×

4 ‘ทวิสต์ & ทรัมป์’ สำหรับปี 2025

28.11.2024
  • LOADING...

ในช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งผู้ทำนโยบายที่เคยรับมือกับทรัมป์ 1.0 แต่ยังไม่มีโอกาสตกตะกอนความคิด จนไม่นานมานี้ จึงอยากจะฝากข้อสังเกต 4 ประการเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกาและสงครามการค้าต่างๆ ที่คิดว่าธุรกิจ นักลงทุน และผู้วางนโยบาย ควรจะเตรียมรับมือในปีหน้าครับ

 

1. คนทำดีลไม่ใช่คนทำนโยบาย (Deal Maker > Policy Maker)

 

ในปีหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้วางนโยบายที่สำคัญและมีผลกระทบต่อทั้งโลกมากที่สุด แต่ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองสหรัฐฯ และอดีตผู้นำประเทศที่เคยเจรจากับเขา ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทรัมป์คือนักเจรจา/นักทำดีล ไม่ใช่นักทำนโยบาย ซึ่งแปลว่านโยบายที่ประกาศออกมานั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอ ขึ้นอยู่กับดีลที่เขาอยากได้ และหลายมาตรการก็ทำขึ้นเพื่อเปิดโต๊ะเจรจาสร้างอำนาจต่อรองให้ตนเอง ถ้าอยากจะอ่านเกมให้ขาดต้องช่วยกันเดาว่าเขาต้องการดีลอะไร ไม่ใช่เพียงวิเคราะห์จุดยืนและหลักการของแต่ละนโยบาย

 

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่านโยบายของทรัมป์จะไม่ดุดัน ตรงกันข้าม นักเจรจาต่อรองย่อมรู้ดีว่าการเจรจาต้องเริ่มจากการออกมาตรการ ‘ไม้แข็ง’ ที่เฟียร์ซมาก่อน เพื่อให้ฝั่งตนเองได้เปรียบและทุบโต๊ะให้คนรีบมาที่โต๊ะเจรจา ดังนั้นสงครามการค้าปีหน้าน่าจะดุดันเป็นพิเศษ

 

2. ทรัมป์ 2.0 อาจไม่เหมือนทรัมป์ 1.0

 

ผู้ที่ติดตามการเมืองหลายประเทศจะชอบเตือนคล้ายๆ กันว่าอย่าประมาทไปคิดว่าผู้นำในเทอมที่ 2 จะคล้ายๆ กับเทอมที่ 1 แม้สไตล์จะคล้ายกัน แต่บริบทที่แตกต่างเพียงเล็กน้อยอาจทำให้คนคนเดียวกันเป็นผู้นำที่ต่างกันมากใน 2 ยุค

 

แน่นอนว่าจุดเด่นของทรัมป์คือการที่คาดเดาได้ยากไม่ว่าจะเป็นยุคไหน แต่สิ่งที่เราพอรู้แล้ววันนี้คืออย่างน้อย

 

  • รอบนี้เขามีประสบการณ์การเป็นผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ มาแล้ว
  • รอบนี้เขามีทั้งสภาล่างและสภาสูงอยู่ในมือ ทำให้ผลักดันมาตรการต่างๆ ได้ง่ายและกว้างขึ้น
  • นี่จะเป็นเทอมสุดท้ายของเขา โอกาสสุดท้ายที่ ‘เช็กบิล’ และไว้ลายให้โลกจำ

 

ทั้งหมดนี้ชี้ไปว่าสงครามการค้าอาจเข้มข้นกว่ายุคก่อน และมีผลกระทบกับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย อย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

  • ทางตรงที่ 1: หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีใส่ทุกประเทศดังที่เคยประกาศไว้ ก็จะโดนกระทบเต็มๆ
  • ทางตรงที่ 2: หากมีการตั้งกำแพงภาษีปิดช่องทางสินค้าของบริษัทจีนที่มาตั้งโรงงานในไทยเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วย ก็จะทำให้การส่งออกจากไทยโดนหางเลขไปด้วย

 

  • ทางอ้อมที่ 1: หากกำแพงภาษีใส่จีนบีบให้จีนต้องระบายสินค้ามาที่อาเซียนและไทยมากขึ้น สินค้าราคาถูกจะทะลักเข้ามามากขึ้น
  • ทางอ้อมที่ 2: หากจีนตอบโต้กำแพงภาษีด้วยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนลง (ดังที่ทำในอดีต) ทำให้เกิดการแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดอื่น
  • ทางอ้อมที่ 3: ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกทำให้ธุรกิจทั่วโลกชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ฉุดการค้าโลกตั้งแต่ก่อนมาตรการออกมา (Goldman Sachs พบว่าช่องทางนี้มีอิมแพ็กต์สูงมากในยุโรปยุคทรัมป์ 1.0)

 

ทั้งหมดนี้แปลว่าแรงกระแทกจากสงครามการค้าอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมาตรการเกิดขึ้น และกระทบการส่งออกไทยได้แม้ไม่ได้โดนตรงๆ

 

3. อยากได้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า แต่ใช้นโยบายดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า

 

อีกความย้อนแย้งก็คือทรัมป์ชอบพูดว่าอยากได้เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง แต่ชุดนโยบายของเขานั้นล้วนนำไปสู่การทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เช่น

 

  • นโยบายกำแพงภาษีสูง ลดการนำเข้า
  • ทำเงินเฟ้อสูงขึ้น (จากลดคนเข้าเมือง+ลดนำเข้า) อาจทำให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าที่คาด
  • ทำให้ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะยุโรปอ่อนแอลง ส่งผลให้เงินยูโรอ่อน (เวลายูโรอ่อนค่า ดอลลาร์มักแข็งค่า)

 

ดังนั้นนอกจากจะมีสงครามการค้าแล้ว ความย้อนแย้งนี้อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินเพิ่มไปอีก

 

4. อยากทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ แต่นโยบายอาจกลับทำให้อาเซียนยิ่งใหญ่ขึ้น

 

ดังธีมในหนังสือ Twists and Turns ที่ว่าในทุก ‘ทวิสต์’ ย่อมมีโอกาส ‘เทิร์น’ สงครามการค้า 2.0 ที่ดุดันในปีหน้าอาจส่งผลบวกกับอินเดีย อาเซียน และเศรษฐกิจไทย ในระยะยาว โดยทำให้การเคลื่อนย้ายการลงทุนของธุรกิจข้ามชาติจากจีนมาที่เอเชียตอนใต้ที่เกิดขึ้นแล้วใน 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นเร่งตัวขึ้นกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ ต่อไปเราอาจเห็นการเคลื่อนย้ายไม่เพียงเงินทุน แต่รวมไปถึง Talent หรือหัวกะทิ มาทำงานในภูมิภาคมากขึ้น และผู้ประกอบการเก่งๆ อาจมาสร้างธุรกิจ สร้างงานใหม่ๆ ในตลาดนี้มากขึ้น

 

โดยประเทศที่เป็น ‘ตาอยู่’ ได้ประโยชน์มากหน่อยก็คือกลุ่มประเทศในอาเซียนรวมทั้งไทยด้วย (Pivot to ASEAN) แต่จะได้ประโยชน์มากน้อยก็คงขึ้นอยู่กับว่าไทยเราพร้อมที่จะตักตวงประโยชน์จากกระแสนี้อย่างเต็มที่แค่ไหน โรงงานที่มาจะใช้ไทยเป็นแค่ ‘เปลือกห่อ’ สินค้าส่งออกไปยังประเทศตะวันตก หรือจะมาพร้อม ‘แก่น’ คือความรู้และเทคโนโลยีที่ไทยเอามาใช้พัฒนาคนและต่อยอดได้

 

ทั้ง 4 ทวิสต์ในยุคทรัมป์ 2.0 ชี้ไปในทางเดียวกันว่าสถานการณ์โลกและอาเซียนอาจเป็นเหมือนตัว J คือจะแย่ลงก่อนในปีหน้าร้าย (อาจ) กลายเป็นดีในระยะยาวหากรู้จักฉกฉวยโอกาส

 

หวังว่าจะพอเป็นประโยชน์กับการคิดถึงแผนปีหน้ากันครับ

 

ภาพ: Andriy Onufriyenko / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X