×

ทำไมระบอบอัสซาดถูกโค่นล้ม จะเกิดอะไรขึ้นในซีเรียหลังจากนี้

08.12.2024
  • LOADING...
ผู้เชี่ยวชาญชี้ มหาอำนาจหนุนระบอบอัสซาดอ่อนกำลัง เป็นเหตุให้กบฏยึดซีเรียสำเร็จ

กว่า 13 ปีหลังจากสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในยุคอาหรับสปริง วันนี้ระบอบการปกครองของ บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดี ที่ค้ำจุนโดยมหาอำนาจอย่างรัสเซียกำลังล่มสลายลง เมื่อกลุ่มกบฏ Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) รุกคืบเข้ายึดกรุงดามัสกัสสำเร็จ เมืองหลวงที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของรัฐบาลซีเรียกลายเป็นพื้นที่ปลดแอกของกลุ่มต่อต้าน แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ ความไม่แน่นอนยังคงปกคลุมอนาคตของซีเรีย ซึ่งอาจต้องเผชิญกับการแย่งชิงอำนาจและการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากบนเวทีที่มหาอำนาจโลกต่างกังวลและจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

ระบอบการปกครองซีเรียภายใต้ตระกูลอัสซาดที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ถูกท้าทายจากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อเนื่องเรื่อยมาหลังเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’ ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของซีเรียเป็นชาวสุหนี่ถึง 70% ซึ่งเป็นนิกายเดียวกันกับกลุ่มกบฏต่อต้านในซีเรีย

 

ขณะที่ บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดี และกองกำลังหลักของเขาเป็นชาวชีอะห์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 20-30% ของประชากรซีเรียเท่านั้น ความไม่สมดุลนี้ทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลได้รับแรงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

ส่วนมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่พยายามเข้ามาสนับสนุนฝ่ายกบฏในช่วงแรก ตั้งแต่สมัย บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดี สหรัฐฯ นั้นต้องการช่วยกลุ่มต่อต้านโค่นล้มระบอบอัสซาด ขณะที่รัสเซียเห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอัสซาด และเข้ามาค้ำจุนและสนับสนุนระบอบอัสซาดอย่างเต็มที่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 โดยเฉพาะผ่านปฏิบัติการทางอากาศ

 

ขณะที่กลุ่มต่อต้านในซีเรียนั้นมีหลายกลุ่มและอยู่กระจัดกระจายกันไปตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ยังคงประสานงานกันแม้จะไม่ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเหล่านี้ได้รวมตัวกันใหม่ภายใต้ชื่อ Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) 

 

Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) คือใคร

 

กลุ่มกบฏ HTS เปลี่ยนชื่อมาจากกลุ่ม Al-Nusra Front ซึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งยังถูกสื่อตะวันตกเรียกว่าอัลกออิดะห์สาขาซีเรียอีกด้วย

 

การเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า HTS นั้นเป็นการผสานอุดมการณ์รัฐอิสลามแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มไอเอส (IS) ที่เน้นการสร้างรัฐคอลิฟะห์แบบสุดโต่ง และไม่ได้สถาปนาระบอบคอลิฟะห์เหมือนตอนยังอยู่เป็นกลุ่ม Al-Nusra Front ทำให้กลุ่ม HTS สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ยอมรับได้มากขึ้นในระดับสากล และในเวลานี้พวกเขาก็กลายเป็นกำลังหลักในการต่อต้านรัฐบาลอัสซาดจนประสบความสำเร็จในที่สุด

 

ขณะเดียวกัน ตุรกีที่ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกลุ่มกบฏมาโดยตลอด ผ่านการหนุนหลังกลุ่ม Free Syrian Army (FSA) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Syrian National Army (SNA) ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มต่อต้านที่ตุรกีใช้เป็นเครื่องมือหลักในการรักษาผลประโยชน์ในภูมิภาค อีกทั้งในครั้งนี้กลุ่ม SNA ยังไปร่วมมือกับกลุ่ม HTS ในปฏิบัติการโค่นระบอบอัสซาดนี้ด้วย

 

ทำไมสถานการณ์ปัจจุบันจึงปะทุขึ้น

 

ย้อนกลับไปยังความพยายามของการบรรลุข้อตกลงในการยุติความขัดแย้งในสงครามซีเรีย ที่รัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน พยายามหาทางออกร่วมกันที่เมืองอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่าทั้งรัสเซียและตุรกีจะคงกองกำลังไว้ในพื้นที่สำคัญอย่างเมืองอเลปโปและอิดลิบ จนทำให้สถานการณ์ในซีเรียสงบลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ข้อตกลงเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขรากเหง้าของปัญหาได้ ขณะที่ซีเรียและรัสเซียยังคงโจมตีกลุ่มกบฏต่อต้านต่อเนื่อง และในเวลาเดียวกันกลุ่มกบฏต่อต้านก็ซุ่มรอจังหวะการเปิดปฏิบัติการโค่นอำนาจระบอบอัสซาดด้วยเช่นกัน ซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมในครั้งนี้กลุ่มกบฏต่อต้านถึงประสบความสำเร็จภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถบุกยึดกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียได้

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เกิดขึ้นจากปัจจัยดังนี้

 

  1. การคลี่คลายของสถานการณ์ในอิสราเอลและเลบานอน: เมื่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เริ่มนิ่งลง ทำให้ฝ่ายต่อต้านซีเรียเห็นโอกาสที่จะกดดันรัฐบาลอัสซาด
  2. การเมืองสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์: กลุ่มกบฏอาจเล็งเห็นว่าการรุกคืบในเวลานี้จะสร้างผลลัพธ์ที่ได้เปรียบ ก่อนที่นโยบายของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
  3. สภาพทางประชากรของซีเรีย: ด้วยประชากรส่วนใหญ่เป็นสุหนี่ พวกเขามองว่าอัสซาดหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ

 

การล่มสลายของอัสซาดกับภาพสะท้อนจากอัฟกานิสถาน

 

นอกจากนี้ ผศ. ดร.มาโนชญ์ ยังชวนตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การล่มสลายของระบอบอัสซาดในซีเรียอาจคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ที่รัฐบาลของ อัชราฟ กานี ประธานาธิบดีซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ถูกโค่นล้มโดยกลุ่มตาลีบันเมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไป

 

ในกรณีของซีเรีย แม้รัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดจะพยายามรักษาเสถียรภาพของระบอบนี้เอาไว้ แต่ด้วยความท้าทายที่รัสเซียต้องเผชิญจากปัญหาภายใน เช่น สงครามในยูเครน ทำให้การสนับสนุนไม่มากพอที่จะยื้อสถานการณ์เอาไว้ได้

 

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ ย์มองว่า ณ เวลานี้ตุรกีอยู่ในจุดที่ ‘ขึ้นหลังเสือ’ โดยต้องควบคุมกลุ่มต่อต้านไม่ให้เกิดความวุ่นวาย มิฉะนั้นจะถูกตั้งคำถามจากนานาชาติ ในขณะเดียวกัน ตุรกีอาจใช้โอกาสนี้เพิ่มบทบาทและสร้างอิทธิพลในซีเรีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับอิสราเอล ซึ่งอาจเป็นข้อได้เปรียบในการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

 

ส่วนรัสเซีย หากเดินหน้าปฏิบัติการตอบโต้กลุ่มกบฏอย่างหนัก อาจนำไปสู่ความขัดแย้งกับตุรกีซึ่งสนับสนุนกลุ่มกบฏ และอาจส่งผลให้ตุรกีเอียงเข้าหาสหรัฐฯ มากขึ้น อีกทั้งยังกระทบต่อ NATO ที่ตุรกีเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งย่อมส่งผลต่อสงครามกับยูเครนตามมา

 

ขณะที่อิสราเอลและสหรัฐฯ นั้น อิสราเอลที่อาจได้ประโยชน์ก่อนหน้านี้จากการที่อัสซาดไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งอื่นของอิสราเอล แต่ในแง่ลบ ซีเรียอาจยังถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งอาวุธจากอิหร่านไปยังเลบานอน ขณะที่สหรัฐฯ และอิสราเอลประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า จะจับตาดูสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

 

ส่วนอิหร่าน เหตุการณ์นี้ได้สั่นคลอนดุลอำนาจในตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก และส่งผลต่ออิทธิพลของอิหร่านที่เคยใช้ซีเรียเป็นเส้นทางขนส่งอาวุธไปยังเลบานอน

 

ซีเรียหลังระบอบอัสซาดล่มสลายจะเป็นอย่างไร

 

การล่มสลายของระบอบอัสซาดอาจนำไปสู่การแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่อต้านต่างๆ ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานหลังปี 1994 เมื่อกลุ่มมูจาฮีดีนแบ่งแยกอำนาจกันในแต่ละพื้นที่ สิ่งนี้เองก็ทำให้หลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่า ซีเรียอาจมีสงครามกลางเมืองที่วุ่นวายและส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศเองและภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ: Orhan Qereman / Reuters

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising