ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย หรือ THAI กล่าวในงานแถลงข่าวความคืบหน้าการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และรายละเอียดการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.การบินไทย ว่า แผนความคืบหน้าในการขายหุ้นบุคคลในวงจำกัด (Private Placement: PP) ให้กับกลุ่ม Strategic Partnership ที่เป็นสายการบินพันธมิตรต่างชาติในกรณีที่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการโดยเสนอขายจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนกับพนักงานของบริษัท
ทั้งนี้ ล่าสุดคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่มีการขายหุ้นเพิ่มทุน PP ให้กับกลุ่ม Strategic Partnership ที่เป็นสายการบินพันธมิตรต่างชาติที่มีการเจรจามาก่อนหน้า แม้พิจารณาแล้วว่าในระยะยาวบริษัทจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ แต่ในระยะสั้นจะมีอุปสรรคเกิดขึ้น อีกทั้งมีเงื่อนไขที่มีความซับซ้อนในหลายประเด็น ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจเนื่องจากกลุ่ม Strategic Partnership ที่เป็นสายการบินพันธมิตรต่างชาติดังกล่าวไม่ได้เป็นสมาชิกในกลุ่มของกลุ่มพันธมิตรสายการบิน Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยปัจจุบัน บมจ.การบินไทย เป็นสมาชิกใน Star Alliance
อย่างไรก็ดี กลุ่ม Strategic Partnership ที่เป็นสายการบินพันธมิตรต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ PP ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกในกลุ่ม Star Alliance ซึ่งคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับบริษัทในระยะสั้น ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเพิ่มเติมอีกในอนาคตหรือหากต้องการพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต บริษัทจะมีการพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมอีกครั้ง
บรรยากาศงานแถลงข่าวความคืบหน้าการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ และรายละเอียดการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บมจ.การบินไทย
สำหรับวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมเจ้าหนี้เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งเลื่อนประชุมไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 พิจารณาเพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
ฉบับที่ 2 พิจารณาเพื่อเพิ่มข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
โดยใน 2 ฉบับแรกถือเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้ทุกรายและเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของ บมจ.การบินไทย ในอนาคตด้วย เพื่อให้ในอนาคตบริษัทสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท
ฉบับที่ 3 พิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ โดยกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ อีกจำนวน 2 ท่าน โดยเจ้าหนี้ยังมีสิทธิ์ในการพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือมีความจำเป็นตามเหตุผลที่ได้มีการระบุไว้ในคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ หรือไม่
“การประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้เป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ ไม่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น ดังนั้นเจ้าหนี้ทุกรายของการบินไทยมีสิทธิ์ในการตัดสินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทั้ง 3 ฉบับนี้ในที่ประชุม ซึ่งต้องคิดถึงประโยชน์ของตัวเองด้วย”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพิ่มอีก 2 คน ได้แก่
- ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
- พลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
คลังยัน ‘การบินไทย’ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ จะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ
ด้าน พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า กรณีการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพิ่มอีก 2 ท่านนั้น ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนเพื่อให้มีการพิจารณาแนวตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับประเทศไทยพัฒนาฮับการบิน (Aviation Hub) ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมในเส้นทาง รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานในสนามบินต่างๆ ซึ่งหากมีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่มีความเข้าใจในด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง ก็จะมาช่วยต่อยอดเชื่อมโยงการทำงานกับ บมจ.การบินไทย ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขยายความสามารถในการให้บริการของ บมจ.การบินไทย ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของ บมจ.การบินไทย ได้ประโยชน์
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หลังดำเนินการตามครบทุกเงื่อนและสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้สำเร็จ กระทรวงการคลังจะถือหุ้นใน บมจ.การบินไทย ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% ส่งผลให้ บมจ.การบินไทย จะไม่มีสถานะกลับไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
โครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.การบินไทย หลังการแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุน
อย่างไรก็ดี กรณีที่มีความเห็นแตกต่างในการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของ บมจ.การบินไทย เป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นในการเสนอรายชื่อบุคคลแต่งตั้ง ซึ่งจะมีการเสนอในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) โดยรายชื่อของบอร์ดที่ถูกเสนอเข้ามาจะเป็นเพียงตัวแทนจากภาครัฐเท่านั้น และจะมีตัวแทนกรรมการที่มาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นอีกกลุ่มที่มาจากการแปลงหนี้เป็นทุนด้วย ซึ่งมีสัดส่วนต่ำกว่ากระทรวงการคลังไม่มาก จึงเชื่อว่าจะมีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นกันเองด้วย
หวั่นคลังเพิ่มตัวแทน 2 คนนั่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ กระทบการทำงานให้ยุ่งยากขึ้น
ขณะที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า หากการขายหุ้นเพิ่มทุนผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงานของบริษัทมีผู้ใช้สิทธิ์จองซื้อไม่ครบ โดยหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือของบริษัทจะจัดสรรเสนอขายให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth: HNW) หรือกองทุนในประเทศแทน ซึ่งปรับเปลี่ยนจากแผนเดิมที่จะ PP ให้กับ Strategic Partnership ที่เป็นสายการบินพันธมิตรต่างชาติ
ดร.ปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อถึงกรณีที่ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ หากในกรณีที่เจ้าหนี้มีมติโหวตอนุมัติเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพิ่มอีก 2 คนที่เสนอมาจากกระทรวงการคลัง จะส่งผลให้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 3 คน เป็น 5 คน มีมุมมองว่าจะทำให้การทำงานมีความยุ่งยากขึ้นจากเดิม เนื่องจากการพิจารณาการตัดสินใจโดยคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ ที่มีจำนวนมากขึ้น ย่อมใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย
“ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้การบินไทยเคยมีคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 3 คน ทำให้การตัดใจในด้านต่างๆ ทำได้เร็วมากขึ้น แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่โหวตเห็นชอบให้เรื่องก็จบไป ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตั้งกรรมการชุดใหม่ของบริษัท โดยภาครัฐก็เสนอรายชื่อกรรมการเข้ามาได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐ ซึ่งหากผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนครบตามสิทธิ์ รวมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กองทุนรวมวายุภักษ์ ก็จะมีสัดส่วนถือหุ้นใน บมจ.การบินไทย ประมาณ 44% ตามข้อบังคับของบริษัทที่กำหนดไว้ว่า บริษัทจะมีจำนวนกรรมการได้ทั้งหมดไม่เกิน 15 คน” ดร.ปิยสวัสดิ์กล่าว
ความคืบหน้าการแปลงหนี้เป็นทุนของ บมจ.การบินไทย
ทำได้ครบทุกเงื่อนไข พร้อมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ
ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสามารถกลับมาเป็นบวกได้แล้ว ซึ่งถือเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หลังจากช่วงวันที่ 19-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทได้แปลงหนี้เป็นทุนเสร็จสิ้นตามแผน โดยคิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ รวมทั้งสิ้น 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และมีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันใช้สิทธิ์เกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ โดยการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทจะเป็นบวกกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมกับการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงานของบริษัท
“ตอนนี้เงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อหลักที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทำได้ครบทุกเงื่อนไขแล้ว ทั้งการที่มี EBITDA ย้อนหลัง 12 เดือนเป็นบวกเกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้บริษัททำได้แล้วประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็เป็นบวกแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมแผนการเพิ่มทุนกับผลการดำเนินงานไตรมาส 4/68 ที่มั่นใจว่าจะมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวกเพิ่มขึ้นอีก”
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้จะเข้าสู่การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงานของบริษัท คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ในระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนและพนักงานของบริษัท ตามลำดับ จะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาเสนอขายเดียวกัน
ไทม์ไลน์การปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ เบื้องต้นของ บมจ.การบินไทย
โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ของการบินไทยเพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้ภายในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งผู้เสนอจำนวนกรรมการและรายชื่อกรรมการคือผู้เสนอทำแผน ขณะที่การยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและการกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/68