วันนี้ (2 ธันวาคม) ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกจำคุกในคดีร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเมื่อปี 2558 โดยมีโทษจำคุก 48 ปี ก่อนได้รับการพักการลงโทษ และปล่อยตัวชั่วคราวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันนี้
พ.ต.อ. ทวี ระบุว่า สำหรับกรณีที่บุญทรงได้รับการพักการลงโทษนั้น ตนเองทราบข่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และสอบถามไปยัง สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งการพักการลงโทษถือเป็นเรื่องการบริหารของราชทัณฑ์ ไม่ต้องรายงานมายังรัฐมนตรี แต่ทราบเบื้องต้นว่าบุญทรงมีระยะเวลาต้องโทษรวม 40 กว่าปี ได้อภัยโทษ 4 ครั้ง จึงเหลือโทษประมาณ 10 ปี อีกทั้งบุญทรงยังรับโทษจำคุกมาแล้ว 7 ปี จึงเข้าเกณฑ์การพักการลงโทษ
ทั้งนี้ การพักการลงโทษในทางกฎหมายยังถือเป็นโทษอยู่ แต่ได้รับการพักโทษที่มีเงื่อนไข อีกทั้งในการพักโทษไม่ใช่อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะในกฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการพิจารณาการพักการลงโทษ ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย เช่น ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ อัยการ บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 20 ราย
สำหรับคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้น โดยปกติจะมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แต่ครั้งนี้มีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานแทน ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของการพักโทษตนเองยังไม่เห็นเอกสาร แต่ทราบว่าบุญทรงอยู่ในเกณฑ์พักโทษทั่วไปเพราะเป็นผู้สูงอายุและเหลือโทษน้อย ส่วนจะมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อาจต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มอบหมายกรมราชทัณฑ์เผยแพร่ข่าวแจกสื่อมวลชนต่อไป
พ.ต.อ. ทวี เปิดเผยอีกว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM นั้น เนื่องด้วยบุญทรงอายุน้อยกว่า 70 ปี จึงต้องติดกำไล EM แต่ถ้ามีเหตุเจ็บป่วยจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการพิจารณา แต่เรื่องการบริหารงานภายใน ปกติแล้วไม่ต้องรายงานมายังรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมรับทราบ
ส่วนนอกจากบุญทรงยังมีบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ที่ได้รับการพักการลงโทษ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ทราบว่าแต่ละครั้งจะมีประมาณ 1,000 กว่าคน ไม่ใช่เพียงบุญทรงเท่านั้นที่ได้รับการพักโทษ และการพักโทษก็ยังลงโทษอยู่ แม้ระหว่างนั้นผู้ที่ถูกพักโทษไปแล้วอาจกลับมารับโทษเหมือนเดิมได้ สำหรับเรื่องการรายงานตัวเมื่อถูกคุมประพฤติ บุญทรงก็ต้องมีการรายงานตัว แต่รายละเอียดตนเองไม่ทราบ ขอให้กรมราชทัณฑ์ทำข่าวแจกสื่อมวลชนชี้แจงแทน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเขียนทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายระหว่างการพักโทษจะทำได้หรือไม่นั้น พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของการเขียน ใครจะเขียนอภัยโทษก็ได้ แต่ว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ยกตัวอย่างกรณีของบุญทรงที่มีโทษเยอะ แต่ได้รับการอภัยโทษมา 4 ครั้ง อีกทั้งการอภัยโทษไม่ใช่กฎหมายราชทัณฑ์
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ปรากฏภาพบุญทรงไปร่วมงานศพนั้น พ.ต.อ. ทวี ระบุว่า ไม่มั่นใจเพราะยังไม่ได้เห็น แต่ในกรณีของนักโทษเด็ดขาด หากพ่อแม่เสียชีวิตก็สามารถลาไปงานศพได้ตามกฎหมาย รวมถึงกรณีที่บุญทรงกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่หลังได้รับการพักการลงโทษนั้น พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ผู้พักโทษจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการพักโทษ เช่น สถานที่นั้นต้องมีผู้ปกครอง ผู้ดูแล และที่สำคัญคืออยู่ในการดูแลของกรมคุมประพฤติ