thyssenkrupp Steel บริษัทยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 แห่งอุตสาหกรรมเหล็กเยอรมนีประกาศเลิกจ้างพนักงานถึง 11,000 ตำแหน่ง หรือราวๆ 40% ของพนักงานทั้งหมด ถือเป็นข่าวร้ายตอกย้ำวิกฤตเศรษฐกิจเยอรมนีที่ปีนี้มีข่าวคราวปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานหลายแห่ง
จากประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นอินทรีเหล็ก วันนี้เยอรมนีกลายเป็นผู้ป่วยแห่งยุโรปที่ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมเยอรมนีเผยว่า 1 ใน 5 ของผลผลิตอุตสาหกรรมกำลังจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจในปี 2030
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Nippon Steel’ ขึ้นแท่นผู้ผลิตเหล็กเบอร์ 2 ของโลก ควัก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เทกโอเวอร์คู่แข่ง ‘U.S. Steel’
- อุตสาหกรรมเหล็กไทยปี 2025 ยังมีแนวโน้มเติบโต แต่เหล็กจากจีนยังคงเข้ามาตีตลาดต่อเนื่อง
- สิ้นสุดยุคทองของรถแบรนด์ระดับโลกในจีน? ผลิตล้น ดีมานด์หดหาย หรือเพราะ EV จีน?
- ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปี Volkswagen เตรียมปิดโรงงานในเยอรมนี หลังสู้ EV จีนไม่ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงภาวะ Overcapacity ก็สะท้อนมาถึงอุตสาหกรรมเหล็กไทยเองที่กำลังวิกฤตเข้าขั้นโคม่า หลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานเหลือแค่ 30% เช่นกัน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า thyssenkrupp ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 แห่งอุตสาหกรรมเหล็กเยอรมนี เป็นหนึ่งในบริษัทบุกเบิกอุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป มีบริษัทในเครือกว่า 670 แห่งทั่วโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ออกแถลงการณ์เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 11,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 40% ของพนักงานทั้งหมดภายในทศวรรษนี้ โดยเบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าที่จะลดตำแหน่งงานประมาณ 5,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 และปลดพนักงาน 6,000 ตำแหน่งรวมถึงพนักงานสัญญาจ้าง
ตามแถลงการณ์ของ thyssenkrupp ระบุว่า กำลังการผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนโดยเฉพาะจากตลาดเอเชีย กำลังสร้างความตึงเครียดอย่างมากต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและรักษาต้นทุนให้แข่งขันได้ บวกกับผู้ผลิตหลายรายต้องเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งจีน ทั้งข้อเสียเปรียบ เช่น ค่าแรง ภาษี และเยอรมนีเผชิญต้นทุนพลังงานซึ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน-รัสเซียตั้งแต่ปี 2022
ปัจจุบัน thyssenkrupp มีพนักงานในแผนกเหล็กราว 27,000 คนทั่วโลก จากจำนวนพนักงานทั้งหมดขององค์กร 100,000 คน นอกเหนือจากการปลดพนักงาน ในแผนสำคัญของ thyssenkrupp จะลดกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่ปีละราว 11.5 ล้านตันลงมาอยู่ที่ราว 9 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน thyssenkrupp กำลังพิจารณาขายหุ้นของโรงงานที่เมืองดุยส์บวร์ก ทางตะวันตกของเยอรมนี แต่หากไม่มีผู้ซื้อ บริษัทจะหารือกับผู้ถือหุ้นที่เหลือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการปิดโรงงานแห่งนี้ และอีกแห่งที่เมืองครอยซ์ทัล-ไอเคน ในภาคตะวันตกของเยอรมนี
Volkswagen-Ford ทยอยเลิกจ้างพนักงานในเยอรมนี
ทั้งนี้ thyssenkrupp จะหาทางออกโดยร่วมมือกับ Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในการยกเครื่องอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทว่า Volkswagen เองก็ประกาศเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่าจะลดค่าจ้างพนักงานลง 10% เช่นกัน เพื่อรักษาพนักงานและรายได้ของบริษัท โดย Volkswagen ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันยังวางแผนที่จะปิดโรงงานอีก 3 แห่งในประเทศและเลิกจ้างพนักงานอีกหลายหมื่นคน
ขณะที่อีกหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง Ford แม้ว่าจะไม่ใช่บริษัทในเยอรมนี แต่ก็กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะลดพนักงานเกือบ 4,000 ตำแหน่งในยุโรปในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่อยู่ในเยอรมนีและสหราชอาณาจักร
โดย Ford ให้เหตุผลว่า เพื่อปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด ลดต้นทุน เพิ่มการลงทุนสาธารณะในโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จสำหรับรถ EV
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของ thyssenkrupp และ Volkswagen ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เป็นวงกว้างมากขึ้นในภาคเอกชนเยอรมนี
รายงานข่าวระบุอีกว่า ข่าวดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมเหล็กเยอรมนีและสะเทือนเศรษฐกิจเยอรมนี ประเทศที่ได้รับขนานนามว่าเป็นอินทรีเหล็ก
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประเมินว่า น่าห่วงว่าในวันนี้เศรษฐกิจของเยอรมนีหดตัวจากลงอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด และมีแนวโน้มจะหดตัวต่อเนื่อง
โดยผลศึกษาล่าสุดของสภาอุตสาหกรรมเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่มล็อบบี้ธุรกิจพบว่า 1 ใน 5 ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมของเยอรมนีจะเริ่มหายไปจากระบบในปี 2030
สาเหตุหลักมาจากต้นทุนพลังงานที่สูงและตลาดที่หดตัวสำหรับภาคการผลิต รวมถึงส่วนใหญ่เยอรมนียังใช้โครงสร้างอุตสาหกรรมเดิม เช่น เน้นภาคการผลิตและผลิตสารเคมี บวกกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เยอรมนีได้รับผลกระทบ ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเยอรมนี หากจีนมีความต้องการลดลงอุปสงค์ก็ไม่กลับมา เพราะจีนก็เป็นหนึ่งในคู่แข่งของเยอรมนีที่มีการผลิตสินค้าคล้ายคลึงกัน และสินค้าที่คุกคามการส่งออกของเยอรมนีมากที่สุดคือรถยนต์
เหล็กจีน ถล่มโลกและไทย เตือนสัญญาณอันตราย ทยอยเลิกจ้าง ปิดกิจการเหลือเพียง 30%
เช่นเดียวกับสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับเยอรมนี โดยนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ขณะนี้โลกเผชิญวิกฤตกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการ โดยเฉพาะผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในสัดส่วนสูงมากราว 58% ของการผลิตเหล็กทั้งโลกรวมกัน จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้
โดยในช่วง 9 เดือนแรก จีนส่งออกสินค้าเหล็กแล้ว 81 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปี 2024 จะส่งออกสินค้าเหล็กมากที่สุดในรอบ 8 ปี ปริมาณสูงถึง 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า
สินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุด 44% ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยใช้กำลังการผลิต (Production Capacity Utilization) ถึงขั้นวิกฤตต่ำกว่า 30% จนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน
“รัฐควรมีมาตรการห้ามตั้งและขยายโรงงานเหล็ก สนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ เพราะประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน” นาวากล่าว
แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH อีกว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังอยู่ในอาการโคม่า ถูกเหล็กจีนถล่มหนัก เหลือในระบบจริงๆ เพียง 20% มากไปกว่านั้น ทราบมาว่าขณะนี้มี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนเข้ามาตั้งโรงงานภาคตะวันออก ยิ่งวิกฤต แข่งขันลำบากขึ้นไปอีก หากเป็นเช่นนี้อีกไม่นานก็คงไม่รอด
ภาพ: AFP / Getty Images
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/11/25/business/thyssenkrupp-steel-germany-layoffs/index.html
- https://www.cnbc.com/2024/02/12/germanys-economy-is-on-shaky-ground-and-there-are-few-signs-of-hope.html
- https://www.ft.com/content/0b398c57-934e-4736-9a4b-10506e70a4bf
- https://www.economist.com/finance-and-economics/2024/10/15/how-the-german-economy-went-from-bad-to-worse