“มันคือฝันร้ายของบางคน ไม่มีใครรู้รายละเอียด มีเพียงการแจ้งผ่านไลน์ในช่วงใกล้เวลา 16.30 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายน ว่าให้เปิดอีเมล คนที่ได้รับจะถูกเลิกจ้าง!” นี่เป็นเพียงคำบอกเล่าส่วนหนึ่งของแหล่งข่าวที่ระบุถึงข่าวการเลย์ออฟเลิกจ้างพนักงานช่อง 3
อาการตกใจยังลามไปถึงผู้ประกาศ ไก่-ภาษิต อภิญญาวาท และ ตูน-ปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ที่ได้เปิดเผยในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้หลังไมค์ ด้วยใจระทึกว่า มีเรื่องที่ทำให้เราไม่เป็นอันทำงานทำการ มีข้อความเข้ามาในมือถือ พร้อมอ่านข้อความให้ฟังว่า
“เรียนทุกท่าน ขออนุญาตแจ้งว่า วันนี้หลัง 17.00 น. ทาง HR จะมีอีเมลถึงบุคคลที่เรามีความจำเป็นให้เข้าโครงการปรับโครงสร้าง (เลิกจ้าง) โดยใครถูกเลิกจ้างก็จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด และสิ้นสุดการเป็นพนักงานใน 31 ธันวาคมนี้”
ภาษิตย้ำด้วยว่า “ผมไม่ชอบบรรยากาศแบบนี้เลย เพราะเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มา 3 ครั้งแล้ว ตอนอยู่ที่เดิม และครั้งที่สองตอนที่ช่อง 3 SD เราเลิกทำ มาครั้งนี้พอผมรู้สึกแบบนี้ ผมมือสั่นนะ ความรู้สึกเดิมๆ กลับมา”
ทำไมต้องลดคน
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ช่อง 3 แต่เกิดกับคนทำงานสื่อจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปี 2567 หลายสำนักข่าวประกาศเลิกจ้างพนักงาน
VOICE TV ประกาศเลิกกิจการเพราะขาดทุนสะสม เช่นเดียวกับ PPTV บอกเลิกจ้างพนักงาน 90 ตำแหน่งจากภาวะขาดทุน ยังไม่นับรวมบริษัทอื่นๆ ที่พยายามปรับลดองค์กรเพื่อความอยู่รอด ทั้ง MONO ปรับส่วนงานที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร ยุบหน่วยงานซ้ำซ้อน และ Nation Group พักการจ่ายเงินเดือนพนักงานที่มีรายได้สูงถึง 6 เดือน
แม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น CNN ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 100 ตำแหน่ง ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปเสพข่าวสารผ่านดิจิทัลมากขึ้น ด้าน BBC ก็ขาดทุน ประกาศปลดพนักงาน 500 ตำแหน่ง
เช่นเดียวกับสถานการณ์ของช่อง 3 ทั้งหมดล้วนเกิดมาจากปัญหาสำคัญคือ ‘ภาวะขาดทุน’
รายได้ลด กำไรหด
ปี 2566 ช่อง 3 ประกาศปลดพนักงานไปแล้ว 1 รอบ เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร กระทั่งต้นปี 2567 ได้ประกาศลดคนไปอีกรอบ กระแสข่าวปลดคนยังคงออกมาเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือคำบอกเล่าของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศชื่อดัง ในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ระบุว่ามีแฟนคลับช่อง 3 มาต่อแถวและรอเซ็นปฏิทินดาราตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งตอนนี้เราใช้กล้องมือถือถ่ายเพราะเราลดกำลังคน ก็ต้องให้ออกไปทำอย่างนี้ไปก่อน
ไม่เพียงคำพูดของพิธีกรดัง แต่หากเจาะลึกถึงรายได้ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 จะพบว่าในช่วงไตรมาส 3/67 มีรายได้อยู่ที่ 1,068.4 ล้านบาท ลดลง 41.4 ล้านบาท หรือ 3.7% จากไตรมาสที่ 2/67 ขณะที่กำไรอยู่ที่ 45.9 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาตัวเลขกลับลดลง
สิ่งเหล่านี้ยังบ่งบอกว่าช่อง 3 ยังคงทำกำไร โดยเฉพาะจากธุรกิจใหม่อย่างการจัดกิจกรรมและบริหารศิลปิน เช่น DHEVAPROM FAN CON AFTER PARTY และ Dear my love LING&ORM
แต่ตัวเลขที่ย้อนไป 3 ปี ทำให้เห็นชัดเจนว่า ‘ต้องมีการปลดคนออก’ เพราะรายได้และกำไรของบริษัทลดลงเรื่อยๆ การรักษาต้นทุนและปรับโครงสร้างจึงเป็นทางออกที่แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี
- ปี 2564 รายได้ 5,728 ล้านบาท กำไร 761 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 5,151 ล้านบาท กำไร 607 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 4,699 ล้านบาท กำไร 210 ล้านบาท
- 9 เดือนแรกของปี 2567 รายได้ 3,213 ล้านบาท กำไร 131 ล้านบาท
30% วันนี้ เพื่อความอยู่รอดในวันหน้า
มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พนักงานที่ถูกประเมินว่าไม่ผ่านงานได้รับอีเมลเลิกจ้างจากทางบริษัท โดยเป็นการส่งเป็นการส่วนตัว มีพนักงานทุกระดับที่เข้าเงื่อนไข เนื้อหาเป็นเรื่องของการบอกเลิกจ้าง และให้มาเซ็นรับทราบการเลิกจ้างดังกล่าวในช่วงบ่ายวันที่ 26-27 พฤศจิกายน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับการเลย์ออฟหรือเลิกจ้างครั้งนี้ ฝ่ายบริหารใช้วิธีประเมินโดยพิจารณาจากทุกระดับ ตั้งแต่บรรณาธิการจนถึงพนักงานทั่วไป ซึ่งพบว่ามีกลุ่มพนักงานที่ถูกเลิกจ้างครั้งนี้เกือบ 300 ราย
ขณะที่ผู้ประกาศของช่องส่วนหนึ่งให้พ้นจากการเป็นพนักงานประจำ แต่ยังได้รับค่าอ่านหรือค่าออกอากาศอยู่ในกรณีที่ทำรายการให้ช่อง 3 ต่อไป ทั้งนี้ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนงานและโครงสร้างให้เหมาะสมกับกำลังคนที่เหลืออยู่ต่อไป
สถานการณ์เปลี่ยน เม็ดเงินจำกัด ใครคือผู้อยู่รอด
แม้ไม่อาจบอกได้ว่าวันข้างหน้าสื่อใดจะเป็นผู้อยู่รอด เพราะในเมื่อทั้งสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ และออนไลน์ ต่างกระโดดร่วมสมรภูมิแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณากันอย่างดุเดือด สื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น การเกิดขึ้นของ Influencers, YouTuber, Tiktoker ยิ่งทำให้สื่อหลักต้องปรับตัว
ความชำนาญในเนื้อหาทั้งสายข่าวเฉพาะ เทคนิคการจัดไฟ สำนวนการเขียน คุณภาพของงานสื่อ บางครั้งอาจสู้สิ่งที่เรียกว่า ‘กำไร’ ของบริษัทไม่ได้ การปรับตัว Upskill, Reskill หรือแม้กระทั่งทำตัวให้เป็น Multi Skills ก็คงไม่อาจตอบโจทย์ได้ทุกโอกาส
เหมือนที่แหล่งข่าวระบุว่า “เที่ยวนี้เรารอด เที่ยวหน้าเราอาจจะไม่รอดก็ได้ เพราะบริษัทก็รีดไขมันไปเรื่อยๆ”