×

ปาร์ตี้ส่งท้ายปีแบบเดิมๆ ของญี่ปุ่น ‘กำลัง’ เปลี่ยนไป! คนรุ่นใหม่ ‘ไม่’ นิยมสังสรรค์กับบริษัท หันจัดปาร์ตี้เล็กกับแก๊งเพื่อนสนิทแทน

10.12.2024
  • LOADING...

วัฒนธรรมการจัดงานเลี้ยงส่งท้ายปีหรือ ‘โบเนงไค’ ของบริษัทญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไป เมื่อคนรุ่นใหม่หันมานัดสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานกลุ่มเล็กๆ แทนงานเลี้ยงใหญ่ขององค์กร สวนทางกับวัฒนธรรม ‘นอมุนิเคชัน’ ที่ใช้การดื่มสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนการปฏิเสธงานเลี้ยงปีใหม่ถือเป็นการไม่จงรักภักดีต่อองค์กร และอาจถูกมองว่าเป็นพนักงานที่สร้างปัญหา

 

Issei พนักงานวัย 20 ปลายๆ ของโรงแรมชื่อดังเผยว่า “หัวหน้าพยายามผลักดันให้ไปงานโบเนงไค แต่ผมไม่อยากไปจริงๆ ผมทำงานกับพวกเขาตลอดเวลาอยู่แล้ว บางคนก็เป็นเพื่อนผม แต่ก็มีหลายคนที่ผมไม่อยากไปดื่มด้วย ผมไม่ค่อยดื่มอยู่แล้ว และรู้ว่าวันรุ่งขึ้นต้องตื่นมาพร้อมความรู้สึกแย่ๆ แต่ที่แย่ที่สุดคือความรู้สึกที่ต้องไปทั้งๆ ที่ไม่อยากไป”

 

นอกจากนี้แฟนสาวของเขาก็ลังเลที่จะไปงานเลี้ยงบริษัทในโตเกียวเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะค่าใช้จ่ายในการดื่มที่ ‘อาฟเตอร์ปาร์ตี้’ ที่บริษัทไม่ออกให้มีราคาแพง โดยเฉพาะในช่วงที่โบนัสบริษัทไม่ได้งามเหมือนแต่ก่อน

 

ข้อมูลจาก Toreta Inc. บริษัทจองร้านอาหารในโตเกียวเผยว่า แม้จำนวนผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงปีใหม่จะฟื้นตัวหลังโควิด โดยเดือนธันวาคมนี้มีผู้จองร้านอาหารราว 574,972 คน คิดเป็น 99.5% ของตัวเลขในเดือนเดียวกันของปี 2019 

 

แต่การจองสำหรับกลุ่ม 10 คนขึ้นไปกลับลดลง 11.3% ขณะที่การจองสำหรับกลุ่ม 3-4 คนเพิ่มขึ้นกว่า 50% สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนยังต้องการสังสรรค์ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างชัดเจน

 

Hiromi Iuchi จากสมาคมผู้ผลิตสาเกและโซจูแห่งญี่ปุ่นกล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น พวกเขาไม่รู้สึกว่าต้อง ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ขององค์กรอีกต่อไป และหลายคนที่ไม่ชอบเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานก็กล้าที่จะหลีกเลี่ยงงานพวกนี้ เพื่อไปใช้เวลากับเพื่อนที่สนิทจริงๆ แทน”

 

ไม่เพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่พยายามหลีกเลี่ยงงานโบเนงไค แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ใกล้เกษียณท่านหนึ่งก็ยอมรับว่าหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงปีใหม่ของคณะเช่นกัน โดยกล่าวว่า “ผมไม่สนุกกับงานพวกนี้ และน่ารำคาญที่รู้สึกว่าต้องไป ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคนดื่มมากๆ อาจพูดหรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม และตัวตนที่แท้จริงอาจออกมา ผมจึงอยากหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนั้น”

 

นิตยสาร Diamond Online เสนอกฎพื้นฐานเพื่อให้งานเลี้ยงสนุกขึ้น เช่น ห้ามเจ้านายพูดเรื่องงาน ไม่บังคับให้คนที่ไม่ชอบดื่มต้องดื่ม และหลีกเลี่ยงหัวข้อสนทนาที่ละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ประเด็นเพศสภาพ หรือแม้แต่ทีมกีฬาที่ชื่นชอบ 

 

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นแตกต่างในคอมเมนต์ บางคนเชื่อว่างานสังสรรค์แบบนี้ยังมีที่ยืนในบริษัทสมัยใหม่ และเป็นเรื่องดีที่พนักงานจะได้ผ่อนคลายในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ 

 

แต่อีกหลายคนไม่เห็นด้วย โดยหนึ่งในนั้นระบุว่า “การสื่อสารอาจเสี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายจะตีความอย่างไร” ขณะที่อีกคนเล่าว่า “สมัยก่อนงานเลี้ยงมีแต่การบรรยาย การคุกคามทางเพศ และการนินทาผู้บริหาร ผมเปลี่ยนงานมาที่ใหม่ก็ยังเจอบรรยากาศแย่ๆ งานเลี้ยงกลายเป็นโอกาสให้คนวิจารณ์กันเอง คนพากันหาข้ออ้างไม่ไปงาน”

 

ในขณะที่ผู้บริหารรุ่นเก่าอาจสงสัยว่าทำไมพนักงานไม่อยากใช้เวลาหลายชั่วโมงในการกิน ดื่ม เล่าเรื่อง และร้องคาราโอเกะร่วมกัน แต่สำหรับพนักงานรุ่นใหม่ กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงการต่อเวลาการทำงานที่พวกเขาอยากหลีกเลี่ยง สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัย และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising