ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ชี้ แม้การลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งจะสร้างภาระดอกเบี้ยเพิ่ม 100-500 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ถือว่าเพิ่มภาระงบประมาณให้รัฐบาล เหตุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเอง
วันนี้ (27 พฤศจิกายน) พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวถึงกรณีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ทั้งระบบเหลือ 0.23% เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนสำหรับ ‘มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน’ ที่สมาคมธนาคารไทย กระทรวงการคลัง และ ธปท. เตรียมออกมาเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า การลดเงินนำส่งกองทุน FIDF ลงครึ่งหนึ่งทุก 1 ปี จะสร้างภาระดอกเบี้ยปีละ 100-500 ล้านบาท และจะทำให้ระยะเวลาปิดจบหนี้กองทุน FIDF ยืดออกไปครึ่งปี
โดยปัจจุบัน สบน. คาดว่า หนี้กองทุน FIDF จะชำระครบหมดภายในปี 2575 ดังนั้นหากมีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ทั้งระบบเหลือ 0.23% เป็นเวลา 3 ปี ก็จะทำให้การปิดหนี้กองทุนดังกล่าวยืดออกไปราว 1 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ สบน. ระบุว่า ปัจจุบันหนี้กองทุน FIDF เหลืออยู่ที่ 552,627 ล้านบาท
พชรยืนยันอีกว่า แม้ปัจจุบันสถานะและยอดคงค้างของหนี้กองทุน FIDF แสดงอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะ แต่ ธปท. เป็นผู้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ใช่ภาระงบประมาณของรัฐบาล และกระทบหนี้สาธารณะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
พร้อมทั้งมองว่า ธปท. คงมีการประเมินแล้วว่าแนวทางดังกล่าวคุ้มค่าถึงตัดสินใจทำ ถ้าทำแล้วไม่คุ้มคงไม่ทำ โดยลูกหนี้และสถาบันการเงินเองก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้