเนินการมาไม่มีการนำเสนอ ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะทำในปี 2568

 

เมื่อลองตรวจการบ้านรัฐบาลแพทองธาร 90 วันที่ผ่านมาพบว่า นโยบายเรือธงอย่างการ แจกเงินหมื่น ยังไปไม่ถึงครึ่งทางจากตัวเลข 50 กว่าล้านคน ตอนนี้ได้รับเงินหมื่นเฟสแรกเพียงแค่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.4 ล้านคนเท่านั้น 

 

ขณะที่เฟส 2 กลุ่มผู้สูงอายุที่ตั้งเป้าไว้ 3-4 ล้านคนได้รับเงินก่อนวันตรุษจีนก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะตรงตามที่สัญญาไว้หรือไม่ เพราะยังไม่มีรายละเอียดออกมา

 

การขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศก็ยังรอความหวังว่าในช่วงปีใหม่นี้จะมีคำตอบจากบอร์ดคณะกรรมการค่าจ้าง ที่ก่อนหน้านี้ยังคงมีมติไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 

 

สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับวันที่ 22 มกราคม 2568 ให้บุคคลสองคนไม่ว่าจะเพศใดสามารถหมั้นและสมรสได้ รวมถึงสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม และสิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย

 

ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท และพักหนี้เกษตรกรในระยะ 2-3 การลดค่าครองชีพ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้าสีแดงและสีม่วง, โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง, ตรึงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไปอีก 1 ปี และยกระดับบัตรประชาชนรักษาได้ทุกที่ทั่วประเทศ 

 

เพิ่มรายได้ เช่น การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 18,000 บาท 

 

สอดคล้องกับที่ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงานอะไรเลย แต่ไม่ได้มีการออกมาพูดเรื่องผลงานอย่างจริงจัง มีบางอย่างที่อาจเป็นผลงานได้ แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดวันนี้เป็นการพูดโดยไม่ได้ลงรายละเอียดอะไร

 

บรรยากาศการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ

และติดตามการบริหารงบประมาณ 

และแนวทางเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย วันที่ 26 กันยายน 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

นโยบายโยนหินถามทาง

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลแพทองธารนั่นก็คือ นโยบายเก่าที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ล้วนลงรายละเอียดไม่มากพอ แม้กระทั่งการปฏิรูปกองทัพ ปรับลดการเกณฑ์ทหารให้เป็นแบบสมัครใจ 

 

ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่อาศัยการโยนหินถามทางเพื่อเก็บข้อมูลจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเมื่อคิดดูแล้วหากมีกระแสไม่เห็นด้วยก็จะค่อยๆ ปรับจนเป็นที่ถูกใจของมวลชนหรือถูกปัดทิ้งไป

 

ทั้ง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามเสียงของฝ่ายคัดค้านและข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้ไม่ผิดหลักกฎหมายและดำเนินนโยบายต่อไปได้ ทำให้ปัจจุบันดูจะห่างไกลจากที่เศรษฐาพูดไว้ว่าจะถึงมือประชาชน 50 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ด้วยแหล่งที่มางบประมาณ 3 แหล่ง โดยประชาชนจะใช้จ่ายเงินดิจิทัลผ่านช่องทางซูเปอร์แอปที่ทำขึ้นใหม่ 

 

เช่นเดียวกับข้อเสนอการ ‘ปรับ VAT 15%’ ของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทันทีที่ปล่อยออกมา ก็มีเสียงวิจารณ์ถล่มทลายไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทำให้พิชัยและแพทองธารต้องออกมาบอกว่ายังอยู่แค่ขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น คงต้องดูว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะเดินหน้าขึ้นภาษี 15% หรือยอมถอยไปตั้งหลักใหม่ แล้วแสวงหารายได้ทางอื่นแทน

 

ประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับเงิน 10,000 บาท 

วันแรกของการจ่ายเงินจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 

วันที่ 25 กันยายน 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

และอีกหนึ่งร่างกฎหมายที่ออกมาภายหลังเหตุการณ์รัฐสภาของเกาหลีใต้ลงเสียงสกัดการยกเลิกกฎอัยการศึกคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม หรือที่ถูกเรียกว่า ‘กฎหมายสกัดรัฐประหาร’ เสนอโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 

3 พรรคอนุรักษนิยมออกมาส่งเสียงไม่เห็นด้วยคือ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ

 

นายกรัฐมนตรีและทักษิณก็ออกมาปฏิเสธทันควันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นมติของพรรคเพื่อไทย เป็นเพียงข้อเสนอส่วนตัวของประยุทธ์เท่านั้น 

 

นี่ไม่เพียงเท่ากับเป็นการปัดกฎหมายทิ้ง แต่อีกนัยหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลแพทองธารยังไม่มีเจตนาที่จะปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย หรือยกเลิกการเกณฑ์ทหารตามที่พรรคเคยหาเสียงไว้เลย

 

แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาล

ในรอบ 3 เดือน ภายใต้ชื่อ ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง’ 

และการมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี 

วันที่ 12 ธันวาคม 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

2 ปีที่เหลือยังเป็นความหวัง?

 

ท้ายที่สุดแม้ทางกฎหมายจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าทักษิณครอบงำนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แต่เมื่อมองไปยังทำเนียบรัฐบาล ย่อมเห็นเงาจันทร์จากทักษิณปกคลุม ช่วยปกป้องภัยความมืดที่เข้ามากระทบรัฐบาลแพทองธารอย่างแน่นอน 

 

และแม้ทักษิณ ผู้ช่วยคนสำคัญของแพทองธาร จะเน้นย้ำว่าพรรคเพื่อไทยเราเกิดมาด้วยความสามารถทางเศรษฐกิจ วิธีลดหนี้สาธารณะพูดง่ายทำยากทั้งคู่ แต่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง 

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กลับมองว่า 3 เดือนของรัฐบาลแพทองธารไม่ผ่าน เพราะไม่มีผลงานอะไรเลย ไม่ตรงปกกับที่ขายไว้ แจกเงินหมื่นจะต้องเป็นดิจิทัล และแจกไม่ครบถ้วนกระบวนความตามที่บอกไว้ ทั้งยังรวมถึงการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว 

 

จุดขายของพรรคเพื่อไทยคือเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเรื่องเศรษฐกิจมีปัญหามาก บริบททั่วโลก มหาอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่สามารถตอบได้สักเรื่อง การเตรียมการก็มีปัญหา ไม่ได้มีการเตรียมการให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ ดังนั้นตอนนี้ให้แค่ 3 คะแนนเต็ม 10 

 

การเมืองไทยทำให้เศรษฐกิจติดหล่มมานาน ประชาชนต่างรอคอยอย่างมีความหวังว่าอยากให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ให้สมกับคำพูดติดปากของแพทองธารที่ว่า “ประชาชนจะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและเป็นไปได้จริงเพียงใด ผลงานในระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินอีก 2 ปีกว่าๆ ที่เหลือจะเป็นบทพิสูจน์ 

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X