ตลอดทั้งปี 2567 เราน่าจะได้ยินเรื่องราวของการลงทุนใน Data Center อยู่เป็นระยะ จากการที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Data Center ของภูมิภาค พร้อมคาดหวังว่าธุรกิจนี้จะช่วยต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ และเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ช่วยสร้างการเติบโตครั้งใหม่ (New S-Curve) ให้กับเศรษฐกิจไทย
จริงๆ แล้วธุรกิจ Data Center ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ใหม่คือความต้องการที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คำถามที่ตามมาคือ ไทยพร้อมแค่ไหนที่จะเป็นศูนย์กลาง Data Center ของภูมิภาค และธุรกิจในไทยมีโอกาสแค่ไหนในอุตสาหกรรมนี้
มูลค่าของธุรกิจ Data Center จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในอีก 10 ปี
สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บอกว่า Data Center คือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของทุกเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Cloud, AI และ Automation เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนกระแสการลงทุนใน Data Center ให้มาเร็วและแรงขึ้น
เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้บทบาทของ ‘ข้อมูล’ (Data) เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอ้างอิงจากผลการศึกษาของหลากหลายสำนักวิจัยคาดว่าปริมาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ข้อมูลผ่านโครงข่ายต่างๆ (Data Traffic) จะทำให้ปริมาณและมูลค่าของข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มกว่า 2-3 เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะที่ข้อมูลจาก Precedence Research ระบุว่า มูลค่าตลาดของ Data Center จะเติบโตขึ้นจาก 2.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 ไปเป็น 7.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2577
โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือในปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราว 38% แต่ภูมิภาคที่จะเด่นขึ้นคือฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วที่สุด คาดว่าจะเติบโตราว 3 เท่าตัวใน 10 ปีข้างหน้า โดยหลากหลายสำนักวิจัยประเมินระดับการเติบโตอยู่ที่ 13-15% ต่อปี
สุวัฒน์ระบุอีกว่า หลังจากประเทศหลักที่มีการลงทุน Data Center สูงๆ ในอาเซียนคือสิงคโปร์ เริ่มเผชิญข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และพลังงาน ทำให้ไทยเราถือเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังได้รับความสนใจจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ด้าน SCB EIC คาดการณ์ว่าปีนี้มูลค่าตลาดให้บริการ Data Center ของโลกมีแนวโน้มขยายตัวราว 22% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวของบริการคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เป็นหลัก
เช่นเดียวกับตลาด Data Center ของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตราว 24% โดยบริการ Public Cloud ขยายตัว 29% จากปริมาณการใช้งานข้อมูลของผู้บริโภคที่ยังสูงขึ้นและการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นขององค์กรขนาดใหญ่ SMEs และสตาร์ทอัพ
ขณะที่การให้บริการ Colocation ซึ่งเป็นบริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ ที่ผู้ให้บริการจะจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดวางอุปกรณ์พร้อมโครงข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและผู้เช่าจะจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ เองนั้น คาดว่าจะเติบโตราว 14%
ความพร้อมของประเทศไทย
SCB EIC ระบุอีกว่า ปัจจุบันสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของอาเซียน รวมถึงการเป็นศูนย์กลางด้าน Data Center ซึ่งระหว่างปี 2559-2562 มูลค่าตลาด Data Center ของสิงคโปร์เติบโตเฉลี่ยถึง 29% ต่อปี จากการลงทุนของทั้งผู้ให้บริการในสิงคโปร์และการเข้ามาของผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง Microsoft, AWS และ Apple
อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นที่ของสิงคโปร์ที่มีจำกัดและยากต่อการตั้ง Data Center ขนาดใหญ่ รวมทั้งปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าในที่สูง ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และอัตราการปล่อย CO2 ต่อตารางเมตรของประเทศที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์จำกัดการก่อสร้าง Data Center แห่งใหม่บนเกาะสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้อัตราพื้นที่ว่างของ Data Center ในสิงคโปร์ลดลงอย่างรวดเร็วเหลือต่ำกว่า 1% ในปี 2567 ตามรายงานของ Cushman & Wakefield
ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายของสิงคโปร์ ด้วยจุดแข็งด้านความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประจำที่ (FBB) สูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์
อีกทั้งตัวชี้วัดด้านความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้ผู้ให้บริการสิงคโปร์สนใจเข้ามาลงทุน Data Center ในไทยเพิ่มขึ้น เช่น Singtel ร่วมทุนกับ GULF และ AIS รวมทั้ง Evolution Data Centres ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (CPN)
หนึ่งในช่องว่างสำคัญที่ทำให้การลงทุน Data Center ในไทยยังเป็นโอกาสคือ ความสามารถที่จะรองรับความต้องการ (Capacity) ของไทยอยู่ที่เพียง 0.7 เมกะวัตต์ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศหลักที่ 5 เมกะวัตต์ต่อประชากร 1 ล้านคน จากข้อมูลของ Knight Frank Thailand
อย่างไรก็ตาม จุดที่ไทยยังเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียคือเรื่องของราคาค่าไฟฟ้า ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจของมาเลเซียอยู่ที่ 2.9-3.7 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.5-3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และไทยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ไทยน่าจะยังสามารถดึงดูดการลงทุน Data Center ได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- ความต้องการ Data Center จากภาคธุรกิจไทยที่กำลังขยายตัว
- ปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยที่อยู่ในระดับสูงมากกว่า 30%
- นโยบายส่งเสริมการลงทุน Data Center ของภาครัฐ
ในช่วงปี 2567-2570 คาดว่าไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุน Data Center ได้เป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.7 แสนล้านบาท โดยเป็นรองแค่มาเลเซียที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยราว 3 เท่า
ทั้งนี้ ตลาดบริการ Data Center ของไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่า 31.2% ต่อปี ขณะที่มาเลเซียน่าจะเติบโตราว 36.8% ในช่วงปี 2567-2570 โดยจะครอบคลุมการให้บริการจัดเก็บและดูแลรักษาข้อมูล บริการระบบเครือข่าย และบริการประมวลผลข้อมูล
PROEN ทุ่มทุนลุย Data Center
นอกจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติแล้ว บริษัทในไทยเองก็พยายามที่จะเข้ามาคว้าโอกาสท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจ Data Center ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ บมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) ที่ร่วมทุน DAMAC Group ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และ Data Center จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อลงทุน Data Center ภายใต้ชื่อ EDGNEX Data Centres by DAMAC โดยในเบื้องต้น PROEN จะร่วมลงทุนในสัดส่วน 30%
กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROEN กล่าวว่า ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางด้าน Data Center ของภูมิภาคได้นั้นจำเป็นจะต้องยกระดับในอีก 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ทักษะด้านการใช้งาน AI ของคนในประเทศ
- ทักษะของบุคลากรที่ดูแลระบบ
- นโยบายที่สนับสนุนด้านค่าไฟฟ้าและพลังงานสะอาด
- นโยบายที่เอื้อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม เช่น การวางสายเคเบิลใต้ทะเลเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทยมีเพียง 6 เส้น เทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีอยู่ประมาณ 15 เส้น
กิตติพันธ์กล่าวต่อว่า การเข้ามาลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับโดยตรงคือ รายได้จากการขายไฟฟ้า การจ้างงานเพิ่มบางส่วน และรายได้ภาษี
แม้หลายคนจะมองว่าไทยอาจไม่ได้ประโยชน์มากนัก แต่การเข้ามาลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ (Hyperscale) จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและลงทุนใหม่ๆ เช่น Submarine Cable, Green Energy และ AI
สำหรับการลงทุน Data Center ของ PROEN กิตติพันธ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีธุรกิจ Data Center อยู่บริเวณบางรัก ส่วนการพัฒนา Data Center แห่งใหม่ร่วมกับ DAMAC จะตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 – ศรีนครินทร์ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1.7 พันล้านบาท มีกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 1.67 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 ส่วนเฟส 2 และ 3 จะเปิดให้บริการช่วงกลางปี 2568
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนจะขยายการลงทุนร่วมกับ DAMAC อีก 15 เมกะวัตต์ ในบริเวณใกล้เคียงกับศูนย์ที่ศรีนครินทร์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5.2 พันล้านบาท
บริษัทตั้งเป้าจะขึ้นไปเป็นท็อป 3 ของผู้ให้บริการ Data Center ในไทย จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งการตลาดราว 5% จะเพิ่มเป็นประมาณ 15% หลังจากโครงการลงทุน 5 เมกะวัตต์แล้วเสร็จ
สำหรับโครงสร้างรายได้ของ PROEN ปัจจุบันมาจากธุรกิจ Data Center 30% โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% หลังจากส่วน 5 เมกะวัตต์รับรู้รายได้ทั้งหมด และสัดส่วนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปมากกว่านั้นเมื่อการลงทุนในโปรเจกต์ถัดไปแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีนับจากปี 2568
ส่วนรายได้จากธุรกิจ Data Center โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ส่วนต้นทุนหลังของธุรกิจนี้ประมาณ 60% คือค่าไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าจึงเป็นส่วนสำคัญ
อุตสาหกรรมและหุ้นที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากกระแส Data Center นอกจากบริษัทที่ลงทุนใน Data Center อย่าง PROEN ก็ยังมีผู้เล่นอีกหลายราย เช่น ADVANC, TRUE และ GULF ที่ควบรวมกับ INTUCH เรียบร้อยแล้ว
สุวัฒน์ระบุอีกว่า บริษัทหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจได้ประโยชน์ เช่น ผู้ให้บริการก่อสร้างอาคาร Data Center เช่น INSET หรือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น WHA, AMATA ที่มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่ พลังงานไฟฟ้า และสาธารณูปโภคต่างๆ หรือกลุ่มพลังงานทดแทน เช่น GULF, GUNKUL และ WHAUP รวมทั้งกลุ่มที่มีศักยภาพให้บริการสายโครงข่ายเชื่อมต่อทั้งภาคพื้นดินและใต้น้ำ เช่น ADVANC, TRUE และ SYMC
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่จำหน่ายอุปกรณ์หน่วยความจำ เช่น CCET รวมทั้งกลุ่มที่ทำอุปกรณ์สำหรับระบบจ่ายไฟ (Power Supply) และระบบทำความเย็น (Cooling) อย่าง DELTA
อ้างอิง: