×

สงครามกลางเมืองซีเรีย เวทีวัดพลังมหาอำนาจ สมรภูมิที่ต้องจับตาอีกครั้ง

03.12.2024
  • LOADING...
สงครามกลางเมืองซีเรีย

สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2011 ยังคงเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่ซับซ้อนที่สุดในยุคปัจจุบัน แม้จะเริ่มต้นจากการเรียกร้องเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประชาชนในยุค ‘อาหรับสปริง’ แต่กลับกลายเป็นเวทีการต่อสู้ที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจโลก ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย ตุรกี อิหร่าน และอิสราเอล ความขัดแย้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก

 

ไทม์ไลน์ความขัดแย้ง: จากอาหรับสปริงสู่ปี 2024

 

การประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วซีเรียในปี 2011 ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘อาหรับสปริง’ ประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ลาออก แต่รัฐบาลตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง การปราบปรามนี้กลายเป็นชนวนให้กลุ่มต่อต้านเกิดขึ้นมา เช่น Free Syrian Army (FSA) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารแปรพักตร์ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลซีเรียกลุ่มแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และตุรกี

 

ในช่วงปี 2014 กลุ่ม ISIS เริ่มขยายอิทธิพลและสร้างความหวาดกลัวในภูมิภาค ขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาดเริ่มเสียพื้นที่ให้กับกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม จนกระทั่งกันยายน 2015 รัสเซียได้เข้ามาสนับสนุนกองทัพของรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาดอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้อเลปโป เมืองใหญ่อันดับสองของซีเรีย ถูกยึดคืนจากกลุ่มกบฏ การยึดครั้งนั้นนับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของรัฐบาล

 

หลังจากชัยชนะในอเลปโป สถานการณ์ในซีเรียเริ่มนิ่งขึ้นเมื่อรัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน พยายามหาข้อตกลงร่วมกันในการบริหารพื้นที่ เช่น อิดลิบและอเลปโป โดยมีการจัดประชุมกันอย่างต่อเนื่องที่เมืองอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน อย่างไรก็ตาม กลุ่มกบฏ เช่น Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) ก็ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มกบฏ HTS เปลี่ยนชื่อมาจากกลุ่ม Al-Nusra Front ซึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งยังถูกสื่อตะวันตกเรียกว่าอัลกออิดะห์สาขาซีเรียอีกด้วย

 

โดยกลุ่ม HTS ปรับจากเป้าหมายใหญ่ให้เล็กลง สถาปนาระบอบอิสลามในซีเรีย เน้นท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ได้เน้นทำ Global Jihad หรือสถาปนาระบอบคอลีฟะห์ เหมือนตอนเป็นกลุ่ม Al-Nusra Front

 

จนกระทั่งความขัดแย้งครั้งล่าสุดได้กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อกลุ่ม HTS ฉวยโอกาสที่รัฐบาลซีเรียอ่อนกำลังจากหลายปัจจัย เช่น การถูกอิสราเอลโจมตี ไม่ว่าจะเป็นที่สนามบินและฐานทัพยุทธศาสตร์ของซีเรีย ทำให้รัฐบาลสูญเสียศักยภาพในการตอบโต้ การถอนกำลังของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน หลังอิสราเอลและเลบานอนเปิดศึกข้ามพรมแดน ทำให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ต้องย้ายกำลังไปสนับสนุนพวกของตนในเลบานอน และการลดบทบาทการสนับสนุนจากรัสเซียที่ต้องจัดการกับสงครามในยูเครน

 

ใครเป็นใครในสงครามนี้

ในสงครามกลางเมืองซีเรียมีตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐพัวพันมากมาย ซึ่งบทความนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นในแง่ของการเข้ามามีบทบาทของมหาอำนาจในเกมภูมิรัฐศาสตร์

 

รัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด มีพันธมิตรมหาอำนาจที่สนับสนุนอย่างรัสเซีย อิหร่าน และยังมีกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ด้วย ซึ่งกองทัพรัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาดนั้นมีเป้าหมายเพื่อรักษาอำนาจและความเป็นเอกภาพของประเทศ

 

ขณะที่กลุ่มต่อต้านที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล โดยเฉพาะในแถบทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียคือ 1. กลุ่ม Hay’at Tahrir al-Sham (HTS) โดยมีการพัฒนาและเปลี่ยนชื่อจากกลุ่ม Jabhat al-Nusra มีเป้าหมายคือการโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสหรัฐฯ และตุรกี 2. กลุ่ม Syrian National Army (SNA) พัฒนามาจากกลุ่ม Free Syrian Army (FSA) ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี 3. กลุ่มเคิร์ด (YPG/SDF) มีฐานที่มั่นอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย ติดกับทางตอนใต้ของตุรกี กลุ่มเคิร์ดได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา มีการสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธ กลุ่มเคิร์ดมีเป้าหมายเพื่อรักษาอิสรภาพของชาวเคิร์ด 4. กลุ่ม ISIS (Islamic State of Iraq and Syria) ไม่มีการเปิดเผยผู้สนับสนุนที่แท้จริง และไม่มีประเทศใดสนับสนุนโดยตรง เนื่องจากถือเป็นกลุ่มที่ถูกบันทึกว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายระดับโลก

 

มุมมองเชิงภูมิรัฐศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นไว้ว่า บทบาทของมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องยังคงซับซ้อนและน่าจับตามอง โดยเฉพาะตัวละครสำคัญที่เป็นมหาอำนาจอย่างรัสเซีย อาจเพิ่มการโจมตีอย่างรุนแรงต่อกลุ่มต่อต้าน ซึ่งอาจสร้างความสูญเสียให้กับพลเรือนอย่างมาก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ แม้ที่ผ่านมาในช่วงสมัยแรกของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะลดบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านในซีเรีย แต่ในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะกลับมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านอีกครั้งเฉกเช่นเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีโอบามาเคยทำ แต่ทว่าไบเดนก็กำลังจะหมดวาระในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ซึ่งถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีในยุคทรัมป์สมัยที่สองปรับตัวดีขึ้น สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ในซีเรีย

 

ทว่าหากสหรัฐฯ เลือกยืนข้างตุรกีโดยลดการสนับสนุนกลุ่มเคิร์ดที่ตุรกีมองว่าเป็นภัยคุกคามมาโดยตลอด แม้อาจช่วยเสริมกำลังให้กับกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลได้ แต่ในทางกลับกัน สหรัฐฯ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในยูเครนด้วย

 

ผศ. ดร.มาโนชญ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่น่าจับตาคือการกลับมาของทรัมป์อีกครั้งในสมัยที่สองนี้ นโยบายของเขาอาจมุ่งไปที่การใช้ข้อต่อรองกับรัสเซีย โดยการเจรจาภายใต้กรอบที่ผสมผสานระหว่างการพูดคุย การข่มขู่ และการโจมตีในเวลาเดียวกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2017 ที่ทรัมป์เคยสั่งให้กองทัพสหรัฐฯ โจมตีเข้าไปในซีเรีย

 

ฉะนั้นซีเรียจึงไม่เพียงแต่เป็นสงครามภายใน แต่ยังเป็นเวทีของการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สะท้อนผลประโยชน์และการต่อสู้เชิงอำนาจของมหาอำนาจในภูมิภาคและระดับโลกด้วย

 

ภาพ: Rami Alsayed / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X