ยุนซอกยอลทำงานสายกฎหมายมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนได้เป็นอัยการสูงสุดของเกาหลีใต้ ก่อนจะตัดสินใจลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2022 ในนามพรรคพลังประชาชนเกาหลีใต้ (PPP) โดยชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคคู่แข่งไม่ถึง 1% และได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 50% แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ยุนได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ข่าวฉาวของคิมกอนฮี สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ที่อาจพัวพันกับการปั่นหุ้นและรับสินบน ประกอบกับข้อกล่าวหาที่ยุนใช้อำนาจในทางมิชอบ ทำให้คะแนนนิยมในตัวเขาตกต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรค PPP ปราชัยให้กับพรรคฝ่ายค้าน กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ของการเมืองเกาหลีใต้ โดยทำให้บรรดาพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และทำให้การผลักดันกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลยุนเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ยุนจึงตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้ายคือการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ‘ประกาศกฎอัยการศึก’ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างถึงภัยคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะประกาศยกเลิกตามมติเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
โดยยุนรอดพ้นจากการลงมติถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐสภามีเสียงไม่ครบเกณฑ์ขั้นต่ำ 200 จากทั้งหมด 300 เสียง ทำให้ญัตติดังกล่าวเป็นอันตกไป ก่อนที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องถอดถอนยุนอีกครั้ง ล่าสุดรัฐสภามีมติ 204 ต่อ 85 เสียง ‘ถอดถอน’ ยุนให้พ้นจากเก้าอี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ พร้อมส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการถอดถอนดังกล่าว ฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้จะรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติในประเด็นนี้ ซึ่งอาจใช้เวลาสูงสุดถึง 180 วัน และหากศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 6 ใน 9 เสียงมีมติถอดถอนยุน ยุนจะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยฮันจะยังคงรักษาการต่อไปจนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่
แต่ถ้าหากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องกับมติถอดถอนของรัฐสภาน้อยกว่า 6 ใน 9 เสียง จะทำให้ยุนมีสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้และอยู่จนครบวาระได้อีกครั้ง
อ้างอิง:
- https://eng.president.go.kr/profile
- https://www.bbc.com/news/articles/cx2nyp3pxrko
- https://www.bbc.com/news/articles/c8rjd064012o
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย