ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนและพัฒนาตลาดทุนของไทยต่อในอนาคต
อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2568-2570)
เน้นหลักการ ‘เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม’ (Fair & Inclusive Growth) โดยจะดำเนินการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously) โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
- กลยุทธ์ข้อนี้มีโครงการ Flagship คือ เพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน ด้วยการเริ่มโครงการ Jump+ ซึ่งมีการใช้ในฮ่องกง, ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ปัจจุบันมีประมาณ 900 แห่ง โดย บจ. เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเข้าไปเป็นผู้ช่วยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย บจ. ที่ศักยภาพเติบโตจากการดำเนินงานตามหลัก ESG รวมทั้งมีการพัฒนา IT Platform นำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัท รวมถึงตลาดอุตสาหกรรมเพื่อให้เห็นการเติบโตของธุรกิจ จากนั้นจะมีการช่วยจัดทำแผน Jump+ โดยมีการกำหนดแผนงานกับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อยกระดับผลการดำเนินงานให้ออกมาดีขึ้น และมีการสื่อสารข้อมูลกับนักลงทุนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการใช้ AI แปลข้อมูลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดข้อมูลกับนักลงทุนต่างชาติให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน
พร้อมทั้งส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็น Listing Hub ด้วย และวางเป็นพื้นฐานในระยะยาวกว่า 3 ปี เพื่อหาจุดแข็งในการดึงดูดนักลงทุน และ บจ. จากต่างประเทศให้เข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทย พร้อมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกด้วย โดยปัจจุบันมี บจ. ที่ย้ายจาก mai ขึ้นไปซื้อขายใน SET ราว 60 บริษัท ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการระดมเพื่อเสริมสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนมากขึ้น โดยจะมีการดึงบริษัทเหล่านี้มาร่วมสนับสนุนในโครงการ Jump+ ด้วย อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนในการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ของ บจ. ที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างสเกลของบริษัทให้ออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ และมีโปรแกรมที่สร้าง Synergy ในด้านผลิตภัณฑ์และด้านการเงิน
อีกทั้งยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน
- สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น หรือ Trust & Confidence ด้วยการนำเทคโนโลยีกับ AI มาใช้กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ที่ดีขึ้นให้กับ บจ. ทำให้ บจ. และนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน สามารถรองรับธุรกรรมการซื้อขายในตลาดทุนกับข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาระบบการเผยแพร่ข้อมูลสื่อสารให้ง่ายและสะดวก เพื่อให้ติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างรวดเร็ว
ส่วนจะมีการประเมินประสิทธิผลของการทำงานมาตรการต่างๆ ที่ทยอยนำออกมาใช้ได้มีการประเมินผลลัพธ์อย่างต่อเนื่องในปีนี้ที่ผ่านมา ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ถึงผลกระทบจากการออกมาตรการเพื่อทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
- ส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (Roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยวางตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนกับ บจ.
กลยุทธ์ที่ 2 ร่วมพัฒนาเพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively) โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
- ใช้เทคโนโลยีเพื่อคนทั่วไป หรือนักลงทุนบุคคลสามารถเข้าถึงการเพิ่มโอกาสการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ความเสี่ยงต่ำได้สะดวกขึ้น โดยกลยุทธ์ในข้อนี้มีโครงการ Flagship คือพัฒนาโปรแกรม Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรก และเข้าถึงการซื้อขายตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้ โดยใช้ได้ทั้งผู้ที่เริ่มลงทุนและผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว สามารถนำไปใช้ช่วยบริหารพอร์ตลงทุนได้ด้วย อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ Pain Point เพราะช่วยให้ซื้อขายพันธบัตรข้ามธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ได้
- มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) จะเริ่มให้บริการในปี 2570 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในตลาดมีความสะดวกและง่ายขึ้น และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT Service Partnership อย่างต่อเนื่องกับผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมในตลาด
- ให้ความสำคัญในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยเริ่มจัด SET ZOOM IN เพื่อสื่อสารข้อมูลกับสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดทุนได้อย่างรวดเร็ว ตรงประเด็น และเข้าใจง่ายมากขึ้น เพื่อขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน เน้นการสื่อสารที่เข้าถึงการสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนมีคำถามได้แบบตรงประเด็น รวมถึงให้ความรู้ถึงกลไกของตลาดทุนกับประชาชนให้เท่าทันมิจฉาชีพ
กลยุทธ์ที่ 3 สร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future) โดยแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
- พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) โดยปลูกคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และมีภูมิคุ้มกัน ทั้งผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล เพื่อพัฒนาบุคลากร บริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน และเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้มกันด้านการเงินและการลงทุน อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำโครงการ ‘ฉลาดเกมส์เงิน’ พัฒนาโปรแกรมเพื่อสร้างให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานด้านการเงินก่อนศึกษาจบ
- โดยกลยุทธ์ในข้อนี้มีโครงการ Flagship คือ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ Low Carbon Economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance Market) และภาคสมัครใจ (Voluntary Market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 2593 เพื่อรองรับกฎเกณฑ์ทั่วโลกที่จะมีผลบังคับกับภาคธุรกิจ ที่ต้องแปลงความเสี่ยงให้เป็นโอกาสทางธุรกิจและตลาดทุนของไทยในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย
- เตรียมพร้อมคนในองค์กรเพื่อปรับวิถีงานให้ตอบโจทย์อนาคต เสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน และเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต
โดยตามแผนกลยุทธ์นี้มี 3 โครงการ Flagship ได้แก่ 1. Jump ที่มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ บจ. 2. การพัฒนา Bond Connect Platform และ 3. พัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนทั้ง Carbon Market Platform, Carbon Professional และ Carbon Calculator Platform โดยทั้ง 3 โครงการจะเริ่มต้นดำเนินการในปี 2568